กล่าวสวัสดีกับพรีเมียร์ลีก และ Fantasy Premier League ซีซัน 2021/22 กันตรงนี้กับบทความประจำของผม “ มิตรรัก นักแฟนตาซี ” ซึ่งเข้าสู่ซีซันที่ 3 กันแล้ว โดยนับจากนี้จะลงให้คอแฟนตาซีได้อ่านกันทุกสัปดาห์แน่นอน
ซีซันนี้เข้มข้นแน่นอน ดูได้จากการทุ่มเสริมทีม และการกลับเข้าสู่สนามของแฟนบอล
(Source : Sky Sports)
และเนื่องจากบทความสอนเล่นแฟนตาซีของผมเดิมนั้นเขียนไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ( Intro 101 และ 201 ) ดังนั้นผมขอเริ่มด้วยการอัปเดตบทความสอนเล่นซะใหม่ ถือซะว่าเป็น EP 0 สำหรับคนที่เพิ่งมาอ่าน หรือเพิ่งตาม ส่วนใครที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็ถือเป็นการทบทวนไปละกันเนอะ
ในเมื่อบอกว่า “สอนเล่น” ดังนั้น บทความนี้จะไล่กันตั้งแต่สมัครแอคเคาท์เลย ความยาวของบทความไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะมีรายละเอียดเยอะ ยังไงค่อยๆ ไล่ดูกันไปนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน
[เริ่มต้นสมัคร/สร้างแอคเคาท์]
เกม Fantasy Premier League เป็นเกมทางการของพรีเมียร์ลีกเลย ที่มาที่ไปของแฟนตาซีเป็นยังไงนั้น ใครอยากทราบ อยากให้ย้อนไปอ่านบทความเก่าของผม ที่เคยรวบรวมไว้ >> คลิกที่นี่ <<
กลับมาที่การเริ่มต้นของเรา ปกติแล้ว Fantasy Premier League ( FPL ) จะเข้าเล่นได้ 2 ช่องทางหลัก อย่างแรกคือการเข้าผ่านเว็บบราวเซอร์ fantasy.premierleague.com กับเข้าผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ชื่อว่า Premier League – Official App
หน้าตาเวอร์ชันบราวเซอร์ ที่เราจะใช้อธิบายสอนเล่นเป็นหลัก (ผมชอบมากกว่าผ่าน App)
(Source : Fantasy Premier League) ส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างถนัดกับการเล่นผ่านบราวเซอร์ด้วย personal computer ( Desktop ) เพราะ UI ต่างๆ มันละเอียดกว่า และใช้ง่ายกว่า ดังนั้นผมจะโฟกัสสอนเล่นจากเวอร์ชันบราวเซอร์เท่านั้นครับ
เข้ามาสู่เว็บ Fantasy.premierleague.com แล้ว หากมีแอคเคาท์อยู่แล้วก็สามารถล็อคอินเข้าไปสร้างทีมได้เลย แต่ถ้าไม่มีกด Sign up ด้านขวามือได้เลย
สมัครใหม่ก็ต้องกรอกข้อมูลกันก่อน ใช้เวลาแป๊บเดียว (ไม่มีภาษาไทยนะ)
(Source : Fantasy Premier League) กดเข้าไปก็จะมีข้อมูลให้กรอกเล็กน้อย โดย FPL จะยังไม่มีเวอร์ชันภาษาไทยให้ได้เล่นกันนะครับ ต้องเล่นภาษาอังกฤษ กรอกข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอน ทั้ง Personal details, Your favourites และ Email preferences
ในหน้าสุดท้าย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เลื่อนลงมาล่างสุดทำการติ๊ก Terms & Conditions และสามารถกด Update your details ได้เลย
ในหน้าสุดท้ายที่กรอกข้อมูล เลื่อนมาล่างสุดเพื่อติ๊กถูก และกด Update
(Source : Fantasy Premier League)
[การเลือกทีมครั้งแรก]
เมื่อผ่านการสร้างแอคเคาท์แล้ว ก็จะมาเจอหน้าที่มีเมนู Squad Selection ซึ่งเราต้องคลิกเข้าไปเพื่อสร้างทีมเบื้องต้นก่อน
สร้างแอคเคาท์เสร็จแล้ว ก็ทำการเลือก Squad Selection ได้เลย
(Source : Fantasy Premier League) เมื่อกดเข้าไปแล้ว จะเจอกับหน้าจัดตัวครั้งแรก ซึ่งสามารถลองจัดจริงจังเลยก็ได้ แต่เพื่อความรวดเร็วในการเข้าไปลองดูเมนูต่างๆ แนะนำให้กด Auto Pick ให้ระบบจัดทีมอัตโนมัติไปก่อนก็ได้ เพราะทีมของคุณยังสามารถเปลี่ยนได้ตลอดก่อนที่แมทช์แรก หรือ Gameweek แรกจะเริ่ม ( คำว่า Gameweek จำไว้ให้ชินก่อน จะอธิบายต่อภายหลังว่าทำไมไม่เรียกสัปดาห์ )
การจัดทีมครั้งแรก สามารถกด Auto Pick ก่อนได้ เพราะยังเปลี่ยนได้เรื่อยๆ จนถึงซีซันเปิด
(Source : Fantasy Premier League) เมื่อยืนยันการจัดทีมครั้งแรก ก็จะเด้งหน้าตั้งชื่อทีมของคุณขึ้นมา ก็ตั้งตามที่ต้องการเลย ( สามารถเปลี่ยนภายหลังได้ ) พร้อมกับเลือกทีมที่เชียร์ เพราะระบบจะจัดให้คุณจอย Global League แข่งกับแฟนที่เชียร์ทีมเดียวกันอัตโนมัติ รายละเอียดเดี๋ยวไปว่ากันเพิ่มในส่วนของ Leagues & Cups
จัดทีมครั้งแรก ก็จัดการตั้งชื่อทีม, เลือกสโมสรที่เชียร์ และกดยืนยันได้เลย
(Source : Fantasy Premier League)
[รู้จักกับเมนูต่างๆ]
จัดทีมครั้งแรกเรียบร้อย ก็จะเข้ามาเจอกับหน้าตาเต็มๆ ของ FPL ซึ่งมีเมนูเรียงรายเต็มไปหมดเลย ดังนั้นมาอธิบายกันก่อนว่าแต่ละเมนูทำอะไรบ้าง โดยผมจะไม่ลงรายละเอียดทุกเมนู จะขยายความเมนูที่ใช้บ่อยเท่านั้น ซึ่งจะว่าต่อในส่วนถัดไป
(Source : Fantasy Premier League)
- Pick Team : น่าจะเป็นเมนูที่เราเข้าบ่อยที่สุด เพราะสามารถจัดทีม 11 ตัวจริง และ 4 ตัวสำรอง รวมถึงการเลือกกัปตัน/รองกัปตันกันที่หน้านี้เลย แถมยังมีรายละเอียดต่างๆ เช่น คะแนน, ลีกต่างๆ ที่เราจอย, จำนวนการเปลี่ยนตัว และการเสริมเติมแต่งชุดทีมของเราสนุกๆ ด้วย
- Transfers : เป็นอีกเมนูสำคัญมากๆ เพราะคุณสามารถเลือกสรรนักเตะจากทั้ง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก เพื่อย้ายเข้ามาในทีมตามเงื่อนไขที่เกมกำหนด ซึ่งเราจะไปว่าละเอียดกันอีกที
- Leagues & Cups : อยากทำอะไรเกี่ยวกับลีกย่อย (Leagues) หรือฟุตบอลถ้วยในลีกย่อย (Cups) ก็ใช้เมนูนี้ได้เลย สร้างลีกใหม่, จอยลีกคนอื่น, จอยลีก Public, ออกจากลีก, ดูตารางคะแนนแต่ละลีก เข้าผ่านเมนูนี้ได้หมด
- Fixtures : ไว้สำหรับดูตารางแข่งของพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะเป็นโปรแกรมของ FPL ไปในตัว แถมมีฟังก์ชัน FDR ที่ไว้ดูความยากง่ายของตารางแข่งแต่ละทีมอีกด้วย
- The Scout : เป็นเมนูที่ทาง FPL รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับกุนซือแฟนตาซีไว้ มีข่าวสาร, การระบุตัวเล่นลูกเซ็ตพีซแต่ละทีม และอัปเดตนักเตะบาดเจ็บ/ติดโทษแบน เข้าไปดูเป็นข้อมูลสำคัญได้
- Podcast : นอกจากรายการทางทีวีที่อังกฤษแล้ว (ใครติดกล่องทรู อาจจะเคยเปิดไปเจอ) เค้ายังทำ Podcast ด้วย ใครสนใจฟังกูรูของ FPL ก็ลองเข้าไปฟังได้
- Stats : อีกหนึ่งเมนูมีประโยชน์ เพราะจะรวบรวมสถิติในแง่แฟนตาซีไว้ครบครัน สามารถฟิลเตอร์เลือกทีม, เลือกตำแหน่ง และเลือกแง่มุมสถิติต่างๆ (เช่น เรียงตามคะแนน, เรียงตามจำนวนที่กุนซือเลือกใช้, เรียงตามฟอร์มในแง่แฟนตาซี เป็นต้น)
- Prizes : ดูรายละเอียดรางวัลของ FPL ที่เค้าแจกให้แชมป์รายสัปดาห์, รายเดือน, แชมป์ซีซัน, ฟุตบอลถ้วย FPL Cup
- Help : เมนูที่รวบรวมคำถามที่พบบ่อย, กติกาต่างๆ และ Terms and Conditions ถ้าไม่ติดขัดเรื่องภาษา แนะนำให้เข้าไปอ่านซัก 1-2 รอบสำหรับมือใหม่ ผมว่าช่วยให้เข้าใจได้เพิ่มขึ้นมาก (ถ้าติดก็รออ่านของเราละกันนะ!)
- Draft : เป็นรูปแบบการเล่น FPL อีกแบบนึง โดยจะใช้วิธีดราฟท์ตัวไล่เรียงไม่ให้ใช้นักเตะซ้ำกันกับเพื่อนในลีก (เป็นสไตล์การเล่นแฟนตาซีแบบอเมริกันเกม) ซึ่งผมจะไม่ไปแตะรายละเอียด เพราะไม่งั้นจะยืดยาวเกินไปอีกมาก
[กฎหลักของการเล่น]
เนื้อหาเมนูต่างๆ อาจจะยังงงสำหรับมือใหม่ แต่เดี๋ยวเข้าใจคอนเซปท์ของ FPL จะเข้าใจฟังก์ชันต่างๆ มากขึ้นตามไปเอง โดยขอเริ่มจากกฎหลักของการเล่น ว่าแข่งกันด้วยอะไร ยังไง
การวัดผล
FPL วัดผลกันด้วย “คะแนนของทีม” ซึ่งได้มาจากคะแนนของนักเตะแต่ละคนในทีมเรา ซึ่งอิงจากผลงานในสนามจริงน่ะแหละ โดยคิดไปตามแต่ละ Gameweek ( ใช้ทับศัพท์ตาม FPL ไม่อยากใช้คำว่า “ สัปดาห์ ” เพราะบางที 1 สัปดาห์หรือ 7 วัน ก็มีเตะมากกว่า 1 Gameweek และไม่อยากใช้คำว่า “ นัด ” เพราะบางทีใน 1 Gameweek อาจมีลงเล่นมากกว่า 1 นัด )
เมื่อได้คะแนนเสร็จสรรพ ใครได้คะแนนมากกว่าก็จะอยู่อันดับสูงกว่าในตารางคะแนน ส่วนการจัดอันดับก็มีหลากหลาย ทั้งราย Gameweek ( GW ), รายเดือน, คะแนนรวมทั้งซีซัน รวมถึงการแบ่งลีกตามระดับต่างๆ ทั้งการวัดกับคนทั้งโลก, การวัดเฉพาะกุนซือไทย, การวัดเฉพาะแฟนทีมเดียวกัน หรือการวัดในลีกย่อยที่ตั้งกันขึ้นมาเองกับเพื่อนๆ
ตัวอย่างตารางคะแนนจบซีซันที่ผ่านมาของ The.Macho League
(Source : Fantasy Premier League)
วิธีที่จะได้คะแนนมา
มาขยายความกันหน่อย ว่าผลงานในสนามจริงที่นำมาตีความเป็นคะแนน FPL นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ดูตามตารางด้านล่างนี้ได้เลย
ที่มาร์คดอกจันไว้ที่ “Bonus Point System” หรือ “BPS” เพราะเป็นระบบการให้โบนัสคะแนนพิเศษ 1-2-3 คะแนนในแต่ละนัด ใครได้ BPS มากที่สุดในเกมนั้น ก็ได้รับเพิ่ม 3 คะแนน แล้วก็ลดหลั่น 2 คะแนน และ 1 คะแนน ลงมา
BPS มีการคำนวณคะแนนดิบยิบย่อยอยู่หลายหัวข้อ เช่น การจ่ายลูกคีย์พาส, การแทคเกิลสำเร็จ, เปอร์เซ็นการจ่ายบอลสำเร็จ จากการผ่านอย่างน้อย 30 ครั้ง เป็นต้น หากอยากทราบรายละเอียด สามารถเข้าไปดูในเมนู Help > > Rules > > Scoring ได้
แฮร์รี เคน คือนักเตะที่ได้คะแนนดิบ BPS สูงสุดของซีซันที่ผ่านมา ถึง 880 คะแนน
(Source : The SportsRush) และอย่างที่บอกไป ว่าเมนู Help มีรายละเอียดอธิบายการคิดคะแนนต่างๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาคลุมเครือ ( ขนาดอธิบายยังมีประเด็น ! ) โดยขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาบางอันดังนี้
การโดนใบแดง : ผู้เล่นที่ถูกใบแดงไล่ออกไป ต้องรับผิดชอบการถูกหักคะแนนจากการเสียประตูของทีมไปจนจบเกม เพราะถือว่าทำให้ทีมต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก
คลีนชีต : นักเตะที่จะได้คะแนนคลีนชีต ( ไม่เสียประตู ) จะต้องอยู่ในสนามอย่างน้อย 60 นาทีเท่านั้น หากถูกเปลี่ยนตัวออก ก็จะถือว่าความรับผิดชอบในการเสียประตูจบลงตามไปด้วย ( ต่างจากโดนไล่ออก )
แอสซิสต์ : มีคำอธิบายการได้คะแนนแอสซิสต์ให้พยายามครอบคลุมที่สุดในหลายเคส เช่น การทำให้ทีมได้ฟรีคิก หรือจุดโทษ แล้วเพื่อนยิงเข้าโดยตรง จะถือว่าคนโดนทำฟาล์วหรือคนที่ทำให้ได้จุดโทษ รับคะแนนแอสซิสต์ แต่ถ้าคนๆ นั้น ลุกขึ้นมายิงเข้าไปเอง จะไม่ถือว่าได้แอสซิสต์ เป็นต้น
นอกจากเคน และบรูโน่แล้ว เจ้าของสถิติแอสซิสต์สูงสุดของ FPL ในซีซันก่อนคือวาร์ดี้ ที่ 14 ลูก
(Source : Goal.com) ใช้ Opta ตัดสินแอสซิสต์ : FPL ระบุไว้ชัดเจนว่าใช้ข้อมูลของ Opta ในการตัดสินแอสซิสต์ในเกม ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ที่จะแสดงผลแตกต่างจากเว็บไซต์, แอพพลิเคชัน หรือแหล่งข้อมูลอื่น ดังนั้นหากเป็นคะแนน FPL แล้ว ให้เชื่อ FPL Official เท่านั้น อย่าไปอิงตาม Live Score, Flash Score หรือเว็บไซต์ข่าวนู่นนี่
รายละเอียดจะมีมากกว่านี้อีกแหละครับ แต่ที่ยกมาพูดน่าจะครอบคลุมการคิดคะแนนหลักๆ อยากทราบเพิ่มเติมไปอ่านใน Help ได้ครับผม ทราบกฎครบ จะทำให้เล่นเกมสนุกขึ้นแน่นอน
[การจัดตัวผู้เล่น]
ทราบวิธีการวัดผลคะแนนกันแล้ว ก็ต้องมาทำความเข้าใจส่วนสำคัญที่สุดของเกม นั่นคือเรื่องการจัดตัวผู้เล่น ซึ่งความจริงมีกลยุทธ์ต่างๆ มากมาย แต่สำหรับมือใหม่ เข้าใจพื้นฐานของมันก่อนจะดีที่สุด แล้วจะเอาไปพลิกแพลงอะไรเพิ่ม ค่อยว่ากันอีกที
การจัดทีมนั้น เราต้องทำการจัดนักเตะทั้งหมด 15 ตัว แบ่งเป็นผู้รักษาประตู 2 ตัว / กองหลัง 5 / กองกลาง 5 / กองหน้า 3 โดยทุกทีมตั้งต้นด้วยงบประมาณเริ่มต้น 100 ล้านปอนด์เท่ากันหมด
ทีมของเราต้องมีนักเตะทั้งหมด 15 ตัว ก่อนจะเอาไปจัดตัวจริง-ตัวสำรองแต่ละ GW อีกที
(Source : Fantasy Premier League) นอกจากงบประมาณที่มีจำกัดแล้ว เกมยังมีกฎว่าห้ามเลือกนักเตะจากสโมสรเดียวกันเกิน 3 คน ซึ่งงบประมาณ และข้อจำกัดเรื่องจำนวนตัว ทำให้เราต้องศึกษานักเตะจากหลายสโมสร จะเอาแค่ทีมใหญ่ๆ อย่างเดียวไม่ได้เด็ดขาด
โดยเกมจะคิดคะแนนผู้เล่น 11 ตัวแรกเท่านั้น ( ยกเว้นจะใช้ตัวช่วย Bench Boost ที่จะอธิบายต่อไปทีหลัง ) แต่ตัวสำรองก็อาจมีบทบาทสำคัญ เพราะจะถูกดันขึ้นมาคิดคะแนนแทน หากตัวจริงไม่ได้ลงสนาม
[กลยุทธ์การจัดตัว]
การเล่น FPL ก็เหมือนกับการเตะพรีเมียร์ลีกน่ะแหละ คือมันเป็นเกมระยะยาว มีแมทช์มากมายให้เล่นกัน ดังนั้นการปรับทีมให้เหมาะกับโปรแกรมที่รันไป จึงมีความสำคัญ เพราะในแต่ละ Gameweek เกมมีโควตาให้เราเปลี่ยนตัวฟรี หรือ Free Transfer ได้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น หากจะเปลี่ยนมากกว่านั้น ต้องเสียคะแนน -4 ต่อการเปลี่ยนเกิน 1 ครั้ง
แต่ละ GW เราจะได้สิทธิ์ Free Transfer แค่ 1 ครั้ง เปลี่ยนเกินเสียครั้งละ -4
(Source : Fantasy Premier League) ดังนั้นการวางตัวจริง และตัวสำรองจึงมีความสำคัญ ที่ต้องคิดวางแผนล่วงหน้าไว้ โดยผมขอแนะนำวิธีกว้างๆ 2 วิธี ที่น่าจะทำให้คุณจัด 15 ตัวได้มีประสิทธิภาพในเบื้องต้น
กลยุทธ์เบื้องต้น : เลือกตัวเทพที่พร้อมอยู่ยาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวทำคะแนนที่เรามักจะเลือกหยิบเข้าทีมก่อนคือพวกซูเปอร์สตาร์ เพราะนักเตะเหล่านี้มักจะคาดหวังคะแนนได้สูงกว่า และแน่นอนว่าราคาก็จะสูงตามไปด้วย
ดังนั้นแล้ว การจะหยิบตัวราคาสูงเข้ามา ก็ต้องให้คุ้มค่าหน่อย ซึ่งความคุ้มค่าเบสิกคือการใช้งานได้ในระยะยาว เพราะหากทำผลงานได้ดี และไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ทำให้เราสามารถใช้ Free Transfer ไปปรับนักเตะตัวรองๆ ที่อาจจะเจอผลงานไม่เอื้ออำนวยได้บ่อยกว่าพวกตัวบิ๊กเนม
เลือกตัวเทพเยอะไปก็ไม่ไหว อย่างตามภาพ แค่ 6 ตัว ปาเข้าไป 56.5 ล้านปอนด์
(Source : Fantasy Premier League) อย่างไรก็ดีด้วยงบประมาณที่จำกัด ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกตัวแพงได้หลายตัวพร้อมกัน เราอาจจะต้องชั่งใจว่าตำแหน่งไหนคุ้มค่า เช่น ถ้าเราดันไปเลือกกองหลังพรีเมียมแพงซัก 2 ตัว อย่างเทรนท์ กับ ดิอาซ ที่มูลค่ารวมกันถึง 13.5 ล้านปอนด์ เท่ากับว่าเราจะมีงบเลือกกองกลาง และกองหน้าน้อยลง เป็นต้น
หรือตามภาพตัวอย่างด้านบน เพิ่มตัวพรีเมียมเข้าไปอีกอย่าง เอแดร์สัน, บรูโน่, ซาล่าห์, เคน รวม 6 ตัวใช้งบไป 56.5 ล้านปอนด์ เหลืองบเฉลี่ยสำหรับ 9 ตัวที่เหลือน้อยกว่า 5.0 ล้านปอนด์เสียอีก โอกาสจะคาดหวังจากตัวเลือกราคาต่ำขนาดนั้น แทบหวังผลคะแนนกลับมายาก
กลยุทธ์เบื้องต้น : ศึกษาโปรแกรมให้ดี
เพิ่งพูดไปว่าเลือกตัวแพงให้คุ้ม ก็เลือกที่มันถือได้นานหน่อย ดังนั้นการที่เราจะวางแผนแบบนั้นได้ เราต้องดูโปรแกรมล่วงหน้าให้ดี อย่าดูแค่นัดต่อนัด มองยาวๆ 4-5 นัด เป็นอย่างต่ำยิ่งดี เพราะเราจะบริหารทีม และ Free Transfer ได้ดีขึ้นตามไปด้วย
วิธีดูความยากง่ายโปรแกรมเบื้องต้นคือกดที่ไอคอน i ของนักเตะตัวที่เราอยากดู ซึ่งจะโชว์รายละเอียดไว้ครบหมด แถมยังมีปุ่ม Add to Watchlist เพื่อดึงมาไว้ในลิสต์พิเศษของเรา เพื่อจะได้กลับมาดูได้สะดวก ไม่ต้องไปค้นหาใหม่จากนักเตะทั้งหมด
กดเข้าไปดูข้อมูลนักเตะ จะสามารถดูได้ทั้งโปรแกรม และแอดไว้ในลิสต์พิเศษ
(Source : Fantasy Premier League) อีกวิธีคือไปที่เมนู Fixtures แล้วเลือก FDR ซึ่งจะโชว์โปรแกรมความยากง่ายของทั้ง 20 ทีม ให้ดูได้สะดวก โดยแทนความยาก-ง่านด้วยสีต่างๆ เขียวคืองานง่าย, เทาคือปานกลาง, แดงยิ่งเข้มยิ่งเจองานยาก
เข้าไปเช็คความยากง่ายของโปรแกรมแต่ละทีมได้ด้วยเมนู FDR
(Source : Fantasy Premier League) พอเห็นโปรแกรมล่วงหน้าแล้ว เราอาจจะลองทำตารางนักเตะที่จะใช้งานตัวจริง-ตัวสำรองในแต่ละ Gameweek ใส่ตารางง่ายๆ ( ใน excel ก็ได้ ) แล้วลองประเมินว่าเราจะใช้ใครเป็นตัวจริงบ้าง จะเปลี่ยนใครออกใน GW ไหน เอาใครเข้ามาแล้วสอดคล้องกับงบประมาณ รับรองว่าจะวางแผนได้ดีขึ้นแน่นอน
กลยุทธ์เบื้องต้น : ค้นหาตัวคุณภาพในทีมกลาง-เล็ก
อย่างที่เกริ่นไปว่าเราคงไม่สามารถเลือกแต่ตัวซูเปอร์สตาร์ราคาแพงได้ ดังนั้นการเหล่ทีมระดับกลาง หรือเล็ก ที่อาจจะมีตัวทำแต้มดีๆ จึงมีความสำคัญ อย่างซีซันที่ผ่านมา ดัลลัสของลีดส์ ทำแต้มแฟนตาซีไปถึง 171 คะแนน หรือวัตกินส์ กองหน้าวิลล่า ก็ผลิตแต้มไปถึง 168 คะแนน เลยทีเดียว
ไอวาน โทนีย์ กองหน้าตีนระเบิดของเบรนท์ฟอร์ด หนึ่งในนักเตะทีมเล็ก ที่ถูกจับตามอง
(Source : Premier League) นักเตะคนไหนน่าแนะนำ เดี๋ยวขอผมแยกไปพูดถึงเต็มๆ ใน EP 1 ( บทความถัดไป ) แต่ขอยกตัวอย่างตัวที่กุนซือแฟนตาซีเริ่มเล็งกัน ก็มีอย่างโทนีย์ กองหน้าอันตรายของเบรนท์ฟอร์ด เพราะยิงในแชมป์เปียนชิพมากระจาย และราคา 6.5 ล้านปอนด์ในเกม ถือว่าน่าคบหา
หรือจะเป็นบูเอ็นเดีย ที่ย้ายมาปั้นเกมให้วิลล่าแทนแล้ว ยิ่งสิงห์ผงาดขาดกรีลิชที่ย้ายไปซบแมนฯ ซิตี้ เรียบร้อยแล้ว จอมทัพอาร์เจนไตน์ในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ก็น่าจะรับบทตัวปั้นเกมหลักของทีมมากขึ้นกว่าตอนที่ทีมมีกรีลิชอยู่
กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกนักเตะราคาต่ำ เพื่อสแปร์งบ
ขอแตะลงลึกขึ้นอีกหน่อยถึงกลยุทธ์การจัดทีมที่กุนซือแฟนตาซีมักใช้กัน แบบแรกคือการเก็บงบไว้เน้นตัวที่จะทำแต้ม หรือ 11 ตัวจริง ด้วยการยอมเลือกตัวราคาต่ำสุดในเกมเพื่อประหยัดงบ
Read more: The MMS Institute Thailand
ราคาต่ำสุด ก็อย่างผู้รักษาประตู/กองหลังในราคา 4.0 ล้านปอนด์ ส่วนกองกลาง/กองหน้าคือ 4.5 ล้านปอนด์ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าพวกตัวราคาต่ำสุดเนี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นตัวสำรอง โอกาสหวังเก็บแต้มก็ย่อมน้อยตาม เปรียบเสมือนกับการเลือกทิ้งกรายๆ
หลังไบรท์ตันต้องเสียไวท์ไป ดัฟฟี่ที่กลับมาจากยืมตัว ก็เป็นตัว 4.0 ที่น่าจับตามองมากขึ้น
(Source : Sky Sports) สิ่งที่พอทำได้ คือมองหานักเตะราคาต่ำสุด ที่พอลุ้นโอกาสลงเล่นบ้าง เช่น โกล์อย่างฟอสเตอร์ ที่อาจจะเบียดมือ 1 ได้ด้วยประสบการณ์ ( มือ 1 วัตฟอร์ดคือบัคมันน์ ), ดัฟฟี่ที่กลับมาไบรท์ตัน หลังถูกปล่อยยืม ( ไวท์ย้ายไปอาร์เซน่อล ) หรือกองหน้าอย่างโอบาเฟมี ที่มักจะลงมาท้ายเกมให้เซาธ์แธมป์ตัน
กลยุทธ์ทางเลือก : เลือกให้ทุกตัวพร้อมลงเล่น
อีกแนวทางนึง คือการเลือก 15 ตัวให้มีโอกาสลงเล่นเป็นตัวจริงสูงที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมากับการเพิ่มงบมากขึ้นกว่าแบบเลือกทิ้ง ซึ่งข้อดีคือเรามีนักเตะหมุนเวียนได้มากขึ้น แต่ก็จะเปลืองงบมากขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่างการเลือกนักเตะทั้ง 15 คน ที่มีโอกาสเป็นตัวจริงทั้งสิ้น เพื่อมีตัวหมุนเวียน
(Source : Fantasy Premier League) ถามว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด อันนี้ตอบยาก เป็นสไตล์ส่วนตัว หากเป็นมือใหม่ คุณอาจจะลองกลยุทธ์ทั้ง 2 แบบเลยก็ได้ แล้วลองดูว่าตัวทำแต้มหลักๆ มันได้ดั่งใจมั้ย เปรียบเทียบกันทั้ง 2 แนวคิด จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ตัวสำรอง และรองกัปตัน
อธิบายการจัดตัวมาแล้ว มือใหม่อาจจะยังสงสัยการใช้งานตัวสำรอง รวมถึงการเลือกรองกัปตัน ซึ่งก็มีส่วนสำคัญต่อการวางแผนจัดทีมเช่นกัน
สังเกตว่าตัวสำรองนั้นเราสามารถเรียงลำดับ 1-2-3 ได้ ( ผู้รักษาประตูต่างหาก เพราะเปลี่ยนได้กับผู้รักษาประตูเท่านั้น ) ซึ่งเมื่อมีตัวจริง 11 คนแรกไม่ได้ลง ระบบก็จะดันสำรองขึ้นไปคิดคะแนนแทนตามที่เรียงไว้ สำรองลำดับก่อนหน้าไม่ได้ลง ก็จะเขยิบไปลำดับถัดไป
โดยปกติตัวสำรองจะถูกใช้งานตามลำดับ ยกเว้นกรณีผิดกฎฟอร์เมชันของเกม
(Source : Fantasy Premier League) อย่างไรก็ดี การดันตัวสำรองขึ้นไปแทน ยังมีข้อยกเว้นข้ามลำดับการดันสำรองขึ้นไปอยู่อย่างนึง นั่นคือตัวที่จะเอาไปคิดคะแนนทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกฎการจัดทีม ( ฟอร์เมชัน ) ของ FPL นั่นคือต้องมีกองหลังอย่างน้อย 3 ตัว, กองกลางอย่างน้อย 2 ตัว และกองหน้าอย่างน้อย 1 ตัว ดังนั้นหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ระบบจะดันตัวสำรองมองข้ามลำดับที่จัดไว้ไปเป็นเรื่องรอง
ส่วนกัปตันทีมนั้น ปกติคุณจะสามารถเลือกนักเตะคนนึงเป็นกัปตัน เพื่อได้รับคะแนนคูณ 2 อยู่แล้ว 1 ตัว แต่ถ้ากัปตันดันไม่ได้ลงเล่นขึ้นมา การคิดคะแนนคูณ 2 จะเปลี่ยนไปให้รองกัปตันแทน ดังนั้นการตั้งรองกัปตันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี หากจัดผิดพลาด หรือดวงแตกขึ้นมา ทั้งกัปตันและรองกัปตันไม่ลงเล่นทั้งคู่ Gameweek นั้นคุณก็จะอดได้คะแนนคูณ 2 ไปโดยปริยาย ไม่มีการเปลี่ยนไปให้ตัวอื่นอีก
สามารถเลือกกัปตัน และรองกัปตัน ด้วยการคลิกไปที่ตัวนักเตะ เลือกเสร็จอย่าลืมกดเซฟ
(Source : Fantasy Premier League) โดยการปรับเปลี่ยนนักเตะในทีม รวมถึงการเลือกกัปตัน/รองกัปตัน ทำเสร็จแล้วอย่าลืมกด Save Your Team ด้านล่าง มิฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของคุณจะไม่ถูกบันทึก พลาดตรงนี้กันมานักต่อนักแล้ว
[Transfer / การเปลี่ยนตัว]
กฎการเปลี่ยนตัวเบื้องต้น
เราสามารถเข้าไปเปลี่ยนตัวที่เมนู Transfer ได้ทุกเมื่อ แต่ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยตัวนั้นส่งผลต่อ Gameweek ไหน โดยแต่ละ Gameweek นั้นจะแบ่งด้วยเส้นเดดไลน์ เปลี่ยนก่อนเดดไลน์ไหน ก็มีผลคิดคะแนนหลังเดดไลน์นั้น
สังเกตว่าเดดไลน์การจัดทีม/เปลี่ยนตัว ของแต่ละ GW ก็คือ 90 นาที ก่อนคู่แรกจะเริ่มเตะนั่นเอง
(Source : Fantasy Premier League) เดดไลน์ของ FPL คือ 90 นาที ( 1 ชั่วโมงครึ่ง ) ก่อนแมทช์แรกของ Gameweek นั้นๆ เตะ โปรแกรมแต่ละ Gameweek มีคู่ไหนบ้าง เตะเวลาไหนบ้าง เดดไลน์คือเมื่อไหร่ เข้าไปดูที่หน้า My Team, Transfer, Fixtures มีเขียนชัดเจน
ก่อนซีซันพรีเมียร์ลีกจะเตะนัดแรก เราจะสามารถเปลี่ยนตัวเข้าออกได้แบบไม่เสียแต้มลบ แต่พอ Gameweek 1 เริ่มเมื่อไหร่ ( เลยเดดไลน์แรก ) คุณจะเปลี่ยนตัวฟรี ( Free Transfer ) ได้แค่ 1 ตัวต่อ Gameweek เปลี่ยนเกินจะต้องเสียคะแนน -4 ต่อทุกๆ การเปลี่ยนเกิน
ซึ่ง Free Transfer ที่ว่านี้ หากไม่ใช้ใน Gameweek ไหน จะถูกสะสมไปใน Gameweek ถัดไป แต่สะสมได้สูงสุดเพียง 2 สิทธิ์เท่านั้น
ค่าตัวของนักเตะ
พูดแตะๆ เรื่องค่าตัวไปในส่วนการจัดทีม ก็ขอลงละเอียดหน่อย ว่านักเตะทุกคนมีค่าตัวในเกมตั้งต้น ตัวเทพก็ราคาแพง อย่างบรูโน่ก็ไปนู่นเลย 12.0 ล้านปอนด์ หรือแนวรับตัวแพงสุดก็คือตัวที่มีลุ้นแต้มเกมรุกด้วยอย่างเทรนท์ ที่ราคา 7.5 ล้านปอนด์
นักเตะค่าตัวแพงที่สุดในเกมคือเคน และซาล่าห์ 12.5 ล้านปอนด์
(Source : 90Min) ราคาตั้งต้นตอนแรกกุนซือมือใหม่คงไม่งงกัน แต่เมื่อซีซันเริ่มแล้ว มันจะมีกลไกราคาขึ้นลงของนักเตะเข้ามาด้วย ซึ่งความจริง FPL เค้าไม่ได้เปิดเผยโลจิกการคิดออกมา แม้จะมีหลายเว็บไซต์พยายามแกะสูตร แต่ก็ยังไม่มีอันไหนคอนเฟิร์มชัวร์ 100 % ดังนั้นก็เข้าใจเบื้องต้นไว้ว่า นักเตะตัวไหนทำแต้มดี และมีคนเปลี่ยนเข้าเยอะ ก็มีโอกาสจะราคาขึ้น ส่วนราคาลดก็เป็นในทางตรงข้ามกัน
การขึ้นลงปกติจะขึ้นหรือลงครั้งละ 0.1 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจจะดูไม่เยอะ แต่ก็ทำให้งบประมาณของเราไม่เพียงพอได้ เพราะกฎของเกมระบุว่าหากเราจะซื้อนักเตะตัวไหนเข้าทีม เราต้องซื้อราคาตลาดในตอนนั้น งบมีแค่ 10 ล้าน แต่เจอ 10.1 ล้านไป ก็อาจเซ็งได้
ด้วยฟอร์มเยี่ยมสม่ำเสมอ ทำให้มาร์ติเนซราคาขึ้นจาก 4.5 ไปเป็น 5.3 ล้านปอนด์ตอนจบซีซัน
(Source : 90Min) นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดราคาขึ้นลงของนักเตะที่อยู่ในทีมของเราด้วย หากลงไม่ซับซ้อน เคยซื้อมาเท่าไหร่ ตอนจะขายออกก็เป็นไปตามราคาตลาด เช่น ซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ แล้วราคาลงมา 7.9 ล้านปอนด์ ตอนขายก็ได้งบกลับมาแค่ 7.9 ( ขาดทุน 0.1 )
กลับกันพอเป็นส่วนของราคาขึ้น มันจะมีการคิคำนวณหาร 2 และปัดเศษ ดังนี้
– > สมมติซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ นักเตะราคาขึ้นเป็น 8.1 ล้านปอนด์ เท่ากับส่วนต่าง = 0.1
– > เอา 0.1 มาหาร 2 ได้ 0.05
– > เอา 0.05 ไปบวกกับ 8.0 แล้วปัดเศษทศนิยมตำแหน่งที่ 2 ลง จาก 8.05 ก็จะได้ 8.0 เท่าเดิม
โดยเราจะได้กำไร ก็ต่อเมื่อนักเตะขยับราคาตลาดขึ้นไปเป็น 8.2 ล้านปอนด์ เพราะ
– > สมมติซื้อมา 8.0 ล้านปอนด์ นักเตะราคาขึ้นเป็น 8.2 ล้านปอนด์ เท่ากับส่วนต่าง = 0.2
– > เอา 0.2 มาหาร 2 ได้ 0.1
– > เอา 0.1 ไปบวกกับ 8.0 ได้ราคาขาย 8.1 โดยไม่ต้องปัดเศษลง เพราะไม่มีทศนิยมตำแหน่งที่ 2
ฟังก์ชันหน้า Transfer
เพิ่มเติมฟังก์ชันที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ในหน้า Transfer หน่อย ซึ่งพอเราเข้าไปในหน้า Transfer เราสามารถใช้ฟิลเตอร์ด้านขวามือเพื่อค้นหาสิ่งต่างๆ ได้สะดวกสบาย
เมื่อเข้าหน้า Transfer ลองใช้ฟิลเตอร์ต่างๆ ทางด้านขวามือดู จะค้นหานักเตะสะดวกขึ้นมาก
(Source : Fantasy Premier League) โดยสิ่งที่กุนซือนิยมดูคือการกำหนดงบประมาณ แล้วดูว่ามีนักเตะคนไหนเลือกได้บ้าง โดยมักจะเรียงจากแต้มทั้งหมดที่ทำได้ ( ก่อนนัดแรกจะเริ่ม แต้มที่โชว์คือแต้มจากซีซันที่แล้ว ) หรือเรียงจาก % ที่กุนซือใน FPL เลือก จะชอบแบบไหน ก็ลองฟิลเตอร์ดู
นอกจากนั้น ก็คงเป็นการดูข้อมูลนักเตะ ซึ่งหน้า Transfer จะสะดวกที่สุดที่จะดูนักเตะที่ไม่ฟิต หรือติดแบน เพราะจะมีสีต่างๆ ระบุเตือนอยู่ ได้แก่ สีเหลือง ( มีโอกาส 75 % ที่จะพร้อมลงเล่น ), สีส้ม ( 25-50 % ) และสีแดง ( ไม่น่าลงเล่นได้, ติดโทษแบน, ติดเจอทีมที่ให้ยืมตัวมา )
โฟฟาน่าที่ล่าสุดโชคร้ายเจ็บหนักจากอุ่นเครื่อง ก็ขึ้นสีแดงบ่งบอกชัดเจน
(Source : Fantasy Premier League) เรื่องอาการบาดเจ็บเนี่ยต้องติดตามข่าวกันให้ดี เพราะกุนซือบางท่านมักจะหัวร้อนเวลานักเตะฟอร์มไม่ดี หรือเจอตัวอื่นฟอร์มดีกว่า ก็รีบชิงเปลี่ยนตัวเร็ว เช่นเดียวกับกุนซือที่เน้นเรื่องงบประมาณทีม กลัวนักเตะราคาขึ้นหรือตก ก็รีบชิงเปลี่ยนตัวเร็วเช่นกัน ซึ่งจุดนี้ต้องระวังนักเตะมาเจ็บเอาทีหลัง ดวงแตกบางทีก็ไม่ค่อยเข้าใครออกใคร
[ตัวช่วย / Chips]
นอกเหนือจากการเปลี่ยนตัว และจัดทีมธรรมดาที่ต้องทำกันตลอดซีซันแล้ว FPL เค้ายังมี “ตัวช่วย” ให้กุนซือแต่ละท่านได้ใช้งานประกอบการวางแผนอีกด้วย โดยตัวช่วยต่างๆ มีคุณสมบัติ และเงื่อนไขแตกต่างกันไป เงื่อนไขอย่างแรกที่มักถามกัน นั่นคือใน 1 Gameweek นั้นใช้ตัวช่วยได้เพียงอันเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้
ส่วน 4 ตัวช่วย แต่ละอันมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ไปดูกันทีละอัน
Bench Boost และ Triple Captain สามารถกดใช้ได้ที่หน้า My Team เลย
(Source : Fantasy Premier League)
(1) Bench Boost : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว
เป็นตัวช่วยที่ทำให้ใน Gameweek นั้น เกมจะคิดคะแนนนักเตะในทีมคุณทั้งหมด 15 ตัว ทั้งตัวจริงและตัวสำรอง ดังนั้นตัวช่วยนี้จึงไม่จำเป็นต้องรีบใช้ ไว้ให้เจอโปรแกรมที่เหมาะสม และทุกตัวในทีมพร้อมทำแต้มให้มากที่สุดก่อน
ซึ่งโดยปกติแล้ว โปรแกรมพรีเมียร์ลีกจะมี Gameweek ที่มีเตะมากกว่า 1 นัด หรือเรียกว่า Double Gameweek ซึ่งกุนซือหลายท่านก็เล็งไปใช้ Bench Boost ที่ GW นั้น อย่างไรก็ดี ต้องดูองค์ประกอบทีมให้ดี
(2) Triple Captain : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว
เป็นตัวช่วยที่คุณสมบัติไม่ซับซ้อน นั่นคือเปลี่ยนให้กัปตันของคุณได้คะแนนคูณ 3 แทนที่จะเป็นคูณ 2 ใน Gameweek นั้น ดังนั้นการเลือกใช้ คงต้องขึ้นอยู่กับความมั่นใจของกุนซือแต่ละท่าน โดยส่วนมากนิยมรอใช้ใน Double Gameweek หรือ Gameweek ที่ตัวทำคะแนนเจอโปรแกรมง่ายที่สุด
Wildcard และ Free Hit จะเป็นเหมือนการล้างทีมใหม่ แต่มีเงื่อนไขต่างกัน อย่าสับสน
(Source : Fantasy Premier League)
(3) Free Hit : ทั้งซีซัน ใช้ได้ครั้งเดียว
เป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้คุณเปลี่ยนนักเตะใน Gameweek นั้นได้แบบไม่จำกัด ไม่เสียแต้มลบ อย่างไรก็ดี Free Hit จะส่งผลแค่ Gameweek นั้น เท่านั้น เมื่อผ่านเดดไลน์ไป นักเตะทุกตัวจะกลับมาเหมือนเดิมก่อนใช้ Free Hit เรียกว่าทีมที่ปรับเปลี่ยนนั้น จะอยู่ชั่วคราวแค่ GW เดียวนั่นแหละ
วิธีการใช้ ( GW1 ยังใช้ไม่ได้ ) ต้องเข้ายังหน้า Transfer เพื่อกดใช้งาน โดยกลไกการทำงานจะครอบคลุมการเปลี่ยนตัวทั้งหมดของ Gameweek นั้น ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนตัวก่อนแล้วค่อยกดใช้ Free Hit หรือใช้ Free Hit ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนตัว ให้ผลเหมือนกัน
นอกจากนั้น Free Hit จะเป็นตัวช่วยที่เคลียร์ Free Transfer ที่คุณสะสมมาให้เหลือ 1 ใน Gameweek ถัดไปเสมอ
(4) Wildcard : ทั้งซีซันใช้ได้ 2 ครั้ง
ใบที่ 1 : ใช้ได้ตั้งแต่ Gameweek 2 – ก่อนเดดไลน์ Gameweek 20 (ดึกคืนวันที่ 28 ธ.ค.)
ใบที่ 2 : ใช้ได้ตั้งแต่หลังเดดไลน์ Gameweek 20 จนจบซีซัน
ตัวช่วยที่ทรงพลังที่สุด ทำให้คุณเปลี่ยนนักเตะใน Gameweek นั้นได้แบบไม่จำกัด ไม่เสียแต้มลบ แต่ต่างจาก Free Hit ตรงที่ตัวที่เปลี่ยนจะอยู่ถาวรเป็นทีมของเราใน Gameweek ถัดไปเลย เหมือนเป็นการล้างทีมเพื่อปรับทีมใหม่ ซึ่งต้องใช้แต่ละใบตามช่วงเวลาที่แจ้งไว้ด้านบนเท่านั้น ไม่ใช้ถือว่าเสียสิทธิ์
วิธีการใช้ ( GW1 ยังใช้ไม่ได้ ) ต้องเข้ายังหน้า Transfer เพื่อกดใช้งาน โดยกลไกการทำงานจะครอบคลุมการเปลี่ยนตัวทั้งหมดของ Gameweek นั้น ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนตัวก่อนแล้วค่อยกดใช้ Wildcard หรือใช้ Wildcard ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนตัว ให้ผลเหมือนกัน
นอกจากนั้น Wildcard จะเป็นตัวช่วยที่เคลียร์ Free Transfer ที่คุณสะสมมาให้เหลือ 1 ใน Gameweek ถัดไปเสมอ
[ระบบลีกย่อย (Leagues & Cups)]
มาถึงเมนูสุดท้ายที่จะพูดในส่วนของการสอนเล่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ FPL เลย ที่จะทำให้คุณสนุกกับการเล่นยิ่งขึ้น เพราะลำพังไปแข่งกับกุนซือทั้งโลก มันก็คงลุ้นแต่การทำอันดับให้ดี ไม่มีทางสนุกเท่าการห้ำหั่นกับคนใกล้ตัว หรือบลัฟเพื่อนๆ หรอก
เมื่อคุณเข้าไปในเมนู Leagues & Cups อย่างแรกที่จอยอัตโนมัติคือ General Leagues ที่จะโชว์ด้านล่าง ประกอบไปด้วย Overall ( แข่งกับคนทั่วโลก ), ลีกทีมที่คุณเชียร์, ลีกประเทศไทย และลีกของกุนซือที่เริ่มเล่นใน Gameweek เดียวกัน ( ถ้าเล่นแต่แรก ก็จะเป็น Gameweek 1 )
กรอบสีเหลืองจะเป็น General Leagues กรอบสีฟ้าจะเป็น Public Leagues
(Source : Fantasy Premier League) นอกจากนั้น จะมี Public Leagues ที่ไว้สำหรับกุนซือที่อยากจะสุ่มเจอกับกุนซือที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร ( ระบบจัดมาให้ ) โดยสามารถแข่งได้ทั้งแบบ classic หรือแบบคิดคะแนนสะสมปกติ และแบบ Head-to-Head หรือการจับเอาคู่แข่งในลีกมาดวล volt กันในแต่ละ Gameweek ชนะได้ 3 คะแนน เสมอได้ 1 คะแนน แพ้ไม่มีคะแนน
ที่พูด 2 ส่วน ( General และ Public ) แบบผ่านๆ เพราะมันไม่ใช่จุดเด่นที่เราเน้นเท่าไหร่ ที่เราเน้นคือ Invitational Leagues ที่มีทั้งแบบ Classic และ Head-to-Head เช่นกัน จุดเด่นคือคุณสามารถสร้างลีกใหม่ขึ้นมาได้เอง แล้วชวนเพื่อนๆ มาจอย หรือจะไปจอยลีกที่เขาสร้างไว้อยู่แล้ว ก็ได้เช่นกัน
ส่วนสำคัญคือ Invitational Leagues ซึ่งเราสร้างหรือจอยผ่านปุ่มด้านบนได้ด้วย
(Source : Fantasy Premier League) โดยการจอยนั้น จะใช้โค้ดจอย หรือลิงค์จอยที่ระบบสร้างให้ สร้างลีกเองก็แชร์ไปให้เพื่อนเพื่อจอย ( เข้าไปตรง Options ในลีกของเรา ) หรือถ้าอยากจะจอยลีกคนอื่นเค้า ก็ใช้โค้ด ( ผมแนะนำวิธีนี้ ) หรือคลิกลิงค์จอยที่เค้าแชร์มาให้
ในหน้านี้ สังเกตว่าจะมีปุ่มด้านบนที่เขียนว่า “Create and join new leagues and cups” ซึ่งคุณสามารถคลิกเข้าไปทั้งสร้างลีกย่อยใหม่ หรือจอยลีกย่อยที่มีอยู่แล้ว เมื่อจอยเรียบร้อย ลิสต์ลีกก็จะขึ้นมาแสดงในหน้า Leagues & Cups นี้ รวมถึงด้านขวามือตรงหน้า My Team ด้วย
การจอย ก็สามารถคลิกเข้าไปแล้วใส่โค้ดลีก พร้อมกด Join league ได้เลย
(Source : Fantasy Premier League) นอกเหนือจากการสร้างลีกย่อยแข่งกันแล้ว ซีซันนี้ทาง FPL ยังมีลูกเล่นเพิ่มเติม ให้แอดมินของลีก สามารถเปิดแข่ง FPL Cup เฉพาะลีกย่อยของตัวเอง ( ปกติ FPL Cup จะแข่งกับทั่วโลกเท่านั้น ) โดยรายละเอียดเราจะว่ากันภายหลัง เพราะมันจะแข่งขันในช่วงครึ่งซีซันหลังนู่น
The.Macho League 2021/22 เปิดแล้ว!
จบในส่วนสอนเล่นแล้ว ก็ขอเชิญชวนมาจอยลีกย่อยของเรากันหน่อย กับ “The.Macho League” ประจำซีซัน 2021/22 ซึ่งเป็นซีซันที่ 3 แล้วที่เราเปิดให้ร่วมสนุกกันฟรีๆ แต่มีของรางวัลน่าสนใจให้ลุ้นกันครบครัน โดยเฉพาะเสื้อบอลของแท้ทุกเดือน >> อ่านกฎกติกาคลิกที่นี่ <<
วิธีการจอยอธิบายไปแล้วด้านบน โดยลีกของเราใช้โค้ดสำหรับจอยคือ 9n6gz8
Read more: S.S. Lazio
ครบถ้วนแบบละเอียดยิบไปแล้วกับการสอนเล่นโดยสมบูรณ์ มือใหม่อาจจะอึ้งหน่อยว่าทำไมรายละเอียดมหาศาลขนาดนี้ แต่ขอให้ลองอ่านจุดที่สงสัยดูก่อน แล้วค่อยๆ ลองเริ่มเล่นไป รับรองว่าใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิด คุณก็จะสามารถเป็นกุนซือแฟนตาซีมือดีได้เช่นกัน
และนอกเหนือจากบทความสอนเล่นนี้ ผมยังจะมี “มิตรรัก นักแฟนตาซี ” คอลัมน์ประจำ ที่จะอัปเดตให้อ่านกันทุกสัปดาห์ สามารถติดตามได้ ทั้งการแนะนำนักเตะน่าเลือก, การจัดทีมของผมให้ดู และการอัปเดตข่าวสารน่าสนใจของ FPL
นอกจากนั้นเรายังมีคอมมูนิตี้ที่อบอุ่นทั้งกลุ่มเฟซบุ๊ค และกลุ่มแชทใน LINE OpenChat ไว้พูดคุยกันด้วย โดยยังมีเพื่อนบ้านเป็นคอมมูนิตี้แฟนตาซีต่างๆ ที่คึกคักกันทีเดียว ไปลองติดตามได้ ช่องทางของเราเป็นแหล่งรวบรวมชั้นดีเลยครับ มาสนุกด้วยกันเนอะ !
กลุ่มเฟซบุ๊ค >> คลิกที่นี่ <<
กลุ่มแชทใน LINE OpenChat >> คลิกที่นี่ <<
Picture : Fantasy Premier League, Sky Sports, The SportsRush, Goal.com, Premier League, Sky Sports, 90Min