dk
รู้จักเดนมาร์ก
ข้อมูลสำคัญ
ข้อมูลทั่วไป

Reading:

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรประหว่างทะเลเหนือกับทะเลบอลติก

พื้นที่
 
42,916 ตารางกิโลเมตร โดยมีเขตพื้นที่ปกครองตนเอง 2 แห่ง ได้แก่ เกาะกรีนแลนด์ ( Greenland ) และหมู่เกาะแฟโร ( Faroe )
ที่มา : Statistics Denmark ( 2016 )
ประชากร
 
5,707,251 คน
ที่มา : Statistics Denmark ( 2016 )
กลุ่มชนชาติ
 
– ชาวเดนมาร์ก ( ร้อยละ 98 )
– ชาวสแกนดิเนเวียอื่นๆ ( ร้อยละ 0.4 )
– ชาวตุรกี ( ร้อยละ 0.3 )
– ชาวอังกฤษ ( ร้อยละ 0.2 )
ภาษา
เดนิช (Danish) เป็นภาษาราชการ ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

ศาสนา
 
ศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran ( ร้อยละ 95 )
รองลงมา ได้แก่ คริสต์นิกายอื่นๆ ( ร้อยละ 3 ) อิสลาม ( ร้อยละ 2 )
เมืองหลวง
กรุงโคเปนเฮเกน

เมืองสำคัญต่างๆ
เมืองออร์ฮูส (Aarhus) เมืองอูเดนเซอร์ (Odense) เมืองอัลบอร์ก (Aalborg)

สกุลเงิน
โครนเดนมาร์ก (Danish Kroner – DKK)

ระบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์/พระราชินีเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประมุขแห่งรัฐ
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ตั้งแต่ 14 มกราคม ค.ศ. 1972

นายกรัฐมนตรี
นายลาซ ลู้กเก่อ ราสมูสเซ่น (Lars Løkke Rasmussen)
เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2015
ข้อมูลทางเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
2,018 พันล้านโครนเดนมาร์ก
ที่มา : Statistics Denmark (2016)

อัตราการเติบโตของ GDP
 
ร้อยละ 0.9
ที่มา : Statistics Denmark ( 2016 )
อัตราเงินเฟ้อ
 
ร้อยละ 0.3
ที่มา : Statistics Denmark ( 2016 )
อัตราการว่างงาน
 
ร้อยละ 4.2
ที่มา : Statistics Denmark ( 2016 )
สินค้านำเข้าสำคัญ
 
เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ธัญพืช และ เครื่องอุปโภคบริโภค
สินค้าส่งออกสำคัญ
 
เครื่องมือในอุตสาหกรรม เนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อ ผลิตภัณฑ์ อาหาร/นม อาหารทะเล ยา เฟอร์นิเจอร์ และกังหันลม

ความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก

ด้านการทูต

ประเทศไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันครั้งแรกในสมัย กรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2164 ( ค.ศ. 1621 ) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีและได้นำปืนไฟมาขาย ต่อมา ชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี 2313 ( ค.ศ. 1770 ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและเดนมาร์กได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ ( Treaty of Friendship, Commerce and Navigation ) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2401 ( ค.ศ. 1858 ) หลังจากนั้น ทั้งสองประเทศได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกัน
ไทยและเดนมาร์กมีความสัมพันธ์ยาวนานซึ่งดำเนินไปด้วยความราบรื่น ในบรรยากาศของมิตรไมตรีและความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกันมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับพระประมุข พระบรมวงศานุวงศ์ และผู้นำรัฐบาล ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6- 9 กันยายน 2503 ในขณะที่ฝ่ายเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถระหว่างวันที่ 7- 12 กุมภาพันธ์ 2544

ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับเดนมาร์กเป็นไปโดยราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำของรัฐบาลไทยและเดนมาร์ก ทั้งสองฝ่ายได้ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในเวทีการเมือง ระหว่างประเทศด้วยดีในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งสองประเทศไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี สำหรับในกรอบความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี ไทยและเดนมาร์กได้มีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบความสัมพันธ์อาเซียนกับสหภาพยุโรป ( ASEAN-EU ) และกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป ( Asia-Europe meeting : ASEM ) รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( Organization for Security and Cooperation in Europe : OSCE )

ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

การค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2559 มีมูลค่าการค้ารวม 492 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กเป็นมูลค่า 293 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเดนมาร์กเป็นมูลค่า 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า มูลค่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Read more: Sevilla FC

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์ก ได้แก่ รองเท้าและชิ้นส่วน แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ในครัวและบ้านเรือน สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเดนมาร์กที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
( ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร )

การลงทุน

ในปี 2556-2558 มีบริษัทเดนมาร์กยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยผ่านสำนักคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน ( BOI ) จำนวน 28 โครงการ เป็นมูลค่า 6,589 ล้านโครนเดนมาร์ก
บริษัทข้ามชาติของเดนมาร์กที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทย อาทิ LEGO, ECCO, Pandora, Georg Jensen, Royal Copenhagen, Maersk Line, RICE และ Novo Nordisk เป็นต้น
สำหรับการลงทุนจากไทยในเดนมาร์กนั้น จากข้อมูลของ Statistics Denmark พบว่า ในปี 2557 ไทยลงทุนในเดนมาร์กเป็นมูลค่าประมาณ 9,703 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นลำดับที่ 29 ของการลงทุนจากประเทศในเดนมาร์ก โดยบริษัทของไทยที่เข้ามาลงทุนในเดนมาร์ก อาทิ Central Group ( ค้าปลีก ), CPF ( อาหารแช่แข็ง ) และ Blue Elephant ( ภัตตาคาร ) เป็นต้น
การค้าระหว่างประเทศ
ในปี 2559 การค้าระหว่างประเทศของเดนมาร์กมีมูลค่าการค้ารวม 89, 348.2 ล้านโครนเดนมาร์ก โดยเดนมาร์กส่งออกไปต่างประเทศเป็นมูลค่า 50,219.1 ล้านโครนเดนมาร์ก และเดนมาร์กนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีมูลค่า 39,129.1 ล้านโครนเดนมาร์ก เดนมาร์กส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวีเดน สหราชอาณาจักร และจีน ในขณะที่เดนมาร์กนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ จีน และสหราชอาณาจักร
( ที่มา : Denmark Statistics )

การท่องเที่ยว

ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่รู้จัก และมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับประเทศไทยและคนไทย โดยในปี 2559 มีชาวเดนมาร์กเดินทางไปประเทศไทยแล้วจำนวน 119,712 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 5.44 โดยส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปเที่ยวกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเกาะสมุย นักท่องเที่ยวเดนมาร์กเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูง นิยมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่ เดนมาร์กจึงเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายของไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน โครงการพำนักระยะยาว
เมื่อต้นปี 2558 บริษัท Jysk Travel Agency ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ในเดนมาร์กได้สอบถามลูกค้าเกี่ยวกับ พฤติกรรมการท่องเที่ยวและแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2558 ผลปรากฏว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชาวเดนมาร์กอยากไปเที่ยวมากที่สุด รองลงไป คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เปรู แคนาดา อาร์เจนตินา แทนซาเนีย และแอฟริกาใต้

ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในเดนมาร์กประมาณ 15,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าว มีทั้งที่สมรสกับชาวเดนมาร์ก และที่เดินทางเข้ามาทำงานในร้านอาหาร โรงแรม และศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ชาวเดนมาร์กจำนวนมากรู้จักและชื่นชอบอาหารไทย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีชาวเดนมาร์กจำนวนหนึ่งเรียนภาษาไทยและมวยไทยด้วย นอกเหนือจากการเดินทางมาท่องเที่ยวในเดนมาร์กแล้ว นักท่องเที่ยวไทยจำนวนหนึ่งก็เข้ามาในเดนมาร์กเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม เช่น นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ อีกทั้งพบว่า ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา นักวิจัยและผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนเดินทางมาศึกษาและดูงานในเดนมาร์กมาก ขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมายังเดนมาร์กยังมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบ กับนักท่องเที่ยวเดนมาร์กที่เดินทางไปประเทศไทย
การต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศของเดนมาร์กมีเป้าหมายสำคัญในการรักษาความมั่นคงแห่ง ชาติ ทำนุบำรุงความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเดนมาร์กอย่างดีที่สุด และส่งเสริมมาตรฐานและค่านิยมที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเน้นนโยบายที่มีเป้าหมายให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและป้องกัน ความขัดแย้ง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างความประนีประนอมในบริเวณที่มีความขัดแย้งด้วยการร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ ( UN ) องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( NATO ) และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( Organization for Security and Cooperation in Europe : OCSE )
การต่างประเทศของเดนมาร์กในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นทวิภาคีและพหุพาคี อาทิ ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป ( EU ) ภูมิภาคนอร์ดิก ภูมิภาคอาร์กติก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
********************************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน