ไม่ได้เขียนบทความนอกเหนือจากแฟนตาซีมาซะนานนะครับ แต่ในเมื่อซีซันฟุตบอลสโมสรรูดม่านปิดฉากไปแล้ว บวกกับกำลังจะมีศึก “UEFA EURO 2020” มาให้คอบอลได้ลุ้นกัน จะไม่นำทุกท่านไปทำความรู้จัก ก็กระไรอยู่ ยิ่งตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับ Fantasy EURO อยู่แล้วด้วย
ยูโรหนก่อนคือปี 2016 ที่ “ฝอยทอง” โปรตุเกส เฉือน “ตราไก่” ฝรั่งเศส จากประตูของเอแดร์
(Source : UEFA)
พูดถึงฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยูโร” แฟนบอลทั้งหลายทั้งขาประจำและขาจร คงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมันถือเป็นรายการแข่งขันระดับทีมชาติ ที่ยิ่งใหญ่เป็นรองแค่ฟุตบอลโลกเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ยูโรหนนี้มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ พอสมควร ไม่ว่าจะรูปแบบการจัดแข่งขัน และการเลื่อนเตะมา 1 ปี ดังนั้นคงไม่เสียเวลาเกินไป ที่จะแนะนำตัวไอ้เจ้ายูโร 2020 หนนี้ให้ทุกท่านรู้จักกันใหม่แต่แรก
ยูโร 2020 แปลกจากครั้งอื่น
เริ่มจากชื่อก่อนเลย เชื่อว่ามีหลายคนสับสนว่าปีนี้ 2021 แท้ๆ แต่ทำไมเรียก “ยูโร 2020” คำตอบก็คือยูโรครั้งนี้ เดิมทีจะจัดกันตั้งแต่ปีที่แล้ว ( 2020 ) แต่ถูกโควิด-19 เล่นงาน ด้วยสถานการณ์อันตึงเครียด ก็เลยต้องย้ายยาวมา 1 ปี มาเตะกันปีนี้แทน แต่ก็ยังคงชื่อยูโร 2020 ไว้
ไอเดียการจัดยูโร 2020 เริ่มมาจาก “มิเชล พลาตินี่” ตั้งแต่แกยังนั่งเป็นประธานยูฟ่า
(Source : Anadolu Agency) นอกจากเรื่องชื่อแล้ว “ยูโร 2020” ยังมีความประหลาดในตัวมันอยู่แต่แรก เพราะเป็นไอเดียของ “มิเชล พลาตินี” ประธานยูฟ่าคนเก่า ซึ่งตั้งต้นอยากให้ทัวร์นาเมนท์นี้ เป็นการเฉลิมฉลอง 60 ปี อันโรแมนติกของการแข่งขันยูโร นอกจากรอบคัดเลือกอันมึนงงแล้ว ( มีเนชันส์ ลีก – ไม่ขออธิบายนะครับ เพราะรายละเอียดเยอะ ) ยังมีประเทศเป็นเจ้าภาพรอบสุดท้ายถึง 13 ชาติ
อย่างไรก็ดี จากความไม่พร้อมบางประการ ทำให้มี 2 ชาติเจ้าภาพที่ถอนตัวไป ได้แก่ กรุงบรัสเซลส์ ( เบลเยี่ยม ) และกรุงดับลิน ( ไอร์แลนด์ ) ทำให้เหลือเจ้าภาพ 11 เมือง 11 ชาติ โดยหนึ่งในนั้นคือสเปน ที่ยังคงเป็นชาติเจ้าภาพ แต่ทำการเปลี่ยนเมืองจากบิลเบา ไปเป็นเซบีญ่า แทน
โฉมหน้า 11 สนาม จาก 11 เมือง ที่จะเป็นเจ้าภาพยูโร 2020 ในครั้งนี้
(Source : Wikipedia)จาก 11 เมืองเจ้าภาพ “เวมบลีย์” ในกรุงลอนดอน จะเป็นสถานที่จัดรอบรองฯ และรอบชิงฯ
(Source : UEFA) โดยรอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ ยังคงเตะกันที่สนาม “นิว เวมบลีย์” ของอังกฤษเหมือนที่พลาตินี่ตั้งใจไว้ ( ฟุตบอลกลับสู่บ้านเกิด ) ส่วนเมืองอื่นๆ ก็กระจายจัดกันไป โดยทั้ง 11 เมือง ( รวมถึงลอนดอน ) ถูกใช้แข่งรอบแรกหรือรอบแบ่งกลุ่มกันครบครัน มันเลยอาจจะงงๆ สถานที่หน่อย ซึ่งเราค่อยไปว่ากันตอนพูดถึงทีมแต่ละกลุ่ม
นอกจากนั้น แต่ละสนามก็จะมีการกำหนดจำนวนแฟนบอลเข้าสนามแตกต่างกันไป แล้วแต่สถานการณ์โควิด-19 ของแต่ละชาติ ตัวอย่างเช่น บูดาเปสท์ ( ฮังการี ) ให้แฟนบอลเข้าชมได้เต็มความจุ แต่ ลอนดอน ( อังกฤษ ) ให้เข้าชมได้แค่ 25 % ในเบื้องต้น
ยูโร 2020 หนนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ยูโรใช้ VAR เข้ามาร่วมตัดสินในอีกด้วย
(Source : 90Min) ปิดท้ายความต่างด้วยอีก 2 เรื่องที่สำคัญ นั่นคือการแข่งขันครั้งนี้จะใช้ VAR เป็นครั้งแรกของศึกยูโร และยังจะเป็นครั้งแรก ที่อนุญาตให้แต่ละทีมมีขนนักเตะไปรอบสุดท้ายได้ 26 คน ( ปกติสูงสุด 23 คน ) เพราะซีซันที่เพิ่งจบไป นักเตะกรำศึกกันหนักมากกับสโมสร
กำหนดการแข่งขัน
การแข่งขันยูโร 2020 ยังคงมีทีมเข้าแข่งจำนวน 24 ทีม เช่นเดียวกับยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เพิ่มจำนวนทีมมากขึ้นจาก 16 ทีมในครั้งก่อนๆ
รอบแบ่งกลุ่ม (6 กลุ่ม) จะเตะกันทีมละ 3 นัด ระหว่าง 11-23 มิ.ย. ก่อนเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ต่อไป
(Source : YouTube, Wikipedia) รอบแบ่งกลุ่ม แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ( A-F ) กลุ่มละ 4 ทีม แข่งแบบพบกันหมดนัดเดียว ( เตะทีมละ 3 แมทช์ ) เพื่อหาทีมผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งได้แก่ แชมป์และรองแชมป์แต่ละกลุ่ม ( รวม 12 ทีม ) และทีมอันดับ 3 ที่ดีที่สุดอีก 4 ทีม
ตั้งแต่รอบ 16 ทีมเป็นต้นไป จะเตะกันแบบน็อคเอาท์ ไปชิงกันที่ลอนดอน 11 ก.ค.
(Source : Wikipedia) หลังจากนั้นก็จะเตะแบบน็อคเอาท์นัดเดียวรู้ผล จนได้แชมป์ โดยไม่มีการชิงอันดับที่ 3 เหมือนฟุตบอลโลกแต่อย่างใด รวมทั้งทัวร์นาเมนท์ เตะกันทิ้งสิ้น 51 แมทช์
ทำความรู้จัก 24 ทีม
กลุ่ม A
(เวลาที่แสดงในภาพกลุ่มทุกกลุ่มในหัวข้อนี้ เป็นเวลาไทยแล้วครับ)
(Source : UEFA)
ทีม : ตุรกี, อิตาลี, เวลส์, สวิตเซอร์แลนด์
เจ้าภาพ : โรม (อิตาลี), บากู (อาเซอร์ไบจัน)
เนื่องจากอาเซอร์ไบจันไม่ได้ผ่านเข้ารอบมา ทำให้มีเพียง “มักกะโรนี” อิตาลี ชาติเดียวที่ได้เตะในบ้านทั้ง 3 แมทช์ในรอบแรก โดยทีมอื่นๆ ต้องเล่นที่โรม 1 นัด ( ที่เจอกับอิตาลี ) และที่บากู 2 นัด
อิตาลี ที่โชว์ผลงานรอบคัดเลือกได้แข็งแกร่ง ชนะรวด
(Source : AS) ตัวเต็งหนีไม่พ้นอิตาลี ที่ “โรแบร์โต้ มันชินี” ทำสถิติแข็งแกร่ง ชนะ 10 นัดรวดในรอบคัดเลือก แถมเสียไปเพียง 4 ประตู จากการลงเล่น 10 นัด เก็บคลีนชีตไปถึง 6 นัด ถึงจะเสียประตูน้อยนิด แต่มันชินียืนยันว่าเขาชอบการเล่นเกมรุก แม้ “อัซซูรี” จะขึ้นชื่อลือชาเรื่องเกมรับมาตลอดก็ตาม
จุดเด่นอีกอย่างของอัซซูรีหนนี้ คือทีมเวิร์คที่มีนักเตะช่วยกันผลิตสกอร์หลากหลาย ดาวซัลโวรอบคัดเลือกของพวกเขาคือ “อันเดรีย เบล็อตติ” ที่ยิงไปแค่ 4 ประตู แต่มีอีกถึง 4 รายที่ยิงกันคนละ 3 ประตู ส่วนแนวรับ ถึงจะบอกว่าเน้นรุก แต่ก็ยังมีตัวเก๋าๆ อย่าง “จอร์โจ้ คิเอลลินี” และ “เลอันโดร โบนุชชี” ยืนเป็นปราการแกร่งอยู่
สวิสมาด้วยนักเตะผสมผสานตัวเก๋ากับตัวอายุน้อย มีประสบการณ์จากลีกใหญ่ๆ ยุโรปทั้งนั้น
(Source : 90Min) ทีมอื่นในกลุ่ม เริ่มจาก “แดนนาฬิกา” สวิตเซอร์แลนด์ คุมทีมโดย “วลาดิเมียร์ เพ็ตโควิช” ที่กุมบังเหียนมายาวตั้งแต่ปี 2014 โดยสวิสเข้ารอบสุดท้ายมาด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเช่นกัน มีดาวเตะที่แฟนบอลบ้านเราคุ้นหูอย่าง “กรานิต ชาก้า”, “เชอร์ดาน ชากิรี” หรือตัวเลือดใหม่ของทีมอย่าง “นิโก้ เอลเวดี้” และ “เดนิส ซาคาเรีย” ที่มีหลายทีมยุโรปจับตามอง
ขุนพลเติร์ก ทำผลงานได้ไม่เลวเลย แม้จะไม่มีบิ๊กเนมให้ตื่นตาตื่นใจมากมาย
(Source : Anadolu Agency) “ตราไก่งวง” ตุรกี เป็นอีกทีมที่เคยสร้างเซอร์ไพรส์ในฟุตบอลรายการเมเจอร์ ถึงช่วงหลังจะแผ่วไปก็ตาม คุมทัพมาโดย “เซนอล กูเนส” กุนซือที่เคยพาทัพเติร์กจบถึงอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2002 โดยเป็นการกลับมาคุมทัพคำรบที่สอง
ครั้งนี้ กูเนสมีแกนหลักของทีมอย่าง “เคกลาร์ โซยุนชู”, “โอซาน คาบัค”, “ฮาคาน ชันฮันโนกลู” และกองหน้าตัวเก๋าที่ระเบิดฟอร์มพาลีลล์คว้าแชมป์ลีกเอิงอย่าง “บูรัค อิลมาซ” ที่น่าจะสวมปลอกแขนกัปตันทีมนำทัพ
“มังกรแดง” เวลส์ ผ่านเข้ารอบรายการเมเจอร์ได้อีกครั้ง นำโดยกัปตันเบล
(Source : The Guardian) ปิดท้ายด้วย “มังกรแดง” เวลส์ ที่แม้จะยังวุ่นกับคดีความของนายใหญ่ “ไรอัน กิกส์” แต่ก็ขนนักเตะที่ดีที่สุดมาพร้อมรบ นำโดย “แกเร็ธ เบล” ที่ดูฟอร์มจะกลับมาแล้ว, “อารอน แรมซีย์” ห้องเครื่องจากยูเวนตุส, “แฮร์รี วิลสัน” จอมซัดฟรีคิกตัวยืมจากลิเวอร์พูล และ “เบน เดวีส์” กองหลังจากสเปอร์
กลุ่ม B
(Source : UEFA)
ทีม : เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, เบลเยียม, รัสเซีย
เจ้าภาพ : เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (รัสเซีย), โคเปนเฮเก้น (เดนมาร์ก)
กลุ่มนี้มีทีมเจ้าภาพถึง 2 ทีม โดยเป็นเดนมาร์ก ที่จะได้เล่นในบ้านทั้ง 3 นัด และรัสเซียได้เล่นในบ้าน 2 นัด ก่อนจะปิดท้ายด้วยการไปเยือนเดนมาร์ก ส่วนฟินแลนด์และเบลเยียม ก็ต้องเตะที่เดนมาร์กทีมละ 1 นัด และรัสเซีย 2 นัด
อีกหนึ่งตัวเต็งหนนี้อย่างเบลเยี่ยม ยังคงขนนักเตะชุดเดิมๆ มากันครบครัน
(Source : Bleacher Report) ถึงจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพ แต่เต็ง 1 ของกลุ่มหนีไม่พ้น “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” เบลเยียม ที่ครองอันดับ 1 ของโลกใน FIFA Ranking ปัจจุบัน ลูกทีมของ “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” เป็นอีกทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกมาแบบชนะ 10 นัดรวด เสียแค่ 3 ประตู และยิงได้ถึง 40 ประตู เรียกว่าเฉลี่ยยิงนัดละ 4 ลูก โหดเหี้ยมมาก !
เรื่องตัวนักเตะ มาร์ติเนซเลือกใช้นักเตะหน้าเดิมติดทัพมาเพียบ นำโดย “เอแดน อาซาร์”, “โรเมลู ลูกากู”, “ยูริ เทเลม็องส์”, “ธิโบต์ กูร์กตัวส์” และตัวที่ฟอร์มสโมสรอาจจะดูไม่น่าติด แต่มักจะโชว์ฟอร์มในนามทีมชาติได้ดี เช่น “มิทชี บัซชัวอายี” ส่วนที่ต้องลุ้นกันหนักหน่อย คือจอมทัพคนสำคัญ “เควิน เด บรอยน์” ที่เพิ่งบาดเจ็บใบหน้าจากรอบชิง UCL อาการไม่สู้ดีเท่าไหร่
ทัพ “โคนม” มีตัวประสบการณ์ที่ไม่ควรประมาท อยู่ไม่น้อยเลย
(Source : Sky Sports) พูดถึงทีมอื่นกันต่อ “โคนม” เดนมาร์ก เข้ารอบมาแบบเหนื่อยเล็กน้อย นักเตะผสมผสานตัวเก๋า และตัวมีประสบการณ์หลายตัว มี “แคสเปอร์ ชไมเคิล”, “แอนเดรส คริสเตนเซ่น”, “ปิแอร์ เอมิล-ฮอยเบียร์ก”, “คริสเตียน อีริคเซ่น” คุมทีมโดย “แคสเปอร์ ฮุจ์ลมานด์” กุนซือที่เพิ่งเข้ามารับงานเมื่อปีที่แล้ว แต่ทำผลงานได้ดีทีเดียว ชนะถึง 73 % จาก 11 นัด
อีกทีมแกร่งประจำกลุ่มอย่างรัสเซีย ที่ถ่ายเลือดจากฟุตบอลโลกไปพอสมควร
(Source : Caspian News) “หมีขาว” รัสเซีย ระยะหลังเป็นขาประจำของทัวร์นาเมนท์ใหญ่ไปซะแล้ว โดยรอบคัดเลือก หากไม่นับการปราชัยแพ้เบลเยียม 2 นัด พวกเขาเก็บชัยในอีก 8 นัดที่เหลือได้หมด หัวหอกทำประตูยังเป็นกองหน้าร่างยักษ์ “ฮาเต็ม ซูบ้า” กัปตันทีมที่ยิงรอบคัดเลือกไปถึง 9 ประตู พร้อมตัวปั้นเกมอย่าง “อเล็กซานเดอร์ โกโลวิน” และ “เดนิส ชิริเชฟ” ที่เด่นในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด คุมทีมโดย “สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ” อดีตโกล์ทีมชาติ ที่มีประสบการณ์คุมทีมส่วนใหญ่ในประเทศ
รายการเมเจอร์ครั้งแรกของฟินแลนด์ ต้องฝากความหวังไว้กับ “ติมู ปุ๊คกิ”
(Source : CGTN) ทีมสุดท้ายคือ “นกเค้าอินทรี” ( ฉายาของพวกเขาคือ Huuhkajat ที่ฝรั่งแปลว่า The Eagle-owls ) ฟินแลนด์ ผ่านเข้าเล่นรอบสุดท้ายรายการเมเจอร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยิ่งใหญ่ขนาดที่แฟนบอลฟินแลนด์หลายคน ยกย่องให้ดาวซัลโวของพวกเขา “ติมู ปุ๊คกิ” ที่ยิงรอบคัดเลือก 10 ประตู เป็นนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาลไปแล้ว
นอกจากปุ๊คกิที่แฟนบอลบ้านเราคุ้นเคยเมื่อครั้งขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกกับนอริช พวกเขายังมี “เฟรดริก เจนเซ่น” ดาวเตะวัย 23 ปี จากเอาก์บวร์ก และ “ลูคัส ฮราเด็กกี้” นายทวารจอมหนึบของเลเวอร์คูเซ่น เป็นตัวชูโรง คุมทีมโดย “มาร์คคู คาเนอร์วา” กุนซือที่เลื่อนชั้นจากผู้ช่วยผู้จัดการทีม ขึ้นมาเป็นนายใหญ่ตั้งแต่ปี 2016
กลุ่ม C
(Source : UEFA)
ทีม : ฮอลแลนด์, ยูเครน, ออสเตรีย, นอร์ทมาซิโดเนีย
เจ้าภาพ : อัมสเตอร์ดัม (ฮอลแลนด์), บูคาเรสต์ (โรมาเนีย)
กลุ่มนี้โรมาเนีย หนึ่งในสังเวียนเตะไม่ได้ผ่านเข้ารอบมา ทำให้มีฮอลแลนด์ทีมเดียวที่ได้เล่นในบ้าน 3 นัด โดยอีก 3 ทีมที่เหลือ ต้องไปเตะที่โรมาเนีย 2 นัด และเตะที่ดินแดนดัทช์ 1 นัด
ไวจ์นาดุม และเดปาย 2 นักเตะสำคัญ ที่ยิงประตูสูงสุดในรอบคัดเลือก
(Source : Eurosport) เต็งด้วย และเป็นเจ้าภาพอีกต่างหาก หนีไม่พ้น “กังหันลมสีส้ม” ฮอลแลนด์ ที่พลาดไม่ได้เข้ารอบสุดท้ายทั้งยูโร 2016 และฟุตบอลโลก 2018 เรียกว่าขุนพลดัทช์รอคอยทัวร์นาเมนท์เมเจอร์มานานถึง 5 ปี คราวนี้พวกเขาคุมทีมมาโดย “แฟรงค์ เด บัวร์” อดีตกองหลังตำนานของทีม
อัศวินสีส้ม ต้องขาดกัปตันทีม “เวอร์จิล ฟาน ไดค์” ที่ตัดสินใจไม่เสี่ยงลงเล่น เพราะยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บหนัก ทำให้ปลอกแขนตกเป็นของคู่หู “จอร์จินิโอ ไวจ์นาดุม” กองกลางที่กำลังจะหมดสัญญากับลิเวอร์พูล โดยจินี่ยิงได้ถึง 8 ประตูในรอบคัดเลือก เป็นดาวซัลโวของทีม ตามมาด้วย “เม็มฟิส เดปาย” ที่ยิง 6 ประตู ส่วนแนวรับยังมี “มาไธส์ เด ลิกต์” กับ “สเตฟาน เด ฟรายจ์” คู่กองหลังที่ค้าแข้งอยู่ในอิตาลี เป็นกำลังสำคัญ
ยูเครน ภายใต้การคุมทีมของนักเตะตำนาน “อังเดร เชฟเชนโก้” ผลงานไม่เลวเลย
(Source : New Straits Times) ทีมที่น่าจับตามองรองลงมาคงเป็น “เหลือง-ฟ้า” ยูเครน ( ฉายาตามภาษาอังกฤษว่า The Yellow and Blue ) ที่สามารถคว้าแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกเหนือแชมป์เก่าโปรตุเกส โดยยูเครนคุมทีมโดย “อังเดร เชฟเชนโก้” ตำนานกองหน้าที่อายุเพียง 44 ปี
ส่วนนักเตะที่ชื่อเสียงเรียงนามคุ้นเคย ก็อย่าง “อังเดร ยาร์โมเลนโก้”, “โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้” และ “มิโคล่า ชาปาเรนโก้” ดาวเตะคลื่นลูกใหม่วัย 22 ปี จากดินาโม เคียฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเตะเลือดใหม่หลายรายที่เชว่าให้โอกาส รวมถึง “รัสลัน มาลินอฟสกี้” กองกลางฟอร์มดีจากอตาลันต้า
ออสเตรียยังเต็มไปด้วยนักเตะมากประสบการณ์ นำโดยอลาบ้า ดาวเตะสารพัดประโยชน์ตัวเก่ง
(Source : 90Min) “วิหคเพลิง” ออสเตรีย สามารถเข้ามาสู่รอบสุดท้ายยูโรได้ 2 ครั้งติดต่อกัน นำทัพมาโดย “ดาวิด อลาบ้า” ว่าที่นักเตะใหม่ของเรอัล มาดริด ร่วมแจมด้วย “มาร์เซล ชบิตเซอร์”, “คอนราด ไลเมอร์” 2 นักเตะไลป์ซิก รวมถึง “มาร์โก้ อาเนาโตวิช” กองหน้าแบดบอยที่เป็นดาวซัลโวของทีมในรอบคัดเลือก คุมทีมโดย “ฟรังโก้ โฟด้า” กุนซือเยอรมัน ที่ทำงานโค้ชในออสเตรียมาตั้งแต่ต้น
นอร์ทมาซิโดเนีย สร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
(Source : Goal.com) ปิดท้ายด้วยน้องใหม่นอร์ทมาซิโดเนีย ที่มีฉายาว่า “ลิงซ์แดง” ( ลิงซ์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นเสือขนาดเล็ก โดย Lynxes เป็นฉายาของทีม ) หรือ “สิงโตแดง” ( อีกฉายา Red Lions ) เป็นหนึ่งในชาติที่แยกตัวออกมาจากยูโกสลาเวีย โดยพวกเขาผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายรายการเมเจอร์ได้เป็นหนแรก หลังจบอันดับ 3 ในรอบคัดเลือก และได้สิทธิ์ไปเพลย์ออฟใน Path D ก่อนเอาชนะลัตเวียในรอบชิงเพลย์ออฟมาได้
“อิกอร์ แองเจลอฟสกี้” กุนซือของพวกเขาอายุแค่เพียง 44 ปี เช่นเดียวกับเชฟเชนโก้ ขึ้นมารับบทนายใหญ่ตั้งแต่ปี 2015 และพาทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาอย่างยอดเยี่ยม นักเตะมีชื่อชั้นพอสมควร นำโดยจอมเก๋า “โกรัน ปานเดฟ” วัย 37 ปี ที่ยังค้าแข้งอยู่ในกัลโช เซเรีย อา รายอื่นก็อย่าง “เอซยานจ์ อลิออสกี้” ดาวเตะกราบซ้ายที่ยึดตัวจริงกับลีดส์ได้ต่อเนื่อง, “เอลีฟ เอลมาส” ดาวรุ่งจากนาโปลี ที่เริ่มทะลุขึ้นถึงชุดใหญ่บ่อยครั้ง และนายทวาร “สโตเล่ ดิมิเทรียฟสกี้” ที่ค้าแข้งอยู่กับราโย่ บาเญคาโน่ ในสเปน
กลุ่ม D
(Source : UEFA)
ทีม : อังกฤษ, โครเอเชีย, สก็อตแลนด์, สาธารณรัฐเช็ก
เจ้าภาพ : ลอนดอน (อังกฤษ), กลาสโกว์ (สก็อตแลนด์)
กลุ่มนี้มีเจ้าภาพ 2 ทีม แต่เป็นอังกฤษที่ได้เล่นในบ้านทั้ง 3 นัด โดยสก็อตแลนด์ได้เล่นในแฮมป์เด้น พาร์ค 2 นัด และต้องมาเยือนเวมบลีย์ 1 นัด ส่วนโครเอเชีย และเช็ก 2 ทีมจากยุโรปตะวันออก ต้องเล่นที่สก็อตแลนด์ 2 นัด และอังกฤษ 1 นัด
หลังทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลก อังกฤษก็มีนักเตะดีๆ ให้เลือกสรรแน่นขนัดอย่างต่อเนื่อง
(Source : Marca) หนึ่งในทีมที่น่าจะมีแฟนบอลเยอะที่สุดในบ้านเรา “สิงโตคำราม” อังกฤษ อุดมไปด้วยนักเตะคับคั่ง จนเล่นเอา “แกเร็ธ เซาธ์เกต” ต้องปวดหัวกับการเลือกนักเตะติดทีม โดยทัวร์นาเมนต์นี้ ถือเป็นรายการเมเจอร์ที่ 2 ของเขา หลังพาอังกฤษทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 ได้ ลบคำสบประมาทไปพอสมควรเลย
ขณะที่ผมเขียนบทวามอยู่ เซาธ์เกตยังไม่ประกาศรายชื่อ 26 คนสุดท้ายออกมา แต่แน่นอนว่าทีมจะนำทัพโดย “แฮร์รี เคน” กองหน้าดาวซัลโวสูงสุดรอบคัดเลือกของยูโร และกัปตันทีม ร่วมด้วยดาวเตะทีมชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “แฮร์รี แม็คไกวร์”, “มาร์คัส แรชฟอร์ด”, “เบน ชิลเวลล” พร้อมดาวโรจน์แห่งวงการ ทั้ง “จู๊ด เบลลิงแฮม”, “จาดอน ซานโช”, “ฟิล โฟเด้น” เรียกว่าทรัพยากรพร้อมสรรพ
“ลูก้า โมดริช” ยังคงนำทัพ “ตราหมากรุก” ลงเล่นอีกครั้ง โดยพวกเขามีนักเตะตัวเก๋าหลายตัว
(Source : YouTube) “ตราหมากรุก” โครเอเชีย สร้างผลงานมาสเตอร์พีซ ด้วยการเป็นรองแชมป์ในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย กุนซือของพวกเขายังเป็น “ซลัตโก้ ดาลิช” เหมือนเดิม นักเตะก็ยังอุดมไปด้วยตัวประสบการณ์มีคุณภาพอย่าง “ลูก้า โมดริช”, “อีวาน เปริซิซ”, “เดยัน ลอฟเรน” ร่วมด้วยกำลังเสริมทั้ง “อังเดรจ์ คามาริช”, “อันเต้ เรบิช”, “มาร์เซโล่ โบรโซวิช” ที่ต่างอยู่ในชุดรองแชมป์โลกทั้งนั้น
ผ่านบททดสอบรอบคัดเลือกมาโชกโชน กว่าทัพตาร์ตันจะผ่านเข้ารอบสุดท้ายรายการเมเจอร์อีกครั้ง
(Source : Eurosport) ห่างหายจากศึกเมเจอร์ ทั้งฟุตบอลโลกและยูโร ไปอย่างละ 5 สมัย หรือ 20 ปีนู่นเลย สำหรับ “วิสกี้” สก็อตแลนด์ ที่กลับมาโบกธงได้อีกหน หลังชนะเพลย์ออฟเหนือเซอร์เบียมาแบบต้องดวลจุดโทษ
กุนซือของพวกเขาคือ “สตีฟ คลาร์ก” อดีตกองหลังเชลซี ที่มีลูกทีมบู๊ไม่ถอยหลายราย ไม่ว่าจะเป็นกัปตันทีม “แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน”, อีกหนึ่งแบ็คซ้ายฟอร์มเด่น “คีแรน เทียร์นีย์”, กองกลางสารพัดประโยชน์จากค่ายแคร์ริงตัน “สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์”, มิดฟิลด์คนขยันจากวิลล่า “จอห์น แม็คกินน์” และกองหน้าจอมลุย “เช อดัมส์” ที่ตัดสินใจเลือกเล่นให้สก็อตแลนด์ เพราะโอกาสติดทีมชาติอังกฤษริบหรี่เหลือเกิน
แม้จะไม่ได้เป็นตัวเต็ง หรือม้ามืด แต่เช็กก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ไม้ประดับแน่
(Source : FourFourTwo) กลุ่มนี้จะว่าไปก็ใช่ย่อย เพราะอีกทีมคือสาธารณรัฐเช็ก ( ฉายาของเขาคือ Národák ที่ดันแปลว่า The National Team / เลยไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเลย ฮ่า ) ซึ่งไม่ธรรมดา เป็นทีมเดียวในรอบคัดเลือกที่ชนะอังกฤษได้ จนได้ตามเข้ารอบมาเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ก่อนจะจับมาเจอกันอีกหน
ถึงจะไม่ค่อยได้ไปจอยบอลโลกในหลายสมัยหลัง แต่กับศึกยูโร เช็กผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายมาได้ต่อเนื่อง หนนี้คุมทีมโดย “ยาโรสลาฟ ซิลฮาวี่” กุนซือเลือดเช็ก ที่มีประสบการณ์คุมทีมในประเทศแทบทั้งหมด นักเตะที่เห็นชื่อแล้วต้องร้องอ๋อได้แก่ “โธมัส ชูเซ็ค” กองกลางร่างโย่ง ที่เล่นให้เวสต์แฮมในลีกทุกนัด, “วลาดิเมียร์ คูฟาล” แบ็คพลังไดนาโมของขุนค้อนเช่นกัน, “พาทริค ชิค” กองหน้าสูงใหญ่ของเลเวอร์คูเซ่น และที่ต้องแอบเหล่คือดาวโรจน์ที่ยุโรปจับตามอง “อดัม โฮล์เซ็ค” วัยแค่ 18 ปี จากสปาร์ต้า ปราก
กลุ่ม E
(Source : UEFA)
ทีม : สเปน, สวีเดน, โปแลนด์, สโลวาเกีย
เจ้าภาพ : เซบีญ่า (สเปน), เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (รัสเซีย)
เห็นชื่อเมืองเจ้าภาพแล้วอาจจะงงหน่อยๆ ว่าทำไมมีรัสเซียซ้ำอีก เหตุมันเกิดเพราะทีมเจ้าภาพมันลดลงเหลือแค่ 11 เมือง มันเลยมีเศษที่ต้องรับหน้าสื่อจัดเตะรอบแรก 2 กลุ่ม ซึ่งเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ของรัสเซีย เป็นเมืองที่ว่านั้น
นั่นทำให้สเปนเป็นทีมเดียวที่ได้ลงเล่นในบ้าน 3 นัดรวด โดยทีมอื่น ต้องลงเล่นที่รัสเซีย 2 แมทช์ และสเปน 1 แมทช์ ว่ากันตามตรง อากาศ 2 ประเทศนี่มันต่างกันคนละเรื่องเลยนะเนี่ย !
หลังโผของเอ็นริเก้ไม่มีนักเตะมาดริดเลย ทำให้ “เซร์คิโอ รามอส” หลุดจากทีมแบบเซอร์ไพรส์
(Source : Bleacher Report) เต็งจ๋าแน่นอนว่าคือ “กระทิงดุ” สเปน ที่ “หลุยส์ เอ็นริเก้” โชว์เซอร์ไพรส์ไม่เรียกแข้งจากเรอัล มาดริด มาติดทีมชาติเลยซักรายเดียว แต่กลับมีชื่อของ “โรเบิร์ต ซานเชซ” นายทวารที่เพิ่งเล่นลีกสูงสุดแค่ครึ่งซีซันกับไบรท์ตัน และ “อดาม่า ตราโอเร่” พี่บึกจากวูล์ฟ ที่ฟอร์มหลุดมาตลอดซีซัน เลยโดนแซวว่ามี 2 คนนี้ แต่ไม่มีนักเตะพระกาฬอย่าง “เซร์คิโอ รามอส” ซะอย่างงั้น
ตัวเก๋าของกระทิงดุที่ยังอยู่ในโผ ก็อย่าง “เซร์คิโอ บุสเก็ตต์” และ “ฆอร์ดี้ อัลบา” จากบาร์เซโลน่า ผนึกกำลังกับพวกเลือดใหม่อย่าง “ดานี โอลโม่”, “เปา ตอร์เรส”, “แฟร์ราน ตอร์เรส”, “โรดรี้” รวมถึงพวก “ติอาโก้ อัลคันทาร่า”, “ดาวิด เด เกอา”, “อัลบาโร่ โมราต้า” และกองหน้าเนื้อหอม “เคราด์ โมเรโน่” ที่เพิ่งยิงพาบีญาร์เรอัล ซิวแชมป์ยูโรป้า ลีก มาหมาดๆ
สวีเดนมาลุยรอบสุดท้าย โดยขาดซลาตัน ที่ดันมาเจ็บเข่าไปซะก่อน
(Source : Complete Sports) “ไวกิ้ง” สวีเดน ( จริงๆ อีกฉายาที่บ้านเราเรียกคือ “ฟรีเซ็กซ์” ฮ่า ) ต้องขาดกองหน้าจอมเก๋า “ซลาตัน อิบราฮิโมวิช” ที่แม้จะกลับมาจากรีไทร์ แต่ดันเจ็บเข่าไปเสียก่อน ทำให้ต้องฝากความหวังแดนหน้ากับ “มาร์คุส เบิร์ก” หนึ่งในตัวเก๋า ที่ยังมีพวก “แอนเดรส กรันควิสท์”, “เซบาสเตียน ลาร์สัน”, “โรบิน โอลเซ่น” ติดทีมมาครบ
นอกจากนั้น ยังมีตัวน่าสนใจอย่าง “วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ” เซ็นเตอร์ฮาล์ฟจากแมนฯ ยู และดาวรุ่งฟอร์มกำลังฮ็อต “เดยัน คูลูเซฟสกี้” จากยูเวนตุส โดยกุนซือของพวกเขาคือ “แยน แอนเดอร์สสัน” ที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมือไม่ธรรมดาในวงการฟุตบอลสวีเดน
“โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้” ถูกจับตาแน่นอน ว่าฟอร์มถล่มประตู จะช่วยโปแลนด์ได้มากแค่ไหน
(Source : Kafkadesk) “นกอินทรี” โปแลนด์ ( ฉายาแปลเป็นอังกฤษว่า The Eagles ตามตราสัญลักษณ์ ) ต้องปรับเปลี่ยนกุนซือไปเมื่อต้นปี หลัง “เยอร์ซี่ เบอร์เซ็กเซ็ค” กุนซือที่พาพวกเขาจบเป็นแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือก โดนปลดออก เพราะผลงานในระยะหลังไม่ดี โดยสมาคมฟุตบอลโปแลนด์เลือกแต่งตั้ง “เปาโล ซูซ่า” อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติโปรตุเกส เข้ามาคุมทีมแทนเมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้นี่เอง
พูดถึงโปแลนด์ “โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้” คือตัวชูโรงอย่างไม่ต้องสงสัย หลังดาวซัลโวของทีมในรอบคัดเลือก ( 6 ประตู ) เพิ่งทำลายสถิติของบุนเดสลีก้า ด้วยการกดซีซันเดียวถึง 41 ประตู นักเตะรายอื่นที่น่าจับตาก็มี “ลูคาสซ์ ฟาเบียนสกี้” นายด่านจอมเก๋าของเวสต์แฮม ที่ต้องเบียดแย่งตำแหน่งกับ “วอยจ์เซียจ เชสซ์นี” อดีตเพื่อนร่วมทีมอาร์เซน่อล จากยูเวนตุส, “มาเตอุสซ์ คลิช” กองกลางเชิงดีจากลีดส์, “ปิออเตอร์ ซิลินสกี้” กองกลางจอมขยันจากนาโปลี และ “อคาเดอุสซ์ มิลิค” กองหน้าจากมาร์กเซย
“มาเร็ค ฮัมซิค” กัปตันทีมจอมเก๋าของสโลวาเกีย ที่ยังเป็นแกนหลักของทีมเสมอ
(Source : Belfast Telegraph) อีกทีมที่อาจจะถูกมองว่าเป็นเพียงไม้ประดับ นั่นคือสโลวาเกีย ( บ้านเราก็เรียกฉายาแค่สโลวัก / เพราะฉายาภาษาอังกฤษก็จะแปลเป็นพวก National Team แค่นั้น ) แต่ก็คงประมาทพวกเขาไม่ได้ซะทีเดียว เมื่อมีชื่อนักเตะอย่าง กัปตันทีม “มาเร็ค ฮัมซิค”, นายทวารมือดี “มาร์ติน ดูบราฟก้า”, “อ็องเดรจ์ ดูด้า” และ “สตานิสลาฟ โลบ็อตก้า” โดยกุนซือของพวกเขาคือ “สเตฟาน ทาร์โควิช” ที่กลับมาคุมทีมอีกครั้งเป็นหนที่ 2
กลุ่ม F
(Source : UEFA)
ทีม : ฮังการี, โปรตุเกส, ฝรั่งเศส, เยอรมัน
เจ้าภาพ : บูดาเปสต์ (ฮังการี), มิวนิค (เยอรมัน)
กลุ่มสุดท้าย แต่ความสนใจไม่ท้ายสุดแน่นอน เพราะมันคือ Group of Death ที่แท้จริง โดยเยอรมันจะได้เล่นในบ้านทั้ง 3 นัด, ฮังการีได้เล่นในบ้าน 2 นัด ก่อนต้องเยือนเยอรมันปิดท้าย, ส่วนอีก 2 ยักษ์ใหญ่ อย่างฝรั่งเศส ( แชมป์โลก ) และโปรตุเกส ( แชมป์เก่า ) จะต้องเล่นที่ฮังการี 2 นัด และเยอรมัน 1 นัด
แชมป์เก่าโปรตุเกส นำทัพมาโดย “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” พร้อมแนวรุกคุณภาพ
(Source : AS) คาดเดายากเลยว่าใครจะอยู่ใครจะไป แต่ขอพูดถึงแชมป์เก่าก่อน “ฝอยทอง” โปรตุเกส ยังคงคุมทัพโดย “เฟร์นานโด ซานโตส” ที่คุมทีมมาตั้งแต่ 2014 และพาทีมเถลิงแชมป์ยูโรหนที่แล้ว ส่วนนักเตะไม่ต้องคิดชื่อกันนาน กัปตัน “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” ยังนำทัพ พร้อมดาวเตะคุณภาพอีกเพียบ
“รูเบน ดิอาซ” ที่เล่นให้แมนฯ ซิตี้ ได้อย่างแข็งแกร่ง จะเป็นกำลังหลักในแนวรับ แดนกลางมีทั้ง “แบร์นาโด้ ซิลวา”, “บรูโน่ แฟร์นันด์ส” และ “เรนาโต้ ซานเซส” ที่เริ่มกลับมาเล่นได้เป็นผู้เป็นคน ส่วนแดนหน้านอกจากพี่โด้ ยังมี “อังเดร ซิลวา” และ “ดิโอโก้ โชต้า” ที่ฟอร์มกับต้นสังกัดฮ็อตทั้งคู่ บวกด้วย “เจา เฟลิกซ์” ดาวโรจน์ค่าตัวทะลุร้อยล้านปอนด์อีกต่างหาก !
การคุมทีมทัวร์นาเมนท์สุดท้ายของ “โยอาคิม เลิฟ” จะออกมาหมู่หรือจ่า
(Source : 90Min) “อินทรีเหล็ก” เยอรมัน ภายใต้การคุมทีมทัวร์นาเมนท์สุดท้ายของ “โยอาคิม เลิฟ” อาจจะมีฟอร์มสะดุดไปบ้างในระยะหลัง แต่ขึ้นชื่ออินทรีเหล็กแล้ว หากพวกเขากลับมาประสานงานได้ลงตัวได้เมื่อไหร่ รับรองว่าน่ากลัวในรายการเมเจอร์เสมอ
“มานูเอล นอยเยอร์” ยังคงเป็นมือ 1 ที่ไว้ใจได้เสมอ แนวรับ “อันโตนิโอ รูดิเกอร์” ฟอร์มกำลังสด เช่นเดียวกับแดนกลางที่มีทั้ง “โยซัว คิมมิช”, “อิลกาย กุนโดกัน”, “โทนี โครส” และ “เลออน โกเร็ตซ์ก้า” แนวรุกมีทั้งจอมแอสซิสต์ “โธมัส มุลเลอร์” ที่กลับมาติดทีมชาติ และตัวความเร็วสูงอย่าง “แซร์จ นาบรี้” ส่วน “ติโม แวร์เนอร์” กองหน้าธรรมชาติของทีม คงถูกจับตาเช่นกัน หลังปืนฝืดเหลือเกินในช่วงขวบปีหลัง
อีกหนึ่งทีมขุมกำลังพร้อมรบ หนีไม่พ้น “ตราไก่” ฝรั่งเศส ที่ขนสตาร์มาพร้อมเพรียง
(Source : RFI) “ตราไก่” ฝรั่งเศส เจ้าของแชมป์โลกทีมล่าสุด คุณภาพคับแก้วแบบไม่ต้องสงสัย ยิ่งล่าสุดกุนซือ “ดิดิเยร์ เดส์ช็องส์” ยุติความบาดหมางกับ “คาริม เบนเซม่า” และกลับมาเรียกตัวกองหน้าคุณภาพรายนี้มาติดทีมชาติอีกครั้ง ยิ่งน่าจะแก้ปัญหากองหน้าตัวเป้าไม่ค่อยผลิตสกอร์ได้อย่างดี
ตัวอื่นไม่ต้องพูดถึง “คิลิยัน เอ็มปับเป้”, “เอ็นโกโล่ ก็องเต้”, “ปอล ป็อกบา”, “คิงส์ลีย์ โกม็อง” คือชื่อที่การันตีคุณภาพ ยังไม่รวมดาวซัลโวยูโรหนที่แล้ว “อ็องตวน กรีซมันน์” และเพื่อนร่วมทีมบาร์เซโลน่าอย่าง “อูซมาน เด็มเบเล่” ที่หวังจะเรียกฟอร์มในเวทีทีมชาติ หลังฟอร์มกับสโมสรยังลุ่มๆ ดอนๆ
ทีมที่คาดว่าจะรับบทหนักที่สุดคือฮังการี ที่ดันมาอยู่ในกลุ่มหฤโหด
(Source : Hungary Today) “แม็กยาร์” ฮังการี คือทีมที่ถูกมองว่าน่าสงสารที่สุด เพราะมีโอกาสเป็นที่รองรับอารมณ์ของ 3 ยักษ์ใหญ่สูง พวกเขาเข้ารอบสุดท้ายยูโรได้เป็นหนที่ 2 ติดต่อกัน หลังเพลย์ออฟเฉือนไอซ์แลนด์มาได้ 2-1
กุนซือของพวกเขาคือ “มาร์โก รอสซี่” ชาวอิตาลีที่ไม่ได้มีโปรไฟล์คุมทีมโด่งดังอะไร แต่ก็คุ้นเคยกับฟุตบอลฮังการีดีพอสมควร และคุมทีมชาติมาตั้งแต่ 2018 นักเตะตัวหลักของเขาคือกัปตันทีม “อดัม ซาไล”, มิดฟิลด์ดาวรุ่งดวงใหม่ “โดมินิก โซบอสซ์ไล” และนายด่านจอมเหนียวจากไลป์ซิก “ปีเตอร์ กูลัคชี่”
มาสค็อต และเพลง
คงไม่มีอะไรปิดท้ายได้ดีกว่า “สีสัน” ของการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่า “มาสค็อต” และ “เพลงประจำทัวร์นาเมนต์” เป็นอะไรที่ถูกจับตามองเสมอ แม้ครั้งนี้จะสนุกสนานกันได้ไม่เต็มที่ก็ตาม
“สกิลซี่” มาสค็อตประจำยูโร 2020 ตัวแทนของลีลาฟุตบอลที่เป็นเสน่ห์ของโลกลูกหนัง
(Source : Goal.com) มาสค็อตประจำการแข่งขันมีชื่อว่า “สกิลซี่” ( Skillzy ) คาแรคเตอร์เป็นเด็กผู้ชาย โดยได้รับแรงบันดาลใจของสีสันจากสตรีทฟุตบอล, ฟรีสไตล์ฟุตบอล และสกิลแตะบอลลอดขา ที่เป็นตัวแทนของสกิลฟุตบอลที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ก็เป็นที่ชื่นชอบของทุกผู้ทุกคนเสมอ
ส่วนเรื่องของเพลงประจำทัวร์นาเมนท์ แต่เริ่มเมื่อปี 2019 ( ก่อนมีการเลื่อนแข่ง ) “มาร์ติน การ์ริกซ์” ดีเจชาวดัทช์ ได้รับมอบหมายให้เป็นศิลปินในการดูแลเพลงทั้งหมดของการแข่งขัน ทั้งธีมเพลงในช่วงต่างๆ และเพลงหลักในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุดก็ได้ปล่อยเพลงออกมาเรียบร้อย โดยมีชื่อว่า “We Are the People”
[Source : YouTube (Martin Garrix)]
เพลง “We Are the People” การ์ริกซ์ได้ Bono และ The Edge สองสมาชิกของวงร็อคตำนาน U2 มาร่วมแจมด้วย โดยเพลงนี้จะมีการแสดงครั้งแรกอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดที่กรุงโรมวันที่ 11 มิ.ย. นี้
ครบจบกันแบบเต็มอิ่ม น่าจะตอบข้อสงสัยของยูโร 2020 หนนี้ให้ใครหลายคน เพราะบ้านเรากระแสก็ไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้างนัก โดนโควิด-19 กลบซะเยอะ จนเราอาจจะต้องไปหาดูผ่าน UEFA TV เพราะดูท่าจะไม่มีเจ้าไหนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดในไทยค่อนข้างแน่
Read more: Swansea City A.F.C.
ใครอยากติดตาม Fantasy EURO 2020 เดี๋ยวจะอัปเดตวิธีเล่นในบทความต่อไป
(Source : Fantasy Football Scout) ส่วนใครที่สนใจอยากสนุกกับแฟนตาซีกันต่อ หลัง FPL ปิดซีซันไปแล้ว บทความหน้า ผมจะมาแนะนำวิธีการเล่น Fantasy Euro 2020 กัน เพราะมีกฎ และรูปแบบการเล่นแตกต่างจาก FPL พอสมควรเลย ใครสนใจรอติดตาม ขอเวลาปั่นนิดนีงครับ
Picture : UEFA, Wikipedia, Anadolu Agency, 90Min, AS, The Guardian, Bleacher Report, Sky Sports, Caspian News, CGTN, Eurosport, New Straits Times, Goal.com, Marca, YouTube, FourFourTwo, Complete Sports, Kafkadesk, Belfast Telegraph, RFI, Hungary Today, Fantasy Football Scout
Official Song : YouTube ( Martin Garrix )