Reading: สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล – วิกิพีเดีย
อาร์แซน แวงแกร์ เป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความเร็จมากที่สุดและคุมทีมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ( ค.ศ. 1996–2018 ) [ 10 ] [ 11 ] โดยชนะเลิศถ้วยรางวัล 17 รายการ และเป็นผู้จัดการทีมที่ชนะเลิศเอฟเอคัพมากที่สุด 7 สมัย [ 12 ] รวมทั้งพาทีมชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2003–04 ซึ่งพวกเขาไม่แพ้ทีมใดเลยตลอด 38 นัด โดยถือเป็นทีมที่สองที่จบการแข่งขันฤดูกาลในลีกสูงสุดของอังกฤษโดยไม่แพ้ทีมใด และเป็นทีมเดียวที่ทำได้ในยุคพรีเมียร์ลีก [ 13 ] ในช่วงเวลานั้น สโมสรยังทำสถิติไม่แพ้ในลีกติดต่อกันนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษจำนวน 49 นัด [ 14 ] [ 15 ] และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 ซึ่งถือเป็นสโมสรแรกจากลอนดอนที่เข้าชิงชนะเลิศได้ อาร์เซนอลมีสโมสรคู่ปรับสำคัญที่ตั้งอยู่ในย่านเดียวกันคือ ทอตนัมฮอตสเปอร์ โดยการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมเรียกว่า ดาร์บีลอนดอนเหนือ อาร์เซนอลเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 7 ของโลก ใน ค.ศ. 2020 ด้วยมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ [ 16 ] และยังเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก [ 17 ] สโมสรมีคำขวัญคือ “Victory Through Harmony” ซึ่งแปลว่า “ชัยชนะจากความเป็นหนึ่งเดียว” [ 18 ]
ประวัติ
ยุคแรก ( ค.ศ. 1886–1919 )
สิบเอ็ดผู้เล่นชุดแรกของสโมสรใน ค.ศ. 1888 สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มคนงานของโรงงานผลิตอาวุธรอยัลอาร์เซนอลในแขวงวูลิช กรุงลอนดอน ก่อตั้งทีมฟุตบอลขึ้นมาเมื่อปลาย ค.ศ. 1886 ในชื่อ ไดอัล สแควร์ การแข่งขันแรกของทีมคือเกมที่ชนะ อีสเทิร์น วันเดอเรอร์ส 6–0 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1886 หลังจากนั้นไม่นานก็เปลี่ยนชื่อเป็น รอยัลอาร์เซนอล และยังคงแข่งขันรายการท้องถิ่นต่อไป ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพและเปลี่ยนชื่อเป็น วูลิชอาร์เซนอล ใน ค.ศ. 1891 อาร์เซนอลได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกครั้งแรกใน ค.ศ. 1893 ในดิวิชันสอง จากนั้นใน ค.ศ. 1904 ก็ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ดิวิชันหนึ่งเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม สโมสรตั้งอยู่ในพื้นที่ ๆ คับแคบ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ชมน้อยจนทีมประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก นำไปสู่การประกาศขายทีมใน ค.ศ. 1910 โดยมี เฮนรี นอร์ริส นักธุรกิจเข้ามาเทคโอเวอร์ [ 19 ] โดยในช่วงแรก นอร์ริสมีความคิดที่จะนำอาร์เซนอลรวบทีมกับ สโมสรฟูลัม ซึ่งเขาเป็นเจ้าของทีมอยู่เช่นกัน แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจาก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ทำให้นอร์ริสต้องหาที่ตั้งใหม่ให้กับอาร์เซนอล กระทั่งใน ค.ศ. 1913 หลังจากที่ตกชั้นลงสู่ดิวิชันสองนั้น อาร์เซนอลก็ได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ในย่านไฮบิวรี่บริเวณลอนดอนเหนือ และเปิดใช้สนาม อาร์เซนอลสเตเดียม อย่างเป็นทางการ ในปีต่อมา สโมสรได้ตัดคำว่า “ วูลิช ” ออกจากชื่อสโมสรจนเหลือเพียง อาร์เซนอล มาจนถึงปัจจุบัน [ 20 ] หลังจากสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และฟุตบอลลีกได้กลับมาแข่งขันอีกครั้ง ลีกสูงสุดอย่างดิวิชันหนึ่งก็เพิ่มจำนวนทีมเป็น 22 ทีม อาร์เซนอลซึ่งได้อันดับ 5 ของดิวิชันสองในฤดูกาล 1914–15 ได้รับการโหวตเลือกโดยสมาคมให้กลับขึ้นสู่ดิวิชันหนึ่งอีกครั้งในฤดูกาล 1919–20 แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับความโปร่งใสของสมาคมในเหตุการณ์ดังกล่าว [ b ] และอาร์เซนอลไม่เคยตกชั้นจากลีกสูงสุดอีกเลย
เริ่มประสบความสำเร็จ ( ค.ศ. 1925–1966 )
เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ตำนานผู้จัดการทีมซึ่งนำความสำเร็จมาสู่สโมสรในยุคแรก รูปปั้นของตำนานผู้จัดการทีมซึ่งนำความสำเร็จมาสู่สโมสรในยุคแรก ต่อมาใน ค.ศ. 1925 อาร์เซนอลได้แต่งตั้งให้ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน เป็นผู้จัดการทีม ซึ่งเขาเคยพา ฮัดเดอร์สฟิลด์ทาวน์ คว้าแชมป์ลีกมาแล้ว 2 สมัย ในฤดูกาล 1923–24 และ 1924–25 และแชปแมนถือเป็นคนแรกที่พาอาร์เซนอลก้าวเข้าสู่ความสำเร็จในยุคแรก [ 21 ] [ 22 ] เขาจัดการเปลี่ยนระบบการซ้อมและนำแทคติคใหม่มาใช้ รวมถึงซื้อนักเตะชื่อดังมาร่วมทีม เช่น อเล็กซ์ เจมส์ และ คลิฟฟ์ บานติน และยังเป็นผู้ริเริ่มการปรับปรุงระบบไฟในสนามไฮบิวรี่ ทำให้อาร์เซนอลกลายเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอลอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้เป็นครั้งแรก เริ่มจากแชมป์ เอฟเอคัพ สมัยแรกในฤดูกาล 1929–30 และคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งได้ 2 สมัยในฤดูกาล 1930–31 และ 1932–33 นอกจากนี้ แชปแมนยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟใต้ตินที่อยู่ในย่านนั้นคือ Gillespie Road เป็นสถานี “ อาร์เซนอล ” ซึ่งถือเป็นสถานีรถไฟใต้ดินเพียงแห่งเดียวใน สหราชอาณาจักร ที่ตั้งชื่อตามสโมสรฟุตบอล [ 23 ] แชปแมนเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วย โรคปอดบวม ในช่วงต้น ค.ศ. 1934 [ 24 ] แต่หลังจากนั้น โจ ชอว์ และ จอร์จ อัลลิสัน ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน พวกเขาพาอาร์เซนอลคว้าแชมป์ดิวิชันหนึ่งได้อีก 3 สมัย และ เอฟเอคัพ 1 สมัย อย่างไรก็ตาม อาร์เซนอลก็เริ่มถดถอยลงเรื่อย ๆ ในช่วงปลายทศวรรษเนื่องจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลอาชีพทุกรายการในอังกฤษต้องยุติลงส่งผลให้สโมสรกลับไปประสบปัญหาการเงินอีกครั้ง หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ทอม วิทเทคเกอร์ ผู้สืบทอดตำแหน่งของอัลลิสันได้เข้ามาคุมทีม อาร์เซนอลจึงกลับมาประสบความสำเร็จได้อีกครั้งโดยได้แชมป์ดิวิชันหนึ่งอีก 2 สมัย ในฤดูกาล 1947 และ 1948 และแชมป์ เอฟเอคัพ อีก 1 สมัย ในฤดูกาล 1949–50 แต่หลังจากนั้น โชคก็เหมือนจะไม่เข้าข้างอาร์เซนอลเท่าไรนัก สโมสรไม่สามารถดึงดูดนักเตะชื่อดังเข้ามาร่วมทีมเหมือนที่เคยทำได้ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 อาร์เซนอลกลายเป็นเพียงทีมกลางตารางและไม่สามารถคว้าแชมป์อะไรเพิ่มได้เลย แม้แต่ บิลลี ไรท์ อดีต กัปตัน ทีมชาติอังกฤษ ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีมก็ไม่สามารถนำความสำเร็จมาสู่สโมสรได้เลยในช่วง ค.ศ. 1962–66
การเปลี่ยนแปลง ( ค.ศ. 1966–1986 )
อาร์เซนอลเริ่มกลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้งหลังจากแต่งตั้ง เบอร์ตี้ มี นักกายภาพบำบัดให้มาคุมทีมใน ค.ศ. 1966 โดยพาทีมเข้าชิงชนะเลิศ ลีกคัพ 2 สมัยแต่ก็พลาดแชมป์ทั้งสองครั้ง แต่ก็ยังคว้าแชมป์ อินเตอร์ซิตี้แฟร์สคัพ ( ปัจจุบันยกเลิกการแข่งขันไปแล้ว ) ได้ในฤดูกาล 1969–70 ซึ่งเป็นถ้วยยุโรปใบแรกของสโมสร ตามด้วยการคว้าดับเบิ้ลแชมป์เป็นครั้งแรก นั่นคือแชมป์ลีกและเอฟเอคัพในฤดูกาล 1970–71 แต่ในทศวรรษต่อมานั้น อาร์เซนอลทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์เป็นส่วนมาก โดยได้รองแชมป์ดิวิชันหนึ่งในฤดูกาล 1972–73, รองแชมป์ เอฟเอคัพ ในฤดูกาล 1971–72, 1977–78 และ 1979–80 และยังแพ้จุดโทษ บาเลนเซีย ใน ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ รอบชิงชนะเลิศอีกด้วย สโมสรประสบความสำเร็จเพียงถ้วยเดียวในช่วงนี้ก็คือแชมป์ เอฟเอคัพ ฤดูกาล 1978–79 ในยุคของ เทอร์รี นีล ซึ่งพวกเขาเอาชนะ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ไปได้ 3–2 ในนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน และได้รับการกล่าวขวัญกันมากในเรื่องของความคลาสสิกและความตื่นเต้นของเกมนี้ [ 25 ] [ 26 ]
ยุคของ จอร์จ แกรแฮม ( ค.ศ. 1986–1995 )
การกลับเข้ามาสู่วงการฟุตบอลอีกครั้งของ จอร์จ แกรแฮม อดีตนักเตะของสโมสรซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 1986 ส่งผลให้สโมสรคว้าแชมป์ได้หลายรายการในยุคที่มี โทนี แอดัมส์ ตำนานกัปตันทีมเป็นผู้เล่นตัวหลัก เริ่มจากแชมป์ลีกคัพในฤดูกาล 1986–87 ตามด้วยแชมป์ดิวิชันหนึ่งในฤดูกาล 1988–89 จากประตูในนาทีสุดท้ายในนัดที่พบกับ ลิเวอร์พูล และได้แชมป์อีกครั้งในฤดูกาล 1990–91 โดยแพ้ไปเพียงนัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาล และยังคว้าแชมป์ดับเบิลแชมป์ด้วยการเป็นแชมป์ เอฟเอคัพ พร้อมกับ ลีกคัพ ได้ในฤดูกาล 1992–93 และคว้าแชมป์ยุโรปใบที่ 2 ได้ใน ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ฤดูกาล 1993–94 ด้วยการชนะ ปาร์มา 1–0 อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของแกรแฮมก็เสื่อมเสียเมื่อมีการเปิดเผยว่าเขาได้รับเงินสินบนจาก รูน ฮาวก์ เอเยนต์ของนักเตะในการซื้อตัวผู้เล่น [ 27 ] ส่งผลให้เขาถูกไล่ออกใน ค.ศ. 1995 และ บรูซ ริออช เข้ามารับตำแหน่งแทนแต่คุมทีมได้เพียงฤดูกาลเดียวก็ลาออกไปเนื่องจากขัดแย้งกับบอร์ดบริหาร [ 28 ]
ยุคของ อาร์แซน แวงแกร์ ( ค.ศ. 1996–2018 )
อาร์แซน แวงแกร์ เข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 1996–97 และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นตำนานผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสโมสร โดยอาร์เซนอลจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งแชมป์และรองแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ถึง 8 จาก 10 ฤดูกาลแรกที่แวงแกร์เข้ามาคุมทีม เขาเป็นผู้นำแทคติคใหม่ ๆ มาใช้ [ 29 ] เปลี่ยนวิธีการซ้อมใหม่ และยังเข้มงวดเรื่อง โภชนาการ กับนักเตะ [ 30 ] [ 31 ] [ 32 ] รวมถึงมีนโยบายการสร้างทีมด้วยงบประมาณจำกัด อาร์เซนอลจึงคว้าดับเบิลแชมป์ ( แชมป์ลีกและแชมป์เอฟเอคัพ ) ได้อีกสองครั้ง ในฤดูกาล 1997–98 และ 2001–02 และยังเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1999–00 แต่แพ้จุดโทษ กาลาตาซาราย รวมทั้งคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้งใน ฤดูกาล 2003–04 โดยไม่แพ้ทีมใดเลยทั้งฤดูกาลจนได้รับฉายาว่า “ผู้ไร้เทียมทาน” (The Invincibles) [ 33 ] และทำสถิติไม่แพ้ในลีกติดต่อกันครบ 49 นัดได้ในฤดูกาลต่อมาซึ่งเป็นสถิติตลอดกาลของประเทศ และยังได้แชมป์เอฟเอคัพเพิ่มใน ค.ศ. 2003 และ 2005 รวมทั้งแชมป์ เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ หลายสมัย โดยทีมชุดนั้นประกอบไปด้วยผู้เล่นชั้นนำ เช่น ตีแยรี อ็องรี, ปาทริก วีเยรา, แด็นนิส แบร์คกัมป์, แอชลีย์ โคล และ รอแบร์ ปีแร็ส แวงเกอร์พาสโมสรเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 โดยถือเป็นทีมแรกจากกรุงลอนดอนที่เข้าชิงชนะเลิศได้ แต่แพ้ บาร์เซโลนา 1–2 [ 34 ] จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 อาร์เซนอลก็ได้ยุติประวัติศาสตร์ 93 ปีที่ ไฮบิวรี ลง โดยการย้ายสนามเหย้ามาเป็น เอมิเรตส์สเตเดียม [ 35 ] และยังเข้าชิงลีกคัพได้สองครั้งใน ค.ศ. 2007 และ 2011 แต่แพ้เชลซี และ เบอร์มิงแฮม 1–2 ทั้งสองครั้ง และเมื่อสิ้นสุด ฤดูกาล 2011-12 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง พรีเมียร์ลีก ได้มีการโหวตจากแฟน ๆ ฟุตบอลปรากฏว่า ทีมอาร์เซนอลในฤดูกาล 2002–03 ที่ไม่แพ้ทีมใดตลอดทั้งฤดูกาลได้รับเลือกให้เป็นทีมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบ 20 ปีของ ฟุตบอลอังกฤษ อาร์เซนอลคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้อีกสองสมัยติตด่อกัน ใน ฤดูกาล 2013–14 ( ชนะ ฮัลล์ซิตี 3–2 ) และ 2014–15 ( ชนะ แอสตันวิลลา 4–0 ) ก่อนจะทำสถิติได้แชมป์มากที่สุด 13 สมัยใน ฤดูกาล 2016–17 ( ชนะเชลซี 2–1 ) และเวนแกร์ยังถือเป็นผู้จัดการทีมที่ได้แชมป์เอฟเอคัพมากที่สุด 7 สมัย แต่พวกเขาหลุดจากการจบ 4 อันดับแรกเป็นครั้งแรกในยุคของแวงแกร์ ก่อนที่แวงแกร์จะอำลาสโมสรเมื่อจบ ฤดูกาล 2017–18 โดยเขาถือเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ( 17 รายการ ) และคุมทีมยาวนานที่สุด ( 22 ปี ) ของสโมสร [ 36 ] [ 37 ]
ยุคใหม่ ( ค.ศ. 2018–ปัจจุบัน )
อูไน เอเมรี เข้ามาคุมทีมใน ฤดูกาล 2018–19 และถือเป็นผู้จัดการทีมคนที่สองในประวัติศาสตร์สโมสรที่ไม่ได้มาจาก สหราชอาณาจักร [ 38 ] [ 39 ] โดยพาทีมจบอันดับ 5 และได้รองแชมป์ ยูโรปาลีก โดยแพ้เชลซี 1–4 [ 40 ] ต่อมา เอเมรีถูกปลดใน ฤดูกาล 2019–20 [ 41 ] และ เฟรียดริก ยุงแบร์ย อดีตผู้เล่นของทีมเข้ามารักษาการแทน จากนั้น มิเกล อาร์เตตา เข้ามาคุมทีม [ 42 ] และพาทีมจบอันดับ 8 ซึ่งเป็นอันดับที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1995 แต่ยังคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้โดยเอาชนะเชลซี 2–1 [ 43 ] ต่อมา ใน ฤดูกาล 2020–21 ทีมยังคงทำผลงานในลีกย่ำแย่ต่อเนื่องและจบอันดับ 8 เป็นฤดูกาลที่สองติดต่อกัน ไม่ได้ไปแข่งขันฟุตบอลยุโรปใน ฤดูกาล 2021–22 และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่สโมสรไม่ได้ไปเล่นรายการยุโรป [ 44 ]
สัญลักษณ์
- ( 1888-1929 )
- ( 1930-1948 )
- ( 1952 ตราพิเศษ )
- ( 1949-2002 )
- ( 2002-2011,2012-ปัจจุบัน )
- ( 2011-2012 )
ตราพิเศษครบรอบ 125 ปี
สีประจำสโมสร
ในหน้าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของสโมสรอาร์เซนอล พวกเขาใช้เสื้อสีแดงสด แขนเสื้อสีขาว และกางเกงขาสั้นสีขาวเป็นชุดทีมเหย้า สีแดงเป็นการให้เกียรติ สโมสรทิงแฮมฟอเรสต์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการบริจาคอุปกรณ์ให้แก่สโมสรหลังการก่อตั้งใน ค.ศ. 1886 โดยมีที่มาจาก เฟร็ด เบียร์ดสลีย์ และ มอร์ริส เบตส์ สมาชิกผู้ก่อตั้งของสโมสร ไดอัล สแควร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้เล่นของฟอเรสต์ที่ย้ายมาทำงานในย่านวูลวิช ในขณะที่พวกเขารวบรวมผู้เล่นทีมชุดใหญ่ในพื้นที่ แต่ยังหาชุดแข่งไม่ได้ ทั้งคู่จึงเขียนจดหมายไปถึงสโมสรเก่า เพื่อขอความช่วยเหลือและได้รับชุดแข่งขัน และลูกฟุตบอล โดยมีเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีแดงเข้ม และสวมกางเกงขาสั้นสีขาว และถุงเท้าที่มีห่วงสีน้ำเงินและสีขาว [ 45 ] ใน ค.ศ. 1933 เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ต้องการให้ผู้เล่นแต่งกายให้โดดเด่นยิ่งขึ้น มีการปรับปรุงชุดแข่ง โดยปรับแขนเสื้อเป็นสีขาว และเปลี่ยนสีเสื้อให้มีโทนแดงที่สว่างและสดขึ้น โดยที่มาของแขนเสื้อสีขาวนั้นมีการสันนิษฐานอยู่สองประการ คาดว่าแชปแมนสังเกตเห็นแฟนบอลคนหนึ่งสวมเสื้อสเวตเตอร์แขนกุดสีแดงทับเสื้อเชิ้ตสีขาวและดูสวยงาม เหมาะจะเป็นสีสโมสร อีกประการหนึ่งคือเขาอาจได้แรงบันดาลใจจากการแต่งกายที่คล้ายคลึงกันของนักเขียนการ์ตูน ทอม เว็บสเตอร์ ซึ่งแชปแมนมีความสนิทสนม และมักเล่น กอล์ฟ ด้วยกัน และแม้จะไม่แน่ชัดว่าข้อสันนิษฐานใดเป็นจริง แต่เสื้อแดงพร้อมแขนเสื้อสีขาวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอาร์เซนอลมาตั้งแต่นั้น และทีมได้สวมชุดนี้มาตลอด ยกเว้นสองฤดูกาล ครั้งแรกคือฤดูกาล 1966–67 เมื่อสโมสรสวมเสื้อสีแดงล้วนโดยไม่มีสีขาวที่แขนเสื้อ แต่ไม่เป็นที่นิยม แขนเสื้อสีขาวจึงถูกนำกลับมาใช้ในฤดูกาลถัดไป และในครั้งที่สองคือฤดูกาล 2005–06 ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่อาร์เซนอลเล่นที่สนาม อาร์เซนอลสเตเดียม ในย่านไฮบรี เมื่อทีมสวมเสื้อสีแดงเรดเคอแรนท์โดยไม่มีสีที่แขนเสื้อเช่นกัน เพื่อระลึกถึงสีเสื้อที่สโมสรสวมใน ค.ศ. 1913 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกในสนามแห่งนี้ และสโมสรกลับไปสวมชุดปกติโดยเป็นเสื้อสีแดงเข้มและแขนเสื้อสีขาวในฤดูกาลถัดไป และในฤดูกาล 2008–09 อาร์เซนอลได้เปลี่ยนจากแขนเสื้อสีขาวล้วนแบบดั้งเดิมด้วยการเพิ่มแถบสีแดงลงบนแขนเสื้อด้วย [ 46 ] สีประจำสโมสรอาร์เซนอลเป็นต้นแบบให้แก่สีประจำสโมสรอื่น ๆ อย่างน้อยสามสโมสร ใน ค.ศ. 1909 สปาร์ต้า ปราก ใน เชกเกีย ได้เปิดตัวชุดสีแดงเข้มซึ่งคล้ายสีที่อาร์เซนอลใช้ในสมัยนั้น ต่อมาใน ค.ศ. 1920 สโมสรกีฬาบรากา ได้เปลี่ยนสีชุดแข่งทีมเหย้าจากสีเขียวทองมาเป็นสีแดงพร้อมแขนเสื้อสีขาว ภายหลังจากผู้จัดการทีมสโมสรได้กลับมาจากการชมเกมที่สนามอาร์เซนอลสเตเดียม นำไปสู่การเรียกชื่อเล่นของบรากาว่า Os Arsenalistas [ 47 ] ต่อมา ใน ค.ศ. 1938 สโมสรฮิเบอร์เนียน ในเมือง เอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ นำการออกแบบแขนเสื้อของอาร์เซนอลมาใช้กับแถบสีเขียวและสีขาวบนเสื้อสโมสร [ 48 ] และทั้งสามสโมสรยังคงใช้ชุดเหล่านี้มาถึงปัจจุบัน
เป็นเวลาหลายปีที่เสื้อทีมเยือนของสโมสรเป็นสีขาวหรือสีกรมท่า อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1968 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้สั่งห้ามทุกสโมสรสวมชุดแข่งโทนสีกรมท่า เนื่องจากคล้ายกับสีดำของชุด ผู้ตัดสิน อาร์เซนอลจึงได้เปิดตัวชุดทีมเยือนแบบใหม่ในฤดูกาล 1969–70 ด้วยเสื้อสีเหลืองและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน และชุดนี้ถูกใช้ครั้งแรกในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ค.ศ. 1971 ซึ่งอาร์เซนอลเอาชนะลิเวอร์พูล 2–1 และเป็นการชนะเลิศฟุตบอลลีกและเอฟเอคัพในฤดูกาลเดียวกันเป็นครั้งแรก ( ดับเบิลแชมป์ ) ซึ่งในเวลาต่อมาเสื้อทีมเยือนสีเหลืองและกางเกงสีน้ำเงินนี้ได้รับความนิยมแทบจะเท่ากับชุดแข่งทีมเหย้าสีแดงขาว อาร์เซนอลเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพอีกครั้งในฤดูกาลต่อมา ครั้งนี้พวกเขาสวมชุดทีมเหย้าตามปกติ และแพ้ ลีดส์ยูไนเต็ด 0–1 อาร์เซนอลจึงกลับไปใช้ชุดทีมเยือนสีเหลืองในอีกสามครั้งต่อมาที่พวกเขาเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ตั้งแต่ ค.ศ. 1978–80 สโมสรยังใช้สีเหลืองและน้ำเงินเป็นชุดเยือนหลักกระทั่ง ค.ศ. 1982 ได้มีการเปิดตัวชุดทีมเยือนใหม่เป็นสีเขียวและสีกรมท่า แต่ไม่เป็นที่พอใจของแฟนบอล จึงกลับไปใช้สีเหลืองและน้ำเงินแต่มีการปรับโทนสีน้ำเงินให้เข้มขึ้น เมื่อ ไนกี้ รับช่วงต่อจาก อาดิดาส ในฐานะผู้ผลิตชุดแข่งของอาร์เซนอลใน ค.ศ. 1994 อาร์เซนอลได้ใช้เสื้อและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเป็นชุดทีมเยือน และมีการเปลี่ยนสีชุดทีมเยือนหลายครั้งนับตั้งแต่นั้น รวมถึงในช่วงหลังที่สโมสรฟุตบอลทั่วโลกทำการขยายตลาดโดยการออกแบบชุดแข่งที่สาม โดยตลอดทศวรรษ 2000 อาร์เซนอลมีทั้งการใช้สีน้ำเงินล้วน, สีเหลืองและน้ำเงิน, สีกรมท่า สีทอง และสีขาวเป็นชุดทีมเยือน รวมถึงใช้แถบสีแดงมะรูนร่วมกับเสื้อสีเหลืองในช่วง ค.ศ. 2010–13 และนับตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา ชุดทีมเยือนและชุดแข่งที่สามของสโมสรมีการเปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาล ปัจจุบันผู้ผลิตชุดแข่งของสโมสรคืออาดิดาส [ 49 ]
สนามแข่งขัน
ในช่วงแรก อาร์เซนอลลงเล่นที่สนามย่านวูลิช บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของ กรุงลอนดอน แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ทำเลที่คับแคบ ไม่สะดวกต่อการเดินทางและจุผู้ชมได้น้อย เฮนรี่ นอร์ริส ผู้บริหารคนใหม่จึงนำทีมย้ายมาสู่ลอนดอนเหนือ และพวกเขาได้เปิดใช้สนาม อาร์เซนอลสเตเดียม ในย่าน ไฮบิวรี่ เป็นสนามเหย้าอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1913 จนถึง 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 โดยมักจะเป็นที่รู้จักในชื่อ ไฮบิวรี่ เนื่องจากตั้งอยู่ในย่านไฮบิวรี่ และแฟน ๆ มักจะเรียกสนามแห่งนี้ด้วยฉายาน่ารัก ๆ ว่า “ บ้านของฟุตบอล ” [ 50 ] [ 51 ] อาร์เซนอลสเตเดียมเริ่มสร้างใน ค.ศ. 1913 บนสนามพักผ่อนของวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งหนึ่ง และมีการปรับปรุงใหม่ครั้งสำคัญ ๆ สองครั้ง [ 52 ] ครั้งแรกในราวทศวรรษที่ 1930 คือการปรับปรุง อัฒจันทน์ ด้านตะวันออกและตะวันตก และครั้งที่สองตอนปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 โดยมีการยกเลิกพื้นที่สำหรับการยืนชมเกมทั้งสองข้างสนามออกและทำเป็นที่นั่งทั้งหมดบนอัฒจันทน์ทั้งสี่ด้าน ทำให้สนามจุผู้ชมได้น้อยลงส่งผลให้มีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วไม่มากพอ อาร์เซนอลจึงย้ายสนามเหย้าไปอยู่ที่ เอมิเรตส์สเตเดียม ใน ค.ศ. 2006 ในปัจจุบัน ไฮบิวรี่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นศูนย์รวม อพาร์ทเมนต์ และ คอนโดมิเนียม [ 53 ] ไฮบิวรี่ยังเคยเป็นสนามที่ใช้แข่งขันของ ทีมชาติอังกฤษ และ เอฟเอคัพ นัดสำคัญ รวมไปถึงกีฬาชกมวย, เบสบอล และ คริกเกต นอกจากนี้ สนามยังมี รถไฟใต้ดิน ผ่านจากสถานี Gillespie Road โดยใน ค.ศ. 1932 สถานีได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ สถานีรถไฟใต้ดินอาร์เซนอล “ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟใต้ดินเพียงแห่งเดียวของ อังกฤษ ที่ตั้งชื่อตามสโมสรฟุตบอล [ 54 ] [ 55 ] [ 56 ] สนามเหย้าในปัจจุบันของสโมสรคือ เอมิเรตส์สเตเดียม (Emirates Stadium) หรือ สนามกีฬาเอมิเรตส์ ตั้งอยู่ที่ แอชเบอร์ตันโกรฟ ใน ฮอลโลเวย์ (Holloway) ลอนดอนเหนือ เปิดใช้งานเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2006 ความจุ 60,355 ที่นั่ง ถือเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของ พรีเมียร์ลีก เป็นรองเพียง โอลด์แทรฟฟอร์ด และเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในลอนดอนรองจาก เวมบลีย์ และ ทวิกเคนแฮม เดิมทีสนามนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ แอชเบอร์ตันโกรฟ ก่อนที่จะมีการใช้ชื่อตามข้อตกลงของ สายการบินเอมิเรตส์ ผู้สนับสนุนหลักของสโมสร [ 57 ] มูลค่าการก่อสร้างของสนามอยู่ที่ 390 ล้าน ปอนด์ [ 58 ]
Read more: Azerbaijan Premier League
สนามแห่งนี้มีอัฒจันทน์ที่มีหลังคารายล้อมทั้ง 4 ทิศ แต่ไม่มีหลังคาบริเวณพื้นสนาม ออกแบบโดย สถาปนิก จาก HOK Sport ตรวจสอบโครงสร้างทาง วิศวกรรม โดยบริษัท Buro Happold ผู้ควบคุมการสร้างคือ เซอร์ โรเบิร์ต แมคอัลไพน์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตอุตสาหกรรมแอชเบอร์ตันโกรฟเดิม ห่างจาก ไฮบิวรี สนามเดิมเพียงไม่กี่ร้อยเมตร นอกจากนี้ เอมิเรตส์สเตเดียมยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันที่มีทัศนียภาพสวยงามที่สุดและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันที่สุดในบรรดาทีมกีฬาทุกประเภทของสหราชอาณาจักร [ 59 ] [ 60 ] [ 61 ]
แฟนคลับและความนิยม
แฟนฟุตบอลของสโมสรมีชื่อเรียกว่า “ Gooners ” ซึ่งมาจากฉายา “ Gunners ” ของสโมสร ในฤดูกาล 2007–08 สโมสรมียอดผู้เข้าชมในสนามเฉลี่ยสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอังกฤษ โดยมียอดเฉลี่ย 60,000 คนต่อเกม ( คิดเป็น 95.5 % ของความจุทั้งหมด ) และยังมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในฤดูกาล 2015 นอกจากนี้อาร์เซนอลยังมียอดผู้เข้าชมในสนามมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ในทวีปยุโรป และเนื่องด้วยสภาพที่ตั้งของสโมสรซึ่งตั่งอยู่แถบลอนดอนเหนือติดกับย่าน Canonbury และ Barnsbury ซึ่งเป็นย่านของคนมีฐานะ และยังใกล้เคียงกับย่านของชนชั้นกลางอย่าง Islington, Holloway, Highbury และ London Borough of Camden รวมทั้งพื้นที่ชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่เช่น Finsbury Park และ Stoke Newington ส่งผลให้แฟนฟุตบอลของสโมสรมาจากชนชั้นทางสังคมที่หลากหลาย [ 62 ] [ 63 ] [ 64 ] ใน ค.ศ. 2015 มีการสำรวจความนิยมจากแฟนฟุตบอลทั่วทั้งโลก ผ่านโปรแกรม ทวิตเตอร์ พบว่า อาร์เซนอลเป็นสโมสรที่มีฐานผู้นิยมมากที่สุด โดยกระจายไปในหลายทวีปทั้ง ยุโรป, อเมริกาเหนือ และ แอฟริกาเหนือ และยังเป็นสโมสรแห่งแรกของอังกฤษที่มีผู้ติดตามทางทวิตเตอร์มากถึง 5 ล้านคน [ 65 ]
สโมสรคู่อริ
ดาร์บีลอนดอนเหนือใน ค.ศ. 2010 อาร์เซนอลถือเป็นคู่ปรับสำคัญของ ทอตนัมฮอตสเปอร์ เนื่องด้วยทั้งสองสโมสรตั้งอยู่ในลอนดอนเหนือ การพบกันของทั้งสองทีมเรียกว่า “ ศึกแห่งลอนดอนเหนือ ” (North London Derby)[66] [ 67 ] โดยที่มาของการเป็นอริกันนั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1910 [ 68 ] สโมสรอาร์เซนอลในขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่า “ วูลวิช อาร์เซน่อล ( Woolwich Arsenal ) ” เป็นทีมในลีก ดิวิชันหนึ่ง มีสนามเหย้าอยู่ในย่าน วูลวิช ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ กรุงลอนดอน ในเวลานั้นสโมสรกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงินครั้งใหญ่จนเกือบจะ ล้มละลาย เจ้าของสโมสรเดิมต้องประกาศขายทีมเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งผู้ที่ได้เข้าเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ ได้แก่ “ เฮนรี่ นอร์ริส ” นักธุรกิจ แห่งกรุงลอนดอน [ 69 ] ความตั้งใจแรกของนอร์ริส ในการแก้ปัญหาทีมคือการควบรวมทีมวูลวิช อาร์เซนอล เข้ากับ สโมสรฟูลัม ซึ่งเป็นอีกทีมในเมืองลอนดอนที่เฮนรี่เป็นเจ้าของอยู่เช่นกัน เพื่อเพิ่มฐานแฟนบอลและรายได้แก่สโมสร แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ เฮนรี่ จึงต้องย้ายที่ตั้งทีมไปยังย่านที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นกว่าเขตวูลวิช ซึ่งเฮนรี่ได้เลือกย่าน “ ไฮบิวรี่ ” ทางตอนเหนือของลอนดอน และทำเรื่องย้ายสโมสรไปยังลอนดอนเหนือใน ค.ศ. 1913 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นอริระหว่างสองสโมสร เดิมทีนั้น สเปอร์เป็นเพียงสโมสรเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านลอนดอนเหนือ พวกเขาเปรียบเสมือน “ เจ้าถิ่น ” และเป็นความภาคภูมิใจของคนในย่านนั้น การย้ายมาของ วูลวิช อาร์เซนอล จึงเหมือนการรุกล้ำเขตแดนของพวกเขา และเริ่มสร้างความไม่พอใจแก่แฟนบอลสเปอร์ที่โดนแย่งฐานแฟนคลับไป และเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นสาเหตุหลักแห่งความเกลียดชังของทั้ง 2 ทีมนั้นเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 1919 [ 70 ] [ 71 ] หลังสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฟุตบอลลีกได้กลับมาแข่งขันอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปตั้งแต่ ค.ศ. 1915 สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีมติเพิ่มจำนวนทีมในดิวิชันหนึ่งจาก 20 ทีมเป็น 22 ทีม ในฤดูกาล 1919–20 [ 72 ] โดยได้ตัดสินใจให้ทีมอันดับ 1 และ 2 ของดิวิชั่นสอง ( ดาร์บีเคาน์ตี และ เพรสตันนอร์ทเอนด์ ) ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาในลีกสูงสุดอย่างดิวิชันหนึ่งโดยอัตโนมัติ [ 73 ] และในโควตาสุดท้ายอีกหนึ่งทีมนั้น สมาชิกได้ร่วมกันโหวตเลือกให้อาร์เซนอลซึ่งจบเพียงอันดับ 5 ในดิวิชันสองเลื่อนชั้นขึ้นมาแทน โดยตัดสิทธิ์ทีมอันดับ 20 ของดิวิชันหนึ่งในฤดูกาล 1914–15 อย่างสเปอร์ [ 74 ] ส่งผลให้พวกเขาต้องตกชั้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการกล่าวหาว่า เฮนรี่ นอร์ริส ได้ใช้วิธีวิ่งเต้นและให้ผลประโยชน์กับสมาคมเพื่อให้ทีมได้เลื่อนชั้น แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน และทำให้ทั้งสองสโมสรเป็นอริกันมานับแต่นั้น โดยการพบกันของทั้งคู่ถือเป็นหนึ่งในนัดที่ดุเดือดที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลของยุโรป [ 75 ] สโมสรอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงของอาร์เซนอลได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เชลซี [ 76 ] และ ลิเวอร์พูล [ 77 ] เนื่องจากเป็นสโมสรใหญ่ที่แย่งชิงความสำเร็จกันมายาวนาน โดยเฉพาะการเป็นอริกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และต้นทศวรรษที่ 2000 ถือว่ามีความดุเดือดมาก [ 78 ] [ 79 ] [ 80 ] เนื่องจากอาร์เซนอลที่คุมทีมโดย อาร์แซน แวงแกร์ แย่งชิงการเป็นสโมสรอันดับหนึ่งของอังกฤษกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่คุมทีมโดย เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยผลัดกันแพ้-ชนะ หลายครั้งในการแข่งขัน พรีเมียร์ลีก และ เอฟเอคัพ [ 81 ] [ 82 ] แต่บรรยากาศความเป็นอริของทั้งคู่ได้ลดลงพอสมควรภายหลังจาก ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา เนื่องจากผลงานของทั้งสองทีมได้ตกลงไปตามลำดับ และมีเชลซี ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ซิตี ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก และในปัจจุบัน ทั้งแวงแกร์และเฟอร์กูสันต่างก็อำลาทีมไปแล้ว
ผู้ผลิตเสื้อและผู้สนับสนุน
ผู้เล่น
ผู้เล่นทีมชุดแรก
- ณ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2021[83]
หมายเหตุ : ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของ ฟีฟ่า ตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
ผู้เล่นที่ถูกปล่อยยืม
หมายเหตุ : ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของ ฟีฟ่า ตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
บุคลากรชุดปัจจุบัน
- ข้อมูล ณ ตุลาคม 2021
อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง
เรียงตามปีที่เริ่มเล่นในทีมอาร์เซนอลชุดใหญ่เป็นครั้งแรก (ในวงเล็บคือปี ค.ศ.) :
สถิติสำคัญ
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
อาร์เซนอล ถูกอ้างอิงถึงใน วัฒนธรรมร่วมสมัย หลายครั้ง เช่น เป็นคู่ชิงชนะเลิศในรายการ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก กับ เรอัลมาดริด ของสเปน ในภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษเรื่อง Goal II: Living the Dream ในปี 2007 โดยมีนักฟุตบอลตัวจริงของทั้งสองสโมสรร่วมแสดงหลายคน เช่น ตีแยรี อ็องรี, เดวิด เบคแคม, ซีเนดีน ซีดาน [ 101 ] และมีการอ้างถึงใน ซีรีส์เกาหลี เรื่อง Because This Is My First Life ในปี 2017 โดยกำหนดให้นางเอกของเรื่องเป็นแฟนอาร์เซนอลและได้ดูการแข่งขันของอาร์เซลนอลกับ เชลซี คู่กับพระเอก [ 102 ]
ในประเทศไทย
อาร์เซนอล เคยเดินทางมาแข่งขันกับ ทีมชาติไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 1999 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยทีมชาติไทยเอาชนะไปได้ 4–3 [ 103 ] สำหรับ ชาวไทย ที่มีชื่อเสียงที่เป็นผู้สนับสนุนอาร์เซนอล เช่น กพล ทองพลับ ( พิธีกรและดีเจ [ 104 ] ), เสกสรร สุขพิมาย ( นักร้อง, นักดนตรี [ 105 ] ), กรภพ จันทร์เจริญ ( นักร้อง, นักดนตรีและนักแสดง [ 106 ] ), ธีรศิลป์ แดงดา ( นักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 107 ] ), รณชัย รังสิโย ( นักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 107 ] ), อดิศักดิ์ ไกรษร ( นักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 108 ] ), ธีราธร บุญมาทัน ( นักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 109 ] ), ฉัตร์ชัย บุตรดี ( นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย [ 110 ] ), วิทยา เลาหกุล ( อดีตนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย [ 111 ] ), พิชิตพงษ์ เฉยฉิว ( อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ), สุธี สุขสมกิจ ( อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 107 ] ), สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ( อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย [ 106 ] ), สาธิต ปิตุเตชะ ( นักการเมือง [ 112 ] ), วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ( พิธีกรและดีเจ [ 108 ] ), ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ( นักแสดง, นายแบบ [ 108 ], ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ( นักแสดง [ 108 ] ), สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ( นักร้อง [ 113 ] ), เสถียร วิริยะพรรณพงศา ( สื่อมวลชน [ 114 ] ), ชวลิต ศรีมั่นคงธรรม ( ดีเจ, พิธีกรและนักแสดง ), สหัทยา ไกรขุนทศ ( สื่อมวลชน, ผู้ประกาศข่าวกีฬาช่อง 3 )
เกียรติประวัติ
อาร์เซนอลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดมากเป็นอันดับ 3 ในอังกฤษจำนวน 13 สมัย ( นับรวมฟุตบอลดิวิชันหนึ่งและพรีเมียร์ลีก ) [ 115 ] และครองสถิติคว้าแชมป์เอฟเอคัพมากที่สุด 14 สมัย [ 116 ] และยังเป็นหนึ่งในสองสโมสรร่วมกับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่คว้าดับเบิลแชมป์ได้ 3 ครั้ง ( แชมป์ลีกและเอฟเอคัพในปีเดียวกัน ) คือ ค.ศ. 1971, 1998 และ 2002 [ 117 ] อาร์เซนอลยังเป็นทีมแรกของ กรุงลอนดอน ที่สามารถเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ได้ ( ปี 2006 ) [ 118 ] อาร์เซนอลเคยจบฤดูกาลในลีกด้วยอันดับที่ต่ำกว่าอันดับ 14 เพียงแค่ 7 ครั้งเท่านั้น และยังเป็นทีมที่มีอันดับในลีกเฉลี่ยดีที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 ( ช่วง ค.ศ. 1900–1999 ) อีกด้วย โดยอันดับเฉลี่ยคือ 8.5 [ 119 ] นอกจากนี้ อาร์เซนอลยังเป็นหนึ่งในห้าสโมสรที่คว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ 2 สมัยติดต่อกัน ( ฤดูกาล 2002–03 และ 2014–15 )
รายการอื่น ๆ
กราฟแสดงอันดับในการแข่งขันฟุตบอลลีกของสโมสรอาร์เซนอล เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1893
ทีมฟุตบอลหญิง
ทีมฟุตบอลหญิงของอาร์เซนอลก่อตั้งโดย วิค เอเคอรส์ อดีตนักฟุตบอลชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1987 ในชื่อ Arsenal Ladies F.C และลงเล่นในฐานะสโมสรกึ่งอาชีพใน ค.ศ. 2002 และเอเคอร์ยังดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสรอีกด้วย ต่อมาใน ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งสโมส ได้มีการเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Arsenal Women F.C [ 120 ] [ 121 ] และโดยทั่วไปพวกเธอจะเรียกแทนตัวเองสั้น ๆ ว่า อาร์เซนอล ( Arsenal ) ยกเว้นในบางโอกาสที่อาจจะสับสนกับชื่ออาร์เซนอลของทีมชาย สโมสรจึงจะเลี่ยงไปใช้ชื่อเต็ม สโมสรหญิงของอาร์เซนอลเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาทีมฟุตบอลหญิงของอังกฤษ [ 122 ] พวกเธอชนะเลิศถ้วยรางวัลรวม 58 รายการและในฤดูกาล 2008–09 สโมสรทำสถิติชนะเลิศการแข่งขันสามรายการหลักในฤดูกาลเดียวกัน ( FA Women ‘s National League, Women ‘s FA Cup และ FA Women ‘s National League Cup ) และเป็นสโมสรหญิงทีมแรกของอังกฤษที่รับรางวัลยูฟ่าวีเมนส์คัพ หรือ ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก โดยชนะเลิศในฤดูกาล 2006–07 ปัจจุบันสโมสรเล่นในสนามเหย้าที่ Meadow Park และมีผู้จัดการทีมคือ โยนัส ไอเดวอลล์
เชิงอรรถ
- ↑ ตั้งชื่อตามการยืนตำแหน่งของผู้เล่นในสนาม ถูกคิดค้นในช่วงกลางทศวรรษ 1920 โดย เฮอร์เบิร์ต แชปแมน โดยจะลดจำนวนผู้เล่นในเกมรุกลง และใช้กองหลังตัวกลางหยุดกองหน้าฝ่ายตรงข้าม แผนการเล่นนี้อาจเป็นการยืนแบบ 3–2–5 หรือ 3–4–3 ก็ได้
- ↑ มีการกล่าวหาว่าการเลื่อนชั้นของอาร์เซนอลนั้นเกิดจากการกระทำลับ ๆ ของเซอร์ เฮนรี นอร์ริส ประธานสโมสรในขณะนั้น มีการกล่าวหากันตั้งแต่เรื่องการใช้วิธีการทางการเมืองและการรับสินบน แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด อ่านข้อเท็จจริงได้ใน Soar & Tyler ( 2005 ). The official Illustrated History of Arsenal. pp. p.40.CS1 maint : extra text ( yoke ) รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นคว้าได้ที่ Spurling, Jon ( 2004 ). Rebels for the cause : The Alternative History of Arsenal Football Club. Mainstream. pp. pp.38–41. ISBN 0-575-40015-3 .CS1 maint : extra text ( yoke )
อ้างอิง
หนังสืออ่านเพิ่ม
- Hayes, Dean (2007). Arsenal: The Football Facts. John Blake. ISBN 978-1-84454-433-2.
- Hornby, Nick (1992). Fever Pitch. Indigo. ISBN 978-0-575-40015-3.
- Maidment, Jem (2006). The Official Arsenal Encyclopedia. Hamlyn. ISBN 978-0-600-61549-1.
- Soar, Phil & Tyler, Martin (2000). The Official Illustrated History of Arsenal. Hamlyn. ISBN 978-0-600-60175-3.
- Spurling, Jon (2004). Rebels for the Cause: The Alternative History of Arsenal Football Club. Mainstream. ISBN 978-1-84018-900-1.
Read more: Thailand national futsal team – Wikipedia
- Stammers, Steve (2008). Arsenal: The Official Biography – The Compelling Story of an Amazing Club. Hamlyn. ISBN 978-0-600-61892-8.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ