การเดินทางครั้งสำคัญสู่ “มักกะฮ์” ดินแดนแห่งพันธสัญญา ตอนที่ 1
ต้องขอเกริ่นก่อนว่า เนื่องจากปิดเทอมมหาลัยครั้งนี้ยาวนานมาก(ปรับเข้าอาเซียน) และเดือนรอมฎอนปีนี้ เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม (ปลายเดือนมิถุนา-เดือนกรกฎา ที่ผ่านมา) ก็ยังอยู่ในช่วงปิดเทอม ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสอันดี ที่ผมจะได้เดินทางไปเยือนดินแดนสำคัญของศาสนาอิสลาม ประเทศที่ผมจะมา Review และแชร์ประสบการณ์เป็นครั้งแรก เป็นสถานที่ ที่ชาวมุสลิมทุกคนใฝ่ฝันไว้ว่าหนึ่งครั้งในชีวิตจะต้องไปเยือนให้ได้ นั้นคือ “ซาอุดิอาระเบีย” หวังว่าการReview และการแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจพิธีฮัจย์หรืออุมเราะฮ์ หรือว่าเพื่อนต่างศาสนิกที่สนใจเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามได้ดีทีเดียวครับ
ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ( المملكة العربية السعودية ) ( อัลมัมล่ะก่ะ อัลอารอบียาฮ์ อัซซาอุดี้ยะฮ์ ) เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอาหรับ หรือภูมิภาคตะวันออกกลาง มีความมั่งคั่งจากการเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก มีพรมแดนติดกับประเทศอาหรับหลายประเทศ ทิศเหนือติดประเทศอิรักและประเทศจอร์แดน ทิศตะวันออกติดประเทศคูเวต ประเทศกาตาร์ ประเทศบะฮ์เรน ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดประเทศโอมาน ติดอ่าวอาหรับ ( อ่าวเปอร์เซีย ) ทิศตะวันตกติดกับประเทศอิยิปต์ ส่วนทิศใต้ติดประเทศเยเมน และทะเลแดง ซาอุดิอาระเบีย มีพื้นที่ 2,149,690 ตร.กม. โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ประชากรทั้งหมด 28 ล้านคน เมืองหลวงคือ นครริยาด ( الرياض ) มีเมืองสำคัญต่างๆได้แก่ เจดดาห์ ( جدة ) มักกะฮ์ ( مكة المكرمة ) ฎออีฟ ( الطائف ) มาดีนะฮ์ ( المدينة المنورة ) และดัมมาม ( الدمام )
ด้านการเมืองการปกครอง
ซาอุดิอาระเบียมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือระบอบราชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดทั้งทางด้านการบริหาร การปกครองและการทหาร กษัตริย์ซาอุดี้องค์ปัจจุบันคือ กษัตริย์ อับดุลลอฮ์ บินอับดุลอะซีซ อัลซาอู๊ต มีมกุฎราชกุมาร คือ เจ้าชาย มูคริน บินอับดุลอะซีซ อัลซาอู๊ต
ประชากรในซาอุดิอาระเบียส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม-ซุนนีย์ สำนักคิดฮัมบาลีย์ ( สังกัดมัซฮับ อิหม่ามอะฮ์หมัด อิบนิ ฮัมบัล ) มีมุฟตี ( ผู้นำศาสนาอิสลามสูงสุดแห่งซาอุฯ ) ท่านปัจจุบันคือ มุฟตี ชัยค์ อับดุลอะซีซ อาล อัชชัยค์
ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่ตั้งของเมืองศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลามถึง2เมือง คือมหานครมักกะฮ์ มีชื่อเรียกเต็มๆว่า ” มักกะฮ์ อัลมุกัรรอมะฮ์ ” ( مكة المكرمة ) แต่คนไทยรู้จักและนิยมเรียกกันว่า “ นครเมกกะ ” และนครมาดีนะฮ์ มีชื่อเรียกเต็มๆคือ “ อัลมาดีนะฮ์ อัลมูเนาวเราะฮ์ ” ( المدينة المنورة ) หรือที่เรียกกันว่า “ เมืองเมดินา ” 2 เมืองนี้อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะชาวมุสลิม ต่างศาสนิกจะไม่สามารถเข้าได้ ต้องขอบอกก่อนว่าการไปเยือนประเทศซาอุดี้ฯครั้งนี้ของผม เป็นการไปแสวงบุญในพิธีที่เรียกว่า ” อุมเราะฮ์ ”
เริ่มแรก ผมจึงเริ่มหาข้อมูล ด้วยการหาบริษัทที่นำผู้แสวงบุญชาวไทยไปประเทศซาอุดี้ก่อน เป็นอันดับแรก หลังจากได้บริษัทที่ต้องการแล้ว ก็จัดการติดต่อสอบถามรายละเอียด ตกลงราคา วันเวลาการเดินทางต่างๆตลอดการเดินทาง และได้ทราบว่า ในปีนี้ทางการซาอุดิอาระเบียกำหนดและอนุญาติให้บริษัทนำผู้แสวงบุญชาวไทย อยู่ในประเทศซาอุได้เพียง 15 วัน ต่างจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในซาอุดี้ได้ 20 วัน รวมทั้งวีซ่าอุมเราะฮ์รอมฎอนของคนไทยปีนี้จะออกให้แค่ช่วง 15 วันแรกเท่านั้น ส่วน15 วันหลัง จะไม่มีการออกวีซ่าให้
การเตรียมตัวก่อนเดินทาง
สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นกฎข้อปฎิบัติของประเทศซาอุดี้ กำหนดให้ผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญ ไม่ว่าจะเดินทางไปทำฮัจย์ หรืออุมเราะฮ์ทุกคน ต้องสังกัดบริษัทที่นำผู้แสวงบุญคนไทยไป และต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลซาอุดี้ ( คล้ายบริษัททัวร์นำเที่ยว ) บริษัทเหล่านี้จะจัดการเรื่องวีซ่า โรงแรมที่พัก อาหารการกิน รถรับส่ง ตลอดการเดินทางตั้งแต่ไปจนกลับถึงภูมิลำเนาของผู้แสวงบุญทุกคน หลังจากได้ติดต่อกับทางบริษัท และได้ส่งเอกสารต่างๆเพื่อขอวีซ่าอุมเราะฮ์ให้บริษัทที่เราจะเดินทางไปแล้ว ทางบริษัทก็จะมี หนังสือ บทดูอา ( ขอพร ) อธิบายพร้อมบอกขั้นตอนการทำพิธีตั้งแต่เริ่ม กฎข้อห้ามต่างๆ ตลอดพิธี พร้อมกระเป๋าเดินทาง 1ใบ มาให้
จากนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ฉีดวัคซีน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้กาฬหลังแอ่น ตามโรงบาลที่มีบริการรับฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นกฎของประเทศซาอุอีกเช่นกัน เรื่องสุขภาพนี้สำคัญ ก่อนไป ผมต้องฟิตร่างกายทุกวัน ตลอด1เดือน เนื่องจากพอไปถึงที่นู้น ต้องใช้กำลังกายในการประกอบพิธี และระยะทางไปกลับจากโรงแรมไปยังมัสยิดสถานที่ประกอบพิธี ระยะทางพอสมควร อีกทั้งสภาพอากาศที่นั้นตอนกลางวัน ซึ่งเดือนรอมฎอนปีนี้ ตรงกับฤดูร้อนของประเทศอาหรับ รวมทั้งซาอุดี้พอดี มีแนวโน้วว่าอูณหภูมิ อาจจะเยียบถึง 50 องศา ! ! ฉะนั้นสุขภาพร่างกายสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่สบายขึ้นมาแล้ว อาจจะไม่สามารถประกอบศาสนกิจที่นั่นได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์
ซาอุดิอาระเบียใช้สกุลเงิน”ริยาล” 1 ริยาลซาอุดี้ เท่ากับ 8.50 บาทไทย
สำหรับเงินริยาลซาอุดี้ ตามร้าน Super rich ทั้งเขียวและส้มบ้านเรา ไม่มีให้แลกน่ะครับ ถ้าต้องการแลกเงินสกุลอาหรับ ต้องไปแถวซอยนานา เรทค่อนข้างจะดีกว่าซาอุดี้ เพราะถ้าเราเอาไปแลกที่ซาอุดี้จะขาดทุนหน่อย ครั้งนี้ผมแลกไว้ก่อน 20,000 บาท เผื่อใช้จ่ายข้างหน้า ตีเป็นค่าเงินริยาลได้ 2,355 ริยาล
( cr.treasuryvault.com )
หลังจากฉีดวัคซีน โรงพยาบาลจะมีหนังสือเล่มนี้แนบมาให้ เพื่อยืนยันว่าเราได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวจริง
หน้าตาวีซ่าอุมเราะฮ์ ซาอุดิอาระเบียไม่มีวีซ่านักท่องเที่ยวน่ะครับ หลักๆมี วีซ่าฮัจย์ วีซ่าอุมเราะฮ์ วีซ่านักเรียน/นักศึกษา
27/มิ.ย//2557 วันเดินทาง
การเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ของผม มีผู้แสวงบุญ ( ฮุจยาต ) ในกรุ๊ป รวมหัวหน้ากรุ๊ป ( แซะฮ์ ) ที่ร่วมเดินทางทั้งหมด 38 คน ซึ่งส่วนใหญ่มากันเป็นคู่ บ้างมาเป็นครอบครัว แต่ผมคนเดียว โลดๆ กรุ๊ปของเราจะบินกับสายการบินโอมานแอร์ เครื่องAirbus-A330 จะไป Transfer Flight ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน และสิ้นสุดปลายทางที่ ท่าอากาศยาน อมีร มุฮัมมัด บินอับดุลอะซีซ ที่นครมาดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ใช้เวลาในการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ( กรุงเทพ ) ไปยังท่าอากาศยานซาอี๊ด ( กรุงมัสกัต ) 6 ชั่วโมง และจากท่าอากาศยานซาอี๊ด ( กรุงมัสกัต ) ไปยังท่าอากาศยาน อมีร มุฮัมมัด บินอับดุลอะซีซ นครมาดีนะฮ์ อีก 2 ชั่วโมงครึ่ง
หลังจากเครื่อง Take off สักพัก พนักงานต่อนรับบนเครื่องชาวโอมาน เสิร์ฟอาหาร พร้อมแจกมนูอาหารตามสั่ง ที่ต้องการ
เลยจัดมาชุดนึง อย่างที่เห็น อาหารบนเครื่องจะมีมาให้เป็นช่วงๆ บ้างมาเป็นอาหารว่าง ตลอดระยะเวลากว่า 6 ชั่วโมงที่อยู่บนเครื่อง อิ่มมาก
หลังจากอิ่มได้สักพัก ก็เริ่มหาของเล่นใหม่ จากหน้าจอส่วนตัว ที่เล่นกับ Remote dominance, USB larboard ไว้สำหรับดูไฟล์รูปภาพ และชาร์ทแบตมือถือ มีฟังค์ชั่นต่างๆมากมาย ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ วิทยุจากสถานีอาหรับ อัลกุรอานออนไลน์ รวมทั้งมีบริการ WIFI บนเครื่อง ( เสียค่าใช้จ่าย )
ถึงกรุงมัสกัตเวลา 23.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นโอมาน ( ตี2.20 น. เวลาประเทศไทย ) ภายในอาคารผู้โดยสาร ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ WIFI ฟรี ก็ใช้ได้เฉพาะซิมการ์ดของชาวโอมาน ระหว่างรอ Transfer จะหลับให้ได้ แต่กลัวเดี่ยวจะยาว ตกเครื่องขึ้นมามีปัญหาจะเป็นภาระของกรุ๊ป ก็ได้แต่เดินดูร้าน Duty free ไปเรื่อยๆ จนได้เวลา On board เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกขึ้นเครื่อง <
( www.molon.de )
28/มิ.ย/2557
ออกจากสนามบินซาอี๊ด ( กรุงมัสกัต ) เวลาตี2.00 ตามเวลาท้องถิ่น ( ตี 5 เวลาในไทย ) รอบนี้โอมานแอร์ ลำเล็กลงมาหน่อย ใช้เจ้า Boeing 737-800ในการบิน การเดินทางสู่นครมาดีนะฮ์ ( เป็นเมืองแรกที่จะเข้าพัก ก่อนเข้าสู่มหานครมักกะฮ์ ) เริ่มเห็นผู้แสวงบุญจากประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซีย และผู้แสวงบุญชาวโอมาน ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินนี้ด้วย ไฟล์สู่มาดีนะฮ์รอบนี้เต็มลำ การเดินทางจากสนามบินซาอี๊ด กรุงมัสกัต ไปยังสนามบิน อมีร มุฮัมมัด บินอับดุลอะซีซ นครมาดีนะฮ์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
( www.memphistours.com )
หลังจากเครื่อง Take off ได้สักพัก มีแอร์สาวชาวไทย บริการเสิร์ฟอาหารมาให้ แต่ด้วยเวลาขณะนั้น ตี2.20 ( เวลาท้องถิ่น ) กินได้นิดหน่อย อีกทั้งง่วงมาก ( นอกเรื่องสักนิด คนไทยเราทำงานสายการบินโอมานเยอะมาก ผมเจอตั้งแต่ไฟล์ไปยันกลับ ไม่ว่าจากกรุงเทพ-มัสกัต-มาดีนะฮ์-เจดดาห์-มัสกัต-กรุงเทพ ) เวลาประมาณ ตี 4.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นซาอุดี้ เครื่องบินเข้าสู่เขตนครมาดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นาทีแรกมองผ่านหน้าต่างเครื่องบิน เห็นแสงไฟสีขาว ส่องสว่างมาแต่ไกล อารมณ์ตอนนั้น บรรยาย รู้สึกตื่นเต้น อย่างบอกไม่ถูก สถานที่ ที่เห็นคือ มัสยิดนาบาวีย์ ( สถานที่ฝังพระศพของศาสดามุฮัมมัด )
5.35 น. เช้าวันที่ 28/มิ.ย/2557
ถึงสนามบินอมีรมุฮัมมัด บินอับดุลอะซีซ นครมาดีนะฮ์แล้ว ผ่านด่าน ต.ม รับกระเป๋าสัมภาระเสร็จเรียบร้อย ก็ขึ้นรถบัส เดินทางสู่โรงแรมที่พัก ระยะเวลาในการเดินทางจากสนามบินมาดีนะฮ์ เข้าสู่ตัวเมือง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที บรรยากาศที่สนามบินยังไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน
06.10 น. ถึงโรงแรมที่พัก ที่นี่จะเป็นที่พักตลอดระหว่างที่อยู่ในมาดีนะฮ์ ( อยู่ในมาดีนะฮ์ 5วัน ) โรงแรมที่ผมพักจะอยู่แถวถนน อบู อุบัยดะห์ บิน อัลญัรรอฮ์ ( أبي عبيدة بن الجراح ) เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมัสยิดนาบาวีย์ ประมาณ200 เมตร เมื่อเข้าสู่โรงแรมที่พัก หัวหน้ากรุ๊ป ( แซะฮ์ ) ก็จัดการแจกคีย์การ์ดห้อง และแจ้งชื่อรูมเมทแต่ล่ะห้อง ว่าใครพักกับใคร ( ใครไปเป็นครอบครัว สามารถเลือกพักห้องเดียวกันได้ ) ห้องที่ผมพักมีทั้งหมด3คน โรงแรมที่พักเป็นโรงแรมระดับ3ดาว แต่ผมดูแล้ว จริงๆควรจะเป็น4ดาวมากกว่า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกพร้อมมาก ตูเย็น ทีวี โต๊ะ ตู้ เตียง อ่างอาบน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครั่น หลังจากจัดการเรื่องธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว รูมเมทห้อง ( พึ่งจะมารู้จักรูมเมทที่นี้เป็นครั้งแรก ) ก็ได้ชักชวนว่า จะไปกล่าวสลาม ( ประสาทความสันติ ) ที่สุสานของท่านศาสดา และละหมาดสุนัต ( ละหมาดเคารพมัสยิด ) กัน ( การละหมาดในมัสยิดนี้1ครั้ง ผลบุญ1,000เท่า พลาดได้ไง อิอิ ) ซึ่งรูมเมทคนนี้ แกเองเคยเป็นศิษย์เก่าของมหาลัยที่นี่ และปีนี้ได้พาภรรยามาทำอุมเราะฮ์ อีกทั้งยังเคยประกอบพิธีฮัจย์มาแล้ว จึงมีความชำนาญเกี่ยวกับเส้นทาง และมีความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมายหลายอย่าง
มาทำความรู้จักนครมาดีนะฮ์
มาดีนะฮ์ เป็นเมือหนึ่งของประเทศซาอุดิอารเบีย เดิมชื่อว่า “ ยัษริบ ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ” มาดีนะฮ์ อัลมุเนาวเราะฮ์ ” หลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด ( ซ.ล ) อพยพมาอยู่ที่นครมาดีนะฮ์ มาดีนะฮ์ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของซาอุดิอาระเบีย อยู่ห่างจากเมืองเจดดาห์ประมาณ 390 ก.ม. และอยู่ห่างจากมหานครมักกะฮ์ประมาณ 470 ก.ม. เป็นเมืองที่มีอินทผาลัมดีที่สุด และอร่อยที่สุด ฉะนั้น คนที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ทุกคนก็ว่าได้ที่ต้องเดินทางไปนครมาดีนะฮ์ ถึงแม้ว่านครมาดีนะฮ์จะไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือกฎการทำฮัจย์หรืออุมเราะฮ์ว่าทุกคนต้องมาเยือน แต่เป็นเพราะนครมาดีนะฮ์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายเช่นเป็นเมืองที่ท่านศาสดามุฮัมมัดอพยพมาและเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชอิสลาม มี มัสยิดของท่านศาสดา อีกทั้งยังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามในสมัยท่านศาสดาและคอลีฟะฮ์ ( กาหลิบ ) มีหลุมศพของท่านศาสดามุฮัมมัด บรรดาอะลุลบัยต์ ( วงศ์วานเชื้อสายของท่านนบีมุฮัมมัด ) รวมถึงบรรดาศอฮาบะฮ์ ( อัครสาวก ) ฝังอยู่ ณ ที่นี่อีกมากมาย นครมาดีนะฮ์ ถือเป็นแผ่นดินต้องห้าม ( แผ่นดินฮารอม ) เฉกเช่นเดียวกับ มหานครมักกะฮ์ และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าได้
ประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัดเดินทางออกจากตำบลกุบาฮ์นั้น อูฐที่ท่านใช้เป็นพาหนะก็พาท่านมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพวก “ บนีนัจญาร ” ( วงศ์วานของเผ่านัจญาร ) และอูฐของท่านได้หมอบลงนอนโดยไม่มีใครบังคับ สถานที่ตรงที่อูฐหมอบนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพี่น้องสองคนที่กำพร้าชื่อ ซะห์ และสุไฮล์ ลักษณะที่ดินแห่งนี้เป็นที่กว้างพอสมควร เดิมไว้สำหรับตากอินทผาลัม ต่อมาท่านศาสดา ได้เชิญเด็กทั้งสองที่เป็นเจ้าของที่ดินมาพบแล้วขอซื้อเพื่อสร้างมัสยิด แต่เด็กทั้งสองบอกว่าจะขออุทิศ ( วากัฟ ) ให้โดยไม่คิดมูลค่า แต่ทว่าท่านศาสดา ต้องการขอซื้อ และในที่สุดก็เจรจาตกลงซื้อขายกันเรียบร้อย ที่ดินผืนนี้บางส่วนเป็นหลุมฝังศพของพวกมุชริกีน ( ผู้ตั้งภาคี ) มาก่อน บางส่วนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ และบางส่วนมีต้อนอินทผาลัมอยู่ ดังนั้นท่านศาสดาจึงสั่งให้ขุดหลุมศพออก แล้วถ้ามีซากศพก็ให้นำออกไปฝังที่อื่น ที่ตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อก็สั่งให้กลบเสีย ส่วนต้นอินทผาลัมนั้นท่านก็สั่งให้ตัดออก เมื่อจัดพื้นที่เรียบร้อยแล้วท่านศาสดา จึงปลูกมัสยิดขึ้นมาโดยใช้อิฐก่อ ความสูงของอาคารนั้นสูงกว่าศรีษะเล็กน้อย ส่วนเสาของมัสยิดใช้ต้นอินทผาลัมทำ หลังคานั้นใช้ทางอินทผาลัมมามุงไว้เพื่อกันแดด การก่อสร้างนี้ท่านศาสดา ได้ลงมือทำเองร่วมกับบรดาศอฮาบะฮ์ ( สาวก ) ของท่าน ซึ่งการก่อสร้างในครั้งแรกนั้นไม่ใหญ่โตมากนักใช้เนื้อที่เพียง 1,050 ต.ร.ม. ความยาว 35 เมตร และกว้าง 30 เมตร เท่านั้น ต่อมามีการขยายเพิ่มเติมหลายครั้ง จนปัจจุบันนี้ประมาณ 11 ครั้ง
วินาทีแรกที่ย่างก้าวเข้าสู่บริเวณมัสยิดบาวาวีย์ สัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ ร่มรื่นของบริเวณสถานที่อันสำคัญนี้ รู้สึกขนลุกตลอดเวลา และชูโกรต่ออัลลอฮ์ ( ขอบคุณพระเจ้า ) ที่ให้ข้าพระองค์ มาเยือนแผ่นดินมาดีนะฮ์ อันจำเริญนี้
ที่มาดีนะฮ์ ที่นี่ ก่อนจะเข้ามัสยิด จะมีประตูทางเข้าแยกสถานที่สำหรับชายหญิงชัดเจน เมื่อถึงเวลาประกอบศาสนกิจละหมาดจะไม่มีการละหมาดปะปนกันอย่างเด็ดขาด จะมีตำรวจทั้งชายหญิง เจ้าหน้าที่ประจำมัสยิด เฝ้าคอยดูแลสถานที่ต่างๆ แม้กระทั้งการเข้าเยี่ยมสุสานของท่านศาสดามุฮัมมัด จะมีการแบ่งเวลาเข้าเยี่ยมเป็นรอบๆสำหรับผู้หญิง หรือถ้าหากมีผู้ชายหลุดเข้าไปในเขตผู้หญิง เจ้าหน้าที่จะไล่ทันที หรือใครที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสร้างความวุ่นวาย อาจจะโดนตำรวจศาสนาจับได้ทุกเวลา เพราะตำรวจที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่บริเวณมัสยิดจะมีอยู่ทุกๆจุด
เดินเข้ามัสยิด ด้วยอาการสงบและสำรวมตลอดเวลา บรรยากาศในมัสยิดจะหนาวเย็นมาก เนื่องจากตามเสามัสยิดจะมีแอร์ติดตั้งฝังอยู่กับเสาทุกต้น
ภายในมัสยิดนาบาวีย์ ( มัสยิดท่านศาสดา ) จะมีเขตพิเศษอยู่เขตนึงเรียกว่า เราเฎาะฮ์ คือ สถานที่อยู่ระหว่างมิมบัร ( แท่นอ่านบทธรรมเทศนา ) กับบ้านของท่านศาสดามุฮัมมัด ( ซ.ล. ) ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 330 ตารางเมตร ( ท่านศาสดามุฮัมมัดเคยกล่าวว่า “ พื้นระหว่างบ้านของฉันกับมิมบัรมันเป็นสวนหนึ่งแห่งสวนสวรรค์ บันทึกโดยบุคคอรี/มุสลิม ) เป็นบริเวณที่ท่านนบีพำนักพักพิงอาศัยเป็นเนืองนิจขณะท่านมีชีวิต โดยเป็นที่รวมในการละหมาดญามาอะห์ ( กลุ่ม ), ที่อบรมตักเตือน วางแผนกิจการต่างๆพร้อมกับบรรดาศอฮาบะห์ ( สหายของท่าน )
CR.internet
บริเวณที่เป็นเราเฎาะฮ์ถูกปูด้วยพรมสีเขียวและมีเสาหินอ่อนสีขาวขอบทองเป็นการแยกออกอย่างชัดเจนกับบริเวณอื่นที่ไม่ใช่เราเฎาะฮ์ ซึ่งจะปูด้วยพรมสีแดงมีเสาเป็นปูนสีครีม ซึ่งบริเวณทางเข้านี้ มีผู้คนออกันอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อหาทางเข้าไปละหมาดที่เราเฎาะฮ์ให้ได้ แม้จะเพียงสักครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นความใฝ่ฝันของบรรดาผู้แสวงบุญที่หวังว่าจะได้มีโอกาศ ได้เข้ามาละหมาดและขอพร ในเขตสวนหนึ่งแห่งสวนสววรค์ ซึ่งผมก็ได้เข้าไปละหมาดสุนัต ( เคารพมัสยิด ) และละหมาดสุนัตดุฮา ( การละหมาดช่วงดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นที่ส่งเสริม แต่ไม่บังคับ ) เพราะช่วงเวลาที่ผมเข้าไปมัสยิด ยังเป็นช่วงเวลาเช้า และอนุญาติให้กระทำได้อยู่
เดินเข้าไปจะเจอชาติต่างๆมากมายยืนรอกัน เพื่อให้ได้เข้ามาละหมาดบริเวณนี้ ผมรอสักพักเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้เข้ามาละหมาดในเขตเราเฎาะฮ์ ถ้ามีคนละหมาดในเขตเราเฎาะฮ์เต็ม เจ้าหน้าที่จะกั้นผ้ากันไม่ให้คนที่จะเข้ามาละหมาดเข้ามาก่อน แต่จะให้เข้ามาในรอบต่อไป ( สังเกตเขตเราเฎาะฮ์ พรมจะสีเขียว )
หลังจากละหมาดสุนัตทั้ง2 เสร็จสิ้นแล้ว ผมก็เดินไปให้สลาม ( การประสาทความสันติ ) แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวาซัลลัมที่อยู่ถัดจากเขตเราเฎาะฮ์ไปไม่กี่เมตร ตรงบริเวณนี้จะเป็นทางเดินแบบวันเวย์ เดินแล้วออก
สุสาน ( กูบุร ) สถานที่ฝังพระศพของท่านศาสดามุฮัมมัด ( ซ.ล ) หรือที่มุสลิมจะเรียกกันว่า กูบูรท่านนบี ในอดีตคือบ้านและห้องนอนของท่าน ที่ได้อยู่อาศัยอยู่กับท่านหญิงอาอิชะฮ์ ( ร.ฎ ) จนท่านกลับสู่ความเมตตาของพระเจ้า และถัดจากสุสานของท่านศาสดามุฮัมมัด จะเป็นสุสานของท่านคอลีฟะฮ์ ( กาหลิบที่1 ) อบูบักร อัศศิดดิ๊ก สหาย ( ศอฮาบะฮ์ ) คนสนิทของท่านศาสดา และถัดจากสุสานท่านอบูบักร จะเป็นสุสานของท่านคอลีฟะฮ์ ( กาหลิบที่2 ) คือท่านอุมัร อิบนิค๊อตฎ๊อบ สหาย ( ศอฮาบะฮ์ ) คนสนิทของท่านศาสดา ก็ถูกฝังอยู่เรียงกันในบริเวณนี้ ( สังเกตประตูช่องที่2ในภาพ จะมีชื่อวงกลมสีเขียว ตรงลูกกรง เรียงกัน3ชื่อ จากซ้ายไปขวา คือท่านนบีมุฮัมมัด ศ๊อลลัลลอฮู อะลัยฮิ วาซัลลัม ท่านอบูบักร อัศศิดดิ๊ก และท่านอุมัร อิบนิค๊อตฎ๊อบ )
ผมเดินผ่านหน้าสุสานท่านศาสดามุฮัมมัด พร้อมทั้งสหายทั้งสองท่าน พร้อมกล่าวสลาม ( ประสาทความสันติ ) แด่ท่านศาสดาและสหายของท่าน รู้สึกน้ำตาคอ เดินมองลอดผ่านลูกกรง จะเห็นผ้าสีเขียวปักลายจากอัลกุรอานครอบตัวสุสานไว้อีกที ตรงบริเวณนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ดูแลมัสยิดนาบาวีย์ จะยืนเฝ้าหน้าสุสานอยู่ และได้คอยบอกให้ผู้แสวงบุญเดินต่อไปอย่าหยุด จนออกประตู เพราะบางคนเดินแล้วหยุดอยู่นาน ทำให้คนอื่นๆที่อยู่ด้านหลังเกิดการออ และเบียดกัน ด้านหน้าของสุสานของท่านมีทางเดินที่พาดผ่านมาจากทางเข้าประตูบาบุสลาม และทางออกสู่ประตูทางด้านสุสานญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์
หลังจากละหมาด และเยี่ยมสุสานท่านศาสดาเสร็จเรียบร้อย ก็เดินดูสถานที่รอบๆมัสยิด โดมสีเขียวเหนือมัสยิดนาบาวีย์ที่เห็น คือสัญลักษณ์ว่า เป็นสถานที่ฝังพระศพของท่านศาสดามุฮัมมัด ฝังอยู่ตรงจุดนี้ ที่เพิ่งเดินผ่านมาตะกี้ ( ประตูทางออกหลังจากเยี่ยมสุสานท่านศาสดา ตรงร่มมุมขวาล่าง )
ถ่ายเป็นที่ระลึกสักรูป ขอเบลอหน้าหน่อยน่ะครับ
เดินสำรวจบริเวณรอบๆ สถานที่สำคัญไปเรื่อยๆ จนมาเจอมัสยิดท่านคอลีฟะฮ์ ( กาหลิบที่1 ) อบูบักร อัศศิดดิ๊ก ถ้าจำไม่ผิด จะอยู่ทางด้านตลาดฝังสุสานญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์
ในอดีตบริเวณนี้คือสนามกว้าง เมื่อถึงวันอีด ( วันรื่นเริงทางศาสนาอิสลาม ) ในสมัยกาหลิบ ( คอลีฟะฮ์ ) อบูบักร อัศศิดดิ๊ก ปกครองมาดีนะฮ์ ท่านก็ได้ใช้ให้ชาวเมืองมาดีนะฮ์มาละหมาดกันตรงบริเวณนี้ เนื่องจากตัวอาคารมัสยิดนาบาวีย์ ไม่สามารถจุรองรับชาวเมืองซึ่งมีจำนวนมากได้ และสามารถที่จะให้สตรีที่ละหมาดไม่ได้ก็มาร่วมฟังบทธรรมเทศนา ( คุตบะฮ์ ) วันอีดได้อีกด้วย ถัดมัสยิดท่านคอลีฟะฮ์อบูบักร มีมัสยิดท่านคอลีฟะฮ์อุมัร มัสยิดท่านคอลีฟะฮ์อุสมาน และมัสยิดท่านคอลีฟะฮ์อาลี ทั้ง4กาหลิบ ( คอลีฟะฮ์ ) ในอิสลาม ซึ่งประวัติการก่อสร้างมัสยิด เหมือนกับมัสยิดท่านคอลีฟะฮ์อบูบักร ตั้งอยู่เรียง ใกล้ๆกัน ชาวอาหรับถ้าหากสถานที่ไหนมีประวัติศาสตร์สำคัญๆจะมีการสร้างมัสยิดไว้เพื่อเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงที่มาและความสำคัญต่างๆได้
หลังเดินสำรวจบริเวณสถานที่ต่างๆอยู่สักพัก ผมก็รู้สึกคัดจมูก อาจจะเป็นเพราะฝุ่นทะเลทราย และยังปรับตัวไม่ทัน อากาศค่อนข้างร้อนแล้ว ก็เลยเดินกลับที่พัก และหาซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ไปด้วย ตามหน้าโรงแรมที่พักของผู้แสวงบุญ จะมีวัยรุ่นซาอุดี้ ตั้งร้านขายซิมกันตลอดสาย สามารถเลือกต่อรองราคาและเลือกแพคเก็จกันได้ สรุปของผมได้ราคามา 100 ริยาล ต่อจาก 120 ริยาล ประมาณ 900บาท พร้อมแพคเก็จ 4G ตลอด 1 เดือน โทรกลับไทยราคาก็ไม่แพง ถือว่าโอเค แถม 4G ซาอุดี้เร็วมากด้วย
Read more: Azerbaijan Premier League
หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของคืนที่ 28/มิ.ย / 2557 ตรงกับวันที่30 เดือนชะห์บาน จะเข้าสู่วันที่1เดือนรอมฎอน ฮ.ศ 1435 เดือนแห่งการถือศีลอดของมุสลิมทั่วโลก ในทางศาสนาอิสลามถือว่ากลางคืนมาก่อนกลางวัน การถือศีลอดทั่วโลกอาจะแตกต่างกันคนละวัน เพราะในแต่ล่ะประเทศ จะต้องอาศัยการดูดวงจันทร์ในแถบประเทศตัวเอง หรือประเทศรอบข้างที่มีพรมแดน รวมทั้งเวลาที่เหมือนกัน เดือนรอมฎอนปีนี้ของประเทศซาอุดี้และรอบๆประเทศอาหรับ เข้าวันที่ 29/มิ.ย/2557ซึ่งตรงกับประเทศไทยเราด้วย ไฮไลท์ของผมที่เดินทางมาแสวงบุญในครั้งนี้ อยู่ตรงนี้แหละครับ
หลังจากละหมาดอีชา ( ช่วง3ทุ่ม ) ซึ่งเป็นการละหมาดครั้งสุดท้ายของวัน ( 5เวลา ) เสร็จสิ้นแล้ว คืนนี้เป็นค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอน จะมีการละหมาดเฉพาะ และเป็นการละหมาดในคืนรอมฎอนเท่านั้น เรียกว่าละหมาดตารอเวียะฮ์ ละหมาดตารอเวียะฮ์ เป็นการละหมาดสุนัต ( ส่งเสริมให้กระทำ ) แต่ไม่บังคับ ใครทำก็ได้ผลบุญ ใครไม่ทำก็ไม่บาป ที่นครมาดีนะฮ์ การละหมาดตารอเวียะฮ์จะเริ่มหลังจากละหมาดอีชา มีจำนวนละหมาด 23 ครั้ง ( รอกาอัต ) ทำทีละ 2 ( รอกาอัต ) จนครบ 20 เมื่อถึงครั้งที่ 20 ให้ทำทีละ 2 อีกครั้ง และครั้งสุดท้ายเหลืออีก 1 ก็ให้ทำเพียงแค่ 1 จนครบ 23 ( รอกะอัต ) งงมั้ย
อิหม่ามจะทำการอ่านกุรอานในการละหมาด คืนละ 1 ยุซ ( บท ) และมีการดูอา ( ขอพร ) หลังจากเสร็จสิ้นละหมาด ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง เสร็จก็เกือบเที่ยงคืนพอดี ถ้าใครเหนื่อยหรืออยากหาอะไรที่สดชื่นกิน ที่นี่จะมีบริการน้ำซัมซัมทั้งแบบเย็นและธรรมดาประจำอยู่ตามเสามัสยิดตลอดเวลา คืนนี้เป็นคืนแรกของเดือนรอมฎอน คนค่อนข้างเยอะเนื่องจากมีชาวเมืองมาร่วมละหมาดด้วย ถ้าหากอยากเข้าไปละหมาดภายในมัสยิด ต้องรีบเข้าไปก่อนจะมีการอาซาน ( ประกาศเรียกละหมาด ) เพราะถ้าหากไปช่วงหลังอาซาน สถานที่ละหมาดคงจะเป็นลานทางเดินข้างนอก หรือไม่ก็บนถนนแน่นอนครับ
บรรยากาศก่อนการเริ่มละหมาดตารอเวียะฮ์ ภายในมัสยิดนาบาวีย์ นั่งรอจนจะหลับ เนื่องจากยังปรับเวลาไม่ได้ 3 ทุ่มเวลาซาอุดี้ ตรงกับตี 1 บ้านเราและแอร์ที่เย็นสบายมาก
เสร็จละหมาดตารอเวียะฮ์คืนแรกปุ๊ป ก็กลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนทันที เนื่องจากคืนนี้ตอนตี 3.20 ต้องตื่นมากินซะโฮร ( อาหารก่อนเริ่มถือศีลอด ) อีกทั้งพรุ่งนี้เริ่มถือศีลอดเป็นวันแรก ส่วนอาหารที่โรงแรมจัดเตรียมไว้ให้เรา เป็นอาหารไทยแบบบุฟเฟ่ต์ ชาติไหนกินอาหารแบบใด เค้าจะจัดให้แบบนั้น
29/มิ.ย//2557 วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ 1435
ตื่นมาตี 3.30 น. ล้างหน้า แปรงฟัน ลงไปกินอาหารซะโฮร เสร็จแล้ว รีบขึ้นมาอาบน้ำ บอกได้เลยว่าน้ำที่นี้ ร้อนมาก เนื่องจากท่อส่งน้ำของโรมแรมอยู่ใต้ดิน+อากาศที่ร้อนของซาอุดี้ ปีนี้ตรงกับฤดูร้อนเด่ะ เอาเด้ ร้อนแบบต้องเอาน้ำมาลูบตัวก่อน หรือเปิดให้เต็มอ่างอาบน้ำละอาบทีเดียว ใครเปิดแล้วเอาน้ำมาล้างเหมือนที่บ้าน หน้าอาจจะโดนลวกได้ หลังจัดการธุระส่วนตัวเสร็จเรียบร้อย ก็ไปละหมาดศุบฮิ ( ตอนเช้า ) ที่มัสยิดนาบาวีย์ อากาศตอนเช้าค่อนข้างดี
เช้าวันนี้ เป็นเช้าแรกของรอมฎอน หลังจากละหมาดศุบฮิ ( ตอนเช้า ) เสร็จสิ้น จะเห็นพี่น้องมุสลิมทุกชาติพันธ์ จีน อินเดีย ปากี มลายู อาหรับ เปอร์เชีย ฝรั่ง อัฟริกัน ทุกสีผิว นั่งอ่านอัลกุรอานกันในมัสยิด ( เพราะรอมฎอน เป็นเดือนของการประทานอัลกุรอานลงมา ) บ้างนั่งซิกรุลลอฮ์ ( กล่าวคำรำลึกถึงพระเจ้า ) ส่วนใครที่ต้องการฟังบรรยายศาสนา ที่นี้จะมีนักปราชญ์ นักการศาสนา บรรยายหลังละหมาดในตอนเช้าทุกวัน ใครที่ฟังภาษาอะไรเข้าใจ ก็สามารถนั่งฟังได้ ส่วนใหญ่ที่เห็น ภาษาหลักๆ คือ อาหรับ อูรดู และมลายู
คัมภีร์อัลกุรอานจะตั้งอยู่ทุกเสาๆ ในมัสยิด เพื่อให้ทุกคนๆสามารถหยิบอ่านได้อย่างสะดวก
จะเห็นพี่น้องมุสลิมนั่งอ่านอัลกุรอานกันทุกพื้นที่
ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ซ้าย ขวา หน้า หลัง บริเวณมัสยิด เจอทุกพื้นที่จริงๆ มาชาอัลลอฮ์ !
หลังจากหลังกลับละหมาดศุบฮิ ( ตอนเช้า ) ผมกลับไปก็หลับยาว รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาอีกที ใกล้เที่ยง เพราะรูมเมทปลุก รีบอาบน้ำแต่งตัว เพื่อจะไปละหมาดดุฮริ ( ช่วงเที่ยงครึ่ง ) ออกจากที่พักแดดค่อนข้างแรงพอสมควร แต่ดีที่คลุมผ้าชีมัค และสวมแว่นตา ผมได้เจอกับอาจารย์ที่มากรุ๊ปเดียวกัน ตรงหน้าโรงแรม ซึ่งแกเองพาผู้แสวงบุญมาทำฮัจย์ และอุมเราะฮ์ทุกๆปี จึงมีความชำนาญเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองนี้ ไม่ถึง 5 นาที ก็เดินถึงหน้าประตูมัสยิด อาจารย์ก็พาเดินเข้าทางประตูชื่อบาดัร เป็นประตูที่19 จากร้อยๆกว่าประตูทั้งประตูใหญ่และประตูเล็กของมัสยิด หลังจากนั้นมาประตูบาดัร เป็นประตูที่ผมเดินเข้าออกส่วนใหญ่ เนื่องจากจะจำได้ง่าย และเดินเข้าสะดวก ไม่ต้องแย่งกันเข้า และไปเดินเบียดกันตามประตูใหญ่ๆ สามารถเดินลัดเลาะไปตามทางและเข้าถึงบริเวณที่ต้องการได้อย่างสะดวก
พอเริ่มที่จะจับทิศทาง มุมสถานที่ต่างๆได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่จำ เข้าไปนั่งรอ สักพักเสียงอาซาน ( เสียงเรียกร้องสู่การละหมาด ) ดังขึ้นพอดี หลังละหมาดดุฮริเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นสักแปป จะได้ยินเสียงคนที่อาซาน เรียกว่ามุอัซซิน จะประกาศประมาณว่า จะมีการละหมาดญานาซะฮ์ ( การละหมาดขอพรให้แก่ศพ ) ขึ้นแล้วน่ะ ที่นี่เป็นเรื่องธรรมดาครับ คนเยอะ มีการเสียชีวิตทุกวัน วันละหลายๆ มัยยิต ( ศพ ) ตั้งแต่ผมเดินทางมาถึงที่นี้ ทุกช่วงเวลาหลังละหมาด ( ทั้ง 5 เวลา ) จะต้องตามไปการละหมาดขอพรให้แก่ศพ หรือละหมาดญานาซะฮ์ทุกครั้ง อยู่ที่นี้ทำให้รำลึกถึงความตายได้ทุกเวลา
บ่าย 3 โมง ช่วงก่อนละหมาดอัศริ ( ช่วงบ่าย ) ออกจากโรงแรมมา รู้สึกอากาศจะร้อนกว่าตอนเที่ยงมาก ทั้งๆที่คลุมผ้าชีมัค และใส่แว่นกันแดดแล้ว ระหว่างเดินไปมัสยิด ก็เลยเปิดดูเครื่องวัดอุณหภูมิซ่ะหน่อย ห๊ะ ตกใจครับ ! เครื่องบอก 45 องศา ( คิดในใจ แต่ไม่ได้บ่นเป็นคำออกมา ) อยู่ที่นี้หลายคนที่เคยมาบอกผมทุกคนว่า มาถึงที่นี่ต้องสำรวมการพูดเป็นอย่างมาก พูดในสิ่งที่ดี สิ่งไม่ดีก็ไม่ต้องพูด เงียบดีที่สุด และคิดซะว่า ทุกวินาที ที่อยู่ที่นี่เป็นการทดสอบจากพระเจ้า ที่นี่แปลกแต่จริง ถ้าพูดอะไร จะเป็นจริงทุกอย่าง ใครบ่นว่าร้อน ก็ร้อนจริงๆ ใครบ่นว่ากินไม่ได้ ก็ไม่ได้จริงๆ เมื่อถึงมัสยิด ผมกะว่าเข้าไปละหมาดในเขตบริเวณที่เรียกว่า ” เฎาซิอะฮ์ ” ซึ่งเป็นตัวอาคารมัสยิดหลังเก่า ที่ถูกสร้างและตกแต่งในสมัยจักรวรรดิอิสลามออตโตมาน ( อุษมานียะฮ์ ) ที่ ปกครองนครมาดีนะฮ์ เมื่อหลายร้อยปีก่อน บริเวณนี้เข้ายากเหมือนกัน เพราะคนจะเดินเข้าไปนั่งจับจองกันเร็วมาก เรียกได้ว่า ใครเห็นก่อน ก็ได้ไป ด้วยมารยาทของคนเอเชีย ไม่ว่าไทย มาเลย์ หรืออินโด เป็นชาติที่เกรงใจ ไม่กล้านั่งแทรกระหว่างกลาง ที่มีว่างอยู่นิดหน่อย เมื่อถึงเวลาละหมาดอัสริ สรุปคืออดครับ ไม่มีที่ละหมาด ต้องเดินออกมาละหมาดตรงลานข้างนอกแทน
บริเวณนี้ที่เรียกว่าเฎาซีอะฮ์
หลังจากละหมาดอัศริเสร็จแล้ว ผมมีโอกาศเดินไปเยี่ยมกูบูร ( สุสาน ) ญันนาตุ้ลบาเกียฮ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า สุสานบาเกียะฮ์ โดยเดินตรงมาจากประตูบาบุสลาม จะเจอตลาดนัดชั่วคราว เวลาเปิดหลังละหมาด จะขายพวกเสื้อผ้า เครื่องประดับ อยู่หน้าทางเข้าสุสานบาเกียะฮ์ ตลาดที่นี่ ไม่ว่าจะอยู่ตรงบริเวณไหน การซื้อขายจะคึกคักกันทุกแห่ง เรียกได้ว่าผู้แสวงบุญช๊อปปิ้งกันกระจาย
เดินตัดทางตลาดนัดชั่วคราวหน้าบาเกียะฮ์เข้ามา ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา เดินเข้าไปในสุสานจะเจอเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลสุสานยืนเฝ้าและคอยอธิบายหน้าหลุมศพแต่ละบุคคลที่สำคัญในประวัติศาสตร์อิสลามอยู่ สุสานบาเกียะฮ์นี้อนุญาติให้ผู้ชายเท่านั้นน่ะครับที่สามารถเข้าไปได้ และไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเข้า ดังนั้นผู้แสวงบุญผู้หญิงก็ได้แต่เกาะลูกกรงของกำแพงสุสานดูอยู่ห่างๆจากข้างนอก
สุสานบาเกียะฮ์ เป็นสุสานเก่าแก่ มีมาตั้งแต่ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด เป็นสุสานที่ฝังบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ( วงศ์วาน เครือญาติ เชื้อสาย ) ของท่านนบีมุฮัมมัด พร้อมทั้งภรรยาของท่าน และบรรดาศอฮาบะฮ์ ( อัครสาวก ) ถูกฝังอยู่ในนี้ถึง 10,000 คน
ถ้าหากมองย้อนไปยังทางที่เดินเข้ามา จะเห็นตัวอาคารมัสยิดนาบาวีย์ อยู่ทางด้านหลัง
ก่อนออกจากสุสานให้ชาวปากีสถานถ่ายรูปให้ ที่ต้องปิดแบบนี้เพราะกำลังถือศีลอด+สภาพอากาศที่นั่น อีกทั้งในบริเวณสุสานบาเกียะฮ์เป็นที่โล่งแจ้งไม่มีการสร้างอาคารทับตัวสุสาน จะมีอีกทีก็ตรงทางออก ซึ่งเป็นที่พักล้างหน้าและอาบน้ำละหมาด
เยี่ยมสุสานบาเกียะฮ์เสร็จเรียบร้อย ผมก็เดินกลับโรงแรมเพื่อจะไปชาร์ตโทรศัพท์ และงีบต่อสักพัก คิดว่าค่อยกลับไปมัสยิดอีกทีตอนใกล้เวลาละศีลอดก็เริ่มเห็นผู้แสวงบุญนั่งจับจองที่เพื่อรอเวลาละศีลอดบริเวณลานข้างนอกมัสยิด เวลาตอนนั้นเพิ่ง5โมง แต่ล่ะที่จะแยกชายหญิงชัดเจนและเห็นเด็กๆ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธา ต่างนำอาหาร ผลไม้ นม อินทผลัม ฯลฯ เตรียมนำมาแจกแก่ทุกคน ที่เดินผ่านไปมา
ประมาณ6โมงเย็น ผมออกจากโรงแรมเพื่อมุ่งหน้าสู่มัสยิด และได้เห็นบรรยากาศเช่นนี้ รอบๆมัสยิด เนื่องจากในช่วงรอมฎอนที่นี่ จะคึกคักชื่นมื่นและแปลกตามาก เนื่องจากบรรดาเศรษฐีชาวซาอุดี้ พร้อมกับผู้มีจิตศรัทธา จะมีการจัดเลี้ยงอาหารเป็นอย่างดีให้กับผู้เดินทางมาละศีลอดที่มัสยิดนาบาวีย์ ในแต่ละสถานที่แต่ละโซน ที่มีการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดไว้ จะมีเด็กๆชาวมาดีนะฮ์และเจ้าภาพ ยืนเชิญชวนเรียกผู้คน บางทีก็ให้เด็กๆไปหามาตามที่จะตั้งเป้าเลี้ยงไว้ มีการประชิดตัว กอดคอ มีการชักชวน พูดคุย ตามตื้อทุกคนที่มาจะละศีลอด ผมเองก็โดนเหมือนกัน โดนเด็กๆตามตื้อ แต่บรรยากาศเหล่านี้จะเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตรและเป็นการพูดคุยแบบมีรอยยิ้ม การประชิดตัว กอดคอ ชักชวน พูดคุย ในที่นี่หมายถึง เป็นการร้องขอของเจ้าภาพหรือผู้ที่เลี้ยงอาหาร เพื่อที่จะให้เรานั้นไปนั่งที่ๆ เค้าจัดเตรียมเลี้ยงอาหารละศีลอดไว้ มีทั้งข้าวหมกแพะ ข้าวหมกแกะ นม ผลไม้ อินทผลัม อาหารอีกมากมาย ที่นี่มีแต่คนแย่งกันทำความดี แย่งกันเลี้ยงอาหารละศีลอด แย่งกันแจกอาหารละศีลอด ผมประทับใจน้ำใจของชาวนครมาดีนะฮ์และรักมาดีนะฮ์มากกว่าเดิม นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา
สองข้างทางตลอดเส้นทางสู่มัสยิดนาบาวีย์
ใครเดินผ่าน ก็จะโดนเรียก โดนร้องขอ ให้ไปนั่งในที่ๆเจ้าภาพจัดเตรียมอาหารไว้
อยากจะนั่งละศีลอดตรงไหนเลือกกันตามสบาย
อยากจะกินอะไรก็สามารถเลือกกันได้ตามใจชอบ
บริเวณทางเข้าหน้ามัสยิด
มีการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดอยู่ทุกพื้นที่
ภายนอกมัสยิดส่วนใหญ่จะเป็นอาหารหนักจะเน้นประเภทข้าวหมก ข้าวบุคอรี
ระหว่างที่ผมเดินเข้าไปในมัสยิด เพื่อที่ต้องการละศีลอดภายในมัสยิด ก็โดนดักและโดนเรียกตลอดเวลา โดนทั้งเจ้าภาพผู้ใหญ่ โดนทั้งเด็ก เป็นการร้องขอ เหมือนเราเป็นแขกของเค้า เข้าไปไม่ไกลเท่าไหร่ สุดท้ายก็ไปไม่รอดโดนเจ้าภาพชาวมาดีนะฮ์ ร้องขอให้นั่งละศีลอดในที่ๆเค้าจัดเตรียมไว้ หลังจากผมโดนไป ก็ได้มีคนไทยอีก 2 คน ตามมาติดๆ โดนเรียกเหมือนกัน
อาหารละศีลอด ภายในมัสยิด เจ้าภาพบริเวณโซนนี้เลี้ยง มีทั้ง ขนมปังชิ้นเบอเริ้ม น้ำซัมซัม กาวาฮ์ ( กาแฟอาหรับ รสชาติแบบยาต้มสมุนไพรจีน ) อินทผลัมพันธฺ์อัจวะฮ์ เป็นพันธ์ดีที่สุดของเมืองมาดีนะฮ์ ( สีดำๆ 3 เม็ด ) พร้อมด้วยอินทผลัมสด และโยเกิร์ต
หลังจากละศีลอดและละหมาดมักริบ ( ประมาณทุ่มสิบนาที ) เรียบร้อย ก็เดินกลับโรงแรม กินอาหารบุฟเฟ่ต์ที่ทางโรงแรมจัดเตรียมไว้ให้
ความสวยงาม บริเวณเฎาซิอะฮ์ ยามค่ำคืน
กินบุฟเฟ่ต์โรงแรมเสร็จเรียบร้อย ผมก็เดินกลับไปมัสยิดอีกครั้งเพื่อละหมาดอีชา ( ช่วง 3 ทุ่ม ) และละหมาดตารอเวียะฮ์ของคืนรอมฎอนที่ 2 ชีวิตประจำวันที่อยู่มาดีนะฮ์ช่วง1-2วันแรก จะเป็นอยู่แบบนี้ตลอด
Read more: Willem Dafoe
ติดตามตอน 2 จะพาไปที่ไหนต่อ เจอกันเร็วๆนี้ครับ
ที่มา : Pantip.com
โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของกระทู้เรียบร้อยแล้ว