หากตั้งคำถามกับวัยรุ่นในปัจจุบันว่า “อาชีพที่อยากเป็นคืออะไร” คำตอบของหลายคนคือ ‘ยูทูปเบอร์’

อธิบายอย่างง่ายที่สุด อาชีพนี้คือคนทำคลิปวีดีโอลงในช่องยูทูป เมื่อสร้างฐานคนติดตามได้จำนวนหนึ่ง ช่องจะมีรายได้จากยอดวิวและรายได้จากผู้สนับสนุน เมื่อถึงเวลานั้น งานอดิเรกที่ทำเอาสนุกจะเปลี่ยนเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้
สำหรับประเทศไทย มีช่องจำนวนหนึ่งอยู่ในกลุ่มบุกเบิก เอาจริงเอาจัง สร้างอิมแพค เกิดรายได้ และกลายเป็นตัวอย่างให้หลายคนอยากทำตาม หนึ่งในนั้นคือช่อง VRZO รายการวาไรตี้ที่มีคนติดตามหลายล้านคน
‘อิสระ ฮาตะ’ คือหนึ่งในทีมงานของช่อง VRZO ความรับผิดชอบหลักคือการตัดต่อที่สร้างสรรค์และเก็บรายละเอียดก่อนเผยแพร่ เมื่อเขาปรากฏตัวในหลายคลิป ความสนุกสนานและการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ค่อยๆ ทำให้เขาเป็นคนมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์พอสมควร

เวลาผ่านไปหลายปี ช่อง VRZO ที่กำลังไปได้ดี เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน อิสระหายตัวจากโลกออนไลน์ไปร่ำเรียนและใช้ชีวิตที่อเมริกา โดยปล่อยลูกชายอายุ 4 ขวบไว้ให้พ่อแม่ช่วยดูแล
ใช่ ตอนนั้นเขามีลูกแล้ว หรือพูดให้ตรงกว่านั้น หลายปีที่เขาทุ่มเทกับช่อง VRZO แทบไม่มีใครรู้เลยว่า เขาเป็นพ่อแล้ว
ไม่ถึงขั้นทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย แต่ตลอด 4 ปีช่วงทำ VRZO และอีก 4 ปีช่วงไปใช้ชีวิตที่อเมริกา ลูกชายไม่ใช่เรื่องแรกที่เขานึกถึง ลึกๆ แล้วชีวิตดำเนินไปกับความรู้สึกผิด เมื่อความรู้สึกในใจเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจกลับประเทศไทยแล้วเรียงลำดับกิจวัตรในชีวิตใหม่ แม้ว่างานคือช่อง Rubsarb ที่ทำกับเพื่อน แต่มันไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดอีกแล้ว
หลังจากกลับเมืองไทยได้ไม่นาน อิสระไปออกรายการ ‘ หาเรื่อง ( คุย ) ’ ของจอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ อัพเดทชีวิตและเล่าถึงความสนใจของตัวเองในเรื่องต่างๆ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเมือง ช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ผมเห็นเขาที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน งานที่สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้งในโอกาสครบรอบ 88 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และช่วงเย็นของวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ผมเห็นเขาอีกครั้งในงาน ‘ หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง : # saveวันเฉลิม ’ ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ ชายร่างผอม หัวเกรียน ไว้เคราหนา และใส่แมสก์ปิดครึ่งหน้า ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนเป็นเวลานานพอสมควร เขาเลือกอยู่วงนอกของกิจกรรม แต่ท่าทีบ่งบอกว่าสนใจเนื้อหาในวันนั้นไม่น้อย
ณ ออฟฟิศของช่อง Rubsarb ในย่านนวมินทร์ เราคุยกับ ‘ อิสระ ฮาตะ ’ ในหลากหลายเรื่อง ทั้งระหว่างทางที่หล่อหลอมเขา อาชีพยูทูปเบอร์ บทบาทพ่อ และความสนใจต่อเรื่องการเมือง
ในทุกๆ เรื่อง เราชวนเขาทบทวนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ชีวิตวัยเด็กของ ‘อิสระ ฮาตะ’ เป็นยังไง
ผมเป็นลูกชายของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ( ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ) เกิดเมื่อปี 2531 เติบโตมาในชุมชนคลองเตย 70 ไร่ เห็นชีวิตชาวสลัมมาตั้งแต่เด็ก และอยู่ที่นั่นจนถึง ม.1 ในความทรงจำคือ ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แม่ตั้งท้องน้องชาย เขาออกไปประท้วงผู้มีอำนาจ แล้วเอาผมไปฝากคนนั้นคนนี้ เลยต้องระหกระเหินไปหลายที่ ทั้งเพชรบุรี กาญจนบุรี ชุมพร สมุทรสาคร ฯลฯ ส่วนพ่อเป็นคนญี่ปุ่น เขาสนใจงานด้านสังคมสงเคราะห์ แล้วมาเจอแม่ที่เมืองไทย แต่ไม่รู้ไปปิ๊งกันยังไงนะ ( หัวเราะ )

พ่อแม่ที่สนใจเรื่องราวทางสังคม คุณซึมซับอะไรมาบ้าง
ผมดูวีดีโอเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก ภาพทหารกระทำกับประชาชน คนโดนยิง โดนมัด โดนกระทืบ ผมรับรู้ว่าแม่ทำงานมูลนิธิ ช่วยเหลือคนจน รู้แค่นี้ ส่วนการประท้วงเรื่องการเมือง ผมไม่ค่อยรู้อะไร จำได้แค่ว่าสุจินดา ( พลเอกสุจินดา คราประยูร ) ออกไปแล้ว ( เงียบคิด ) ผมได้เรื่องความใจดี แต่ไม่ตามใจ พ่อเป็นคนญี่ปุ่น ก็จู้จี้ ละเอียดยิบๆๆ ( หัวเราะ ) ขณะที่แม่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ลุยเลย ทำเลย บางครั้งอาจไม่ได้คิดหน้าคิดหลังมากนัก ผมจำไม่ได้ว่าแม่สอนยังไง แต่เวลารู้สึกว่าเพื่อส่วนรวม เพื่อคนด้อยโอกาส เราจะพุ่งไปทางนั้น

ตอนเป็นเด็ก คุณอยากเป็นอะไร
ไม่รู้เลย อาจเป็นข้อจำกัดของครอบครัวผม แม่ชอบทำงาน บางครั้งเลี้ยงลูกคนอื่นมากกว่าลูกตัวเอง แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าขาดนะ แค่ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร ผมไม่มีใครเป็นต้นแบบ พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวัง อยากทำอะไร ทำ แม่เคยขอแค่ว่า อย่าเล่นยาเสพติด อย่าเล่นการพนัน อย่าเกเร คุยกันไว้แค่นี้ ผมก็ทำตามนั้น

หลังจากเรียนจบ ม .ปลาย คุณเรียนต่ออะไร
ช่วงเรียน ม.ปลาย ผมเข้าชมรมศิลปะและดนตรีของโรงเรียน ตอนนั้นเล่นดนตรีด้วย งั้นเรียนนิเทศละกัน ดูเรียนกว้างๆ มีหนังดู น่าสนุก แต่ผมเอนท์ไม่ติดนิเทศ ( หัวเราะ ) พ่อบอกว่าถ้าเข้าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ได้จะซื้อกีตาร์ให้หนึ่งตัว ผมคิดง่ายๆ ว่างั้นคณะไหนก็ได้ เลยเลือกครุศาสตร์ที่จุฬาฯ แม่โอเคอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นครูมาก่อน ผมเลือกเอกการศึกษานอกระบบโรงเรียน เห็นชื่อแปลกๆ ( หัวเราะ ) อย่างน้อยก็ได้กีตาร์ตัวใหม่ พอเข้าจุฬาฯ ผมเข้าชมรมละคร เป็นความสนใจที่ต่อเนื่องมาจากมัธยม แล้วไปทางนั้นยาวเลย วิชาเกี่ยวกับครูก็เรียนไป วิชาเลือกเสรีก็เลือกเกี่ยวกับละครหมดเลย
พอเข้าสู่กระบวนการละครจริงๆ จังๆ เราได้รู้จักกับอาจารย์ด้านนี้หลายท่าน เช่น ครูช่าง ( ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ) ครูอุ๋ย ( ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ) อาจารย์เก่งๆ ในคณะอักษรศาสตร์ กลุ่มละครต่างๆ เช่น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มมะขามป้อม ตอนนั้นผมอยู่กับคณะหน้ากากเปลือย หลังจากเรียนเสร็จไปซ้อมละครจนดึก ละครพาผมไปสำรวจตัวเอง ได้ดูละครการเมืองของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวที่สถาบันปรีดีฯ ผมซ้อมละครที่นั่นด้วย เวลามีนิทรรศการ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ก็ค่อยๆ ซึมซับเรื่องการเมืองมา

ข้อมูลในเพจ ‘อิสระ ฮาตะ’ บอกว่า อาชีพแรกของคุณคือมือตัดต่อที่ช่อง TVmunk แต่เท่าที่เล่ามาดูไม่เกี่ยวกับทางนี้เลย
ใช่ครับ สำหรับผม ละครเป็นกระบวนการคิด เป็นโครงสร้างบางอย่างที่ต่อยอดไปอย่างอื่นได้ แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะไปทำอะไร พี่ๆ เพื่อนๆ ที่ทำละครด้วยกันมีความสนใจด้านวีดีโอ พื้นฐานการแสดง กำกับ ทำบท ถือว่าคล้ายคลึงกัน เลยชวนกันมาทำยูทูปช่อง TVmunk แต่หลังจากทำช่องนั้นไปสัก 2-3 ปี ผมเกิดปัญหาในชีวิต คือมีลูกชาย เลยค่อยๆ เฟดตัวออกมา ช่วงนั้นทะเลาะกับครอบครัวด้วย เลยไปอยู่บ้านปลื้ม ( สุรบถ หลีกภัย ) ยาวเลย เขากำลังจะทำช่อง VRZO เลยได้เริ่มทำด้วยกัน ( VRZO เผยแพร่คลิปแรกเดือนธันวาคม 2553 )

ทำไมถึงเรียกการมีลูกชายว่าปัญหา
เพราะตอนนั้นผมยังไม่พร้อมเป็นพ่อ ( เงียบคิด ) แต่แม่ของเด็กเลือกที่จะเก็บไว้ โอเค งั้นก็ไปต่อ

ตั้งใจปิดบังเลยไหม
ผมไม่อยากพูดออกไป ช่วงนั้นจัดการชีวิตได้แย่มาก ผลักภาระไปให้คนอื่น ตัวเองมุ่งแต่งาน เป็นแม่ของผมและแม่ของลูกช่วยกันดูแล ลึกๆ รู้สึกว่าอยากทำอะไรนะ แต่งานกำลังไปได้ดี เลยมุ่งแต่งาน เหมือนเอาปัญหาออกจากตัวเอง

การมุ่งแต่งานช่วงนั้น เนื้อหาใน VRZO ตั้งใจบอกอะไร
มันคือการแสดงไอเดียของตัวเอง เราเรียนแอคติ้งมา ดูทีวีแล้วไม่เชื่อ ทำไมพิธีกรต้องพูดจาแบบนี้ ทำไมรายการเป็นแบบนี้ ทุกอย่างอยู่ในกรอบ มันน่าเบื่อ เลยต้องการขบถ ทำไมไม่เอาความเป็นธรรมชาติออกมา ทำแบบที่เราคุยเล่นกับเพื่อน

คิดว่างานประสบความสำเร็จมากไหม
สำเร็จมากนะครับ ( เงียบคิด ) มันพิสูจน์ว่าทุกคนยอมรับสิ่งที่เราคิด เราทำลายขนบได้ ตอนนั้นภูมิใจแล้ว แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจากปัจจุบัน มันเป็นแค่ก้าวแรกของความสำเร็จ

พราวด์ไหม มองตัวเองว่า ‘กูอิสระ ฮาตะ นะเว้ย !’
ไม่ขนาดนั้น เราพราวด์กับผลงาน เนี่ย อีโก้ของฉัน มันคืองาน ไม่ใช่พราวด์กับความเป็นอิสระ ฮาตะ
ช่วงนั้นงานคือที่หนึ่ง เรื่องลูกและเรื่องแม่อยู่ห่างจากที่หนึ่งไกลเลย มองย้อนกลับไป ผมไม่โอเคกับตัวเองเลย ( เงียบคิด ) ผมเจอครอบครัวเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ไม่เพียงพอหรอก รู้ตัวด้วยว่ามันไม่โอเค แต่อีกใจก็คิดว่า ช่างมัน ฉันจะทำแบบนี้

งานใน VRZO สอดแทรกประเด็นทางสังคมการเมืองเข้าไปบ้างไหม
ผมคิด แต่ไม่ถูกปล่อยออกมา ขั้วทางการเมืองของบ้านผมกับบ้านปลื้มคนละทางกัน เราต้องเคารพปลื้ม ตอนนั้นอยากพูด แต่ทำได้แค่แตะๆ อย่าเรียกว่าพูดเลยดีกว่า มันแทบจะไม่ได้พูดเลย

จุดยืนทางการเมืองตอนนั้นเป็นยังไง
ผมเชื่อในการช่วยเหลือให้ทุกคนไม่ลำบาก ยื่นโอกาสให้ทุกคน อยากให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้ เป็นสิ่งที่แม่ทำอยู่ แต่อีกฝั่งที่ทำกับคนในสังคม มันคือการกดคนส่วนใหญ่

หลังจากทำไปได้สักระยะ คุณออกจาก VRZO ด้วยเหตุผลบางอย่าง แล้วมีข่าวว่าไปอยู่ต่างประเทศเลย
พองานเกิดปัญหาบางอย่าง ผมเบิร์นเอาท์ด้วย ช่วงนั้นความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้นเป็นลำดับ ผมกับแม่เคยไม่คุยกันหลายครั้ง ทะเลาะกันได้ทุกเรื่องแหละ ตอนนั้นคุยกับพ่อแม่ว่าจะยังไงต่อ พวกเขาสนับสนุนให้ไปเรียนภาษาและเรียนปริญญาโท เราทำ VRZO มาแล้ว ก็ไปทางนั้นให้สุดเลย เดี๋ยวพวกเขาจะช่วยดูแลลูกให้ ความตั้งใจของผมคือไปอเมริกาเพราะอยากได้ภาษา ส่วนปริญญาโทยังแบ่งรับแบ่งสู้
ผมไปถามๆ คนเรียนอยู่ว่าเรียนอะไรบ้าง สุดท้ายรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเท่าไร เมื่อเทียบกับเงินที่เสียไปน่าจะไม่คุ้ม ( หัวเราะ ) เลยเปลี่ยนมาเรียนคลาสสั้นๆ แทน เรียนหลายคลาส เฉลี่ยแล้ว 3 เดือนต่อคลาส พ่อแม่ก็ปล่อย อยากเรียนอะไรก็เรียน ช่วงนั้นก็ต้องลงเรียนภาษาเพื่อรักษาสถานะ

อยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด พอไปใช้ชีวิตปีที่เห็นอะไรบ้าง
( เงียบคิด ) ผมอยู่เมืองฟิลาเดลเฟีย 1 ปี อยู่นิวยอร์กอีก 3 ปี และก่อนกลับไปโร้ดทริปหนึ่งเดือน เดินทางไปหลายเมืองเลย เห็นคุณภาพชีวิตที่ต่างกัน ชัดเจนที่สุดคือผังเมือง เรื่องนี้ส่งผลกระทบในระดับ mentality ( วิธีคิด ) เป็นเรื่องที่ทำให้ผมหงุดหงิดกับเมืองไทยมาก เห็นความสมดุลของรายได้และค่าใช้จ่าย มันต่างจากเมืองไทยมาก ผมยังเห็นคนจน เห็นอาชญากรรม เห็นการดิ้นรนของคน ผมเคยคุยกับคนละตินหลายคน แทบทุกคนเดินข้ามชายแดนเข้ามา มีสตอรี่หนักๆ เช่น เขาต้องหลบในผ้าใบท้ายรถ แล้วเพื่อนที่มาด้วยกันเสียชีวิต คำว่าร้อยพ่อพันแม่น้อยไป มันคือล้านพ่อล้านแม่ เป็นช่วงเวลาที่เปิดโลกมากๆ แต่ภายใต้ปัญหาที่มีเหมือนๆ กัน ความแตกต่างคือ mindset ของคนและความเท่าเทียมของการได้รับโอกาส
หลังจากอยู่ไปสักพัก ผมอยากเอาลูกชายมาอยู่ด้วย แต่ตามกฎหมายของอเมริกาต้องมีผู้ปกครองดูแลเด็กตลอด ระหว่างนั้นพ่อแม่เล่าให้ฟังตลอดว่า น้องเป็นแบบนี้แล้ว น้องเป็นแบบนั้นแล้ว ผมเริ่มเห็นการสั่งสอนบางอย่างที่ตัวเองไม่เชื่อ แต่จำไม่ได้ว่าอะไร แบบนี้ไม่โอเค เลยเริ่มคิดว่าต้องกลับมาสอนลูกเอง ผมไปอเมริกาตอนลูกอายุ 4 ขวบ อยู่ที่นั่น 4 ปี ก็ตัดสินใจกลับมาเมืองไทย

ทำไมอยู่ๆ ถึงอยากกลับมา
( เงียบคิด ) มันอยู่ในใจลึกๆ เด็กคนนี้เราสร้างขึ้นมา แต่ผลักภาระไปให้คนอื่น แค่รอวันที่ข้างในมันถึงจุด มันคือความรักของพ่อแม่ เขาก็คือเรา คือสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด

คุณอยากกลับมาสอนอะไร
ผมไม่อยากให้เขามี mentality ว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แต่อยากให้เขารู้ว่า อันนี้เป็นยังไง อันนี้เป็นยังไง ทำแล้วผลเป็นยังไง อันไหนน่าทำมากกว่า มันอาจแย่ทั้งคู่ แต่เราเลือกที่จะรับผลกระทบอันไหน ผมอยากสร้างรสนิยม บางคนบอกว่ารสนิยมเอามาวัดกันไม่ได้ ถ้ารสนิยมวัดไม่ได้ แบรนด์เนมคืออะไร แฟชั่นคืออะไร ผมเชื่อว่ารสนิยมสร้างได้ มันทำให้เกิดมูลค่า เราเลยอยากตั้งเข็มเรื่องนี้ให้ลูกดีๆ

การยัด mindset แบบนี้ คือการบังคับไหม
ผมชี้ทางให้ แล้วให้เขาเลือกเอง แต่อยากให้เขารู้ว่า มันเป็นแบบนี้นะ หนึ่ง สอง สาม สี่ ไม่ใช่แค่หนึ่งอย่างเดียว ผมอยากให้เขาเห็นความหลากหลายของโลก ประเทศไทยมีอะไรดี อะไรไม่ดี ตอนผมกลับมาแรกๆ เขามองว่า อันนั้นดี อันนี้ดี ดี ดี ดี ดี มันไม่ใช่ เราต้องมองตามความเป็นจริงสิ

คุณเปิดพื้นที่ให้ลูกดีเบตไหม
เขาเถียงประจำ เราห้ามเขาเล่นมือถือตอนกินข้าว พอผมเปิดมือถือฟังข่าว เขาก็ถามว่า “ ทำไมพ่อดูได้ ” ผมก็ต้องปิด

คนทำงานสื่อสารลงโซเชียลมีเดีย หลายคนเอาลูกมาออกสื่อจนกลายเป็นคนดัง คุณมองเรื่องนี้ยังไง
ช่วงโควิด ผมทำรายการชื่อ ‘ COVID DIARY ’ ทำคลิปลงทุกวัน บางครั้งก็ถ่ายลูกลงคลิป เขาก็ห้วนๆ คงติดมาจากการดูสตรีมเมอร์ ก่อนถ่ายผมซีเรียสมาก ชั่งใจ ไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนั้น ลูกๆ เซเล็บโตมาจะเป็นยังไง รู้สึกยังไงกับคลิปตัวเอง ผมไม่มีคำตอบตรงนี้ คิดอยู่นานว่าจะทำยังไง ก็ถ่ายแค่นั้นพอ

ชั่งใจเรื่องอะไร
( เงียบคิด ) ผมไม่อยากตอบคำถามเรื่องการเลี้ยงลูก แต่ละบ้านเลี้ยงมาไม่เหมือนกัน มันมีคำพูดว่า เรื่องการเมือง ศาสนา และวิธีเลี้ยงลูก เป็นเรื่องที่เถียงกันหนัก เราไม่พร้อมทำคอนเทนต์แบบนี้ ทิ้งเขามา 8 ปีแล้ว ก็ไม่อยากทำอะไรแบบนี้

คุณใช้คำว่า ‘ทิ้ง’ เลยเหรอ
คำนี้เลย เพราะพฤติกรรมเหมือนทิ้งเลย แต่ในใจก็นึกถึงและคุยกันบ้าง

ตอนมีลูกบอกว่าตัวเองไม่พร้อม ตอนกลับจากอเมริกา คิดว่าตัวเองพร้อมหรือยัง
คำว่า ‘ ความสำเร็จ ’ มันย้อนกลับมาอีกครั้ง สรุปคำนี้คืออะไรกันแน่ ผมมองว่า เรื่องงานทำให้ได้มาตรฐานก็พอ ไม่ต้องโหมหนักเหมือนเดิม มันไม่ใช่ลำดับแรกแล้ว แต่ลูกยังเป็นอันดับสองนะ อันดับหนึ่งที่ห่างจากลูกนิดหนึ่งคือ อยากรวยครับ ( หัวเราะ ) ส่วนงานเป็นอันดับรองมาอีก

ทำไมถึงอยากรวย
ผมอยากเพิ่มทางเลือกให้ลูก ถ้าเรามีเงิน เราจะลดการทำงาน แล้วมีเวลาเพิ่มขึ้น ผมไม่ได้หวังอู้ฟู่เจ้าสัวขนาดนั้นหรอก แค่ให้รายได้กับไลฟ์สไตล์สมดุลกัน

การใช้ชีวิตในประเทศไทยให้รวยต้องทำยังไง
ไม่รู้ครับ ( หัวเราะ )

อาจต้องให้ลูกเรียนทหาร
ไม่รู้ว่าระบบนี้จะอยู่ได้อีกนานหรือเปล่า ( หัวเราะ )

เห็นโร้ดแมพไปสู่ความรวยบ้างหรือยัง
ยังเลยครับ ( หัวเราะ ) ด้วยสถานการณ์โควิดด้วย เราเลยยังไม่เห็นอะไร สิ่งที่นึกออกคือ ผมอยากไปจีน เพราะเป็นแหล่งผลิต อยากเอาตัวเองไปซึมซับ เผื่อได้อะไร การทำธุรกิจก็เป็นวิธีหนึ่งที่ไปสู่เป้าหมายนั้น ผมให้การทำสื่อเป็นวิธีการระบายสิ่งที่อยู่ในหัว เห็นคนทำช่องยูทูปไปทำธุรกิจ ผมก็สนใจ แต่ตัวเองยังไม่ได้เริ่มเลย

ตลอด 8 ปีที่ไม่ได้ดูแลลูก มองย้อนกลับไป อยากแก้ไขอะไรไหม
ผมอยากบ้างานให้น้อยลงกว่านี้ เอาเขามาซึมซับเราให้มากขึ้น ผมเคยดูหนังกับเขาตอนอายุสัก 3-4 ขวบ เขาดู The Lego Movie ซ้ำไปซ้ำมาแล้วพูดตามได้ สำเนียงเป๊ะ แต่ปัจจุบันสำเนียงไม่ดีแล้ว มันน่าเสียดาย เราน่าจะใช้เวลาด้วยกันมากกว่านี้ พฤติกรรมหลายอย่างมันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าตอนนั้นเราอยู่ด้วย

ตอนนี้รู้สึกผิดไหม
รู้สึกนะ มันจะคลายได้ถ้าเขาเป็นอย่างที่เราคิดไว้ ถึงเวลาจะรู้สึกได้เองว่า มันโอเคแล้ว วันนั้นผมคงหายรู้สึกผิด
 
ช่วงอยู่อเมริกาตามข่าวการเมืองไทยบ้างไหม
ตามครับ

ตามข่าวการเมืองแล้วอินหรือเปล่า เห็นตัวเองอยู่ฝ่ายไหน ไม่พอใจ โกรธเกลียดใครบ้างไหม
อินอยู่ช่วงหนึ่ง ตามแล้วเครียด แต่ตอนหลังตามเอาบันเทิงดีกว่า มองเป็นเรื่องสนุก แต่ละคนก็กล้าพูดเนอะ บางคนเคยพูดว่าจะไม่ทำ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาทำ

คุยเรื่องการเมืองกับพ่อแม่บ่อยไหม
ตลอดครับ ( เน้นเสียง ) ทุกคนเห็นไปในทางเดียวกัน เลยไม่ทะเลาะกัน เป็นการบ่นให้กันฟังมากกว่า แม่จะข่าวช้ากว่า เขายังใช้ระบบไลน์กลุ่ม ผมพยายามบอกว่า มันช้าและไม่แม่นยำ ช่วงหลังเขาเห็นเราในสื่อ ออกมาพูดเรื่องการเมือง ก็เริ่มฟังเรามากขึ้น ( หัวเราะ ) ตลอด 40 ปีที่แม่ทำงานมา หลักการของเขาแข็งแรงมากอยู่แล้ว เราก็ฟังเขาด้วย

ตอนกลับมาเมืองไทย อยากสื่อสารเรื่องสังคมเรื่องการเมืองใน Rubsarb แบบที่ไม่ได้ทำใน VRZO ไหม
ผมคงแทรกๆ ไป ไม่ทำหนักเหมือนเจาะข่าวตื้นของพี่จอห์น อยากให้วัยรุ่นพูดคุยเรื่องการเมืองบ้าง

การทำงานในสองช่องนี้แตกต่างกันยังไง
หลังจากที่รู้ว่าตัวเองบ้างานมาก ผมมีโจทย์ชัดเจนว่า อะไรที่ทำให้หมดไฟ อะไรที่เป็นปัญหา เช่น ตอนอยู่ VRZO งาน 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องผ่านมือผม งานเลยโหลด แต่ที่นี่เราปล่อยให้ทีมงานมากขึ้น ยิ่งขึ้นรายการใหม่ก็ง่าย น้องในทีมมีความเป็นเจ้าของงานด้วย เกิดอะไรแล้วตัดสินใจแทนกันได้ เหมือนการเมืองน่ะครับ กระจายอำนาจ ( หัวเราะ )

ถ้าเจองานที่ไม่เนี้ยบ คุณจะหงุดหงิดไหม
ผมเคยหงุดหงิดมาจนปล่อยแล้ว มันดีกว่านะ คนที่ทำงานตลอดเวลาก็ยังมีข้อบกพร่อง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ คนที่บาลานซ์ระหว่าง work และ animation แบบนี้สมบูรณ์กว่านะ

วิธีคิดในการทำคอนเทนต์เปลี่ยนไปไหม เมื่อก่อนเคยทำเพื่อขบถ ปัจจุบันทำเพื่ออะไร
ผมทำรายการชื่อ ‘ ศิลปะล่ะ ’ อยากให้ศิลปะเข้ามาในการรับรู้มากขึ้น มันคือขั้นตอนแรกของการออกจากขนบ การสร้างวิธีคิด การปล่อยอารมณ์ การเป็นตัวของตัวเอง หรือรายการที่ผมทำตอนอยู่อเมริกา คือ ‘ Samurai ไปไหนวะ ? ’ การไปรู้ซับสตอรี่ต่างๆ เคยคุยกับเพื่อนอยู่ว่า อยากทำสตอรี่ในไทยด้วย อยู่ระหว่างตกผลึกกัน ผมสนใจกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘ ตลาดล่าง ’ หรือเด็กแว้นซ์ กำลังศึกษาอยู่ มองว่าพวกเขาไม่ใช่ปัญหา แต่คือคัลเจอร์อย่างหนึ่ง

ตั้งแต่กลับมาเมืองไทย คุณเคยพูดเรื่องการเมืองในช่อง Rubsarb หรือแสดงออกในนามอิสระ ฮาตะ บ้างไหม
ในช่องไม่ค่อยมี แค่พูดแทรกๆ ขำๆ ผมไม่อยากให้เนื้อหาหนักเกินไป ช่องทำเรื่องบันเทิง ทีมงานมีความสนใจการเมืองไม่เท่ากัน เรื่องหลักของช่องคือความสนุก ผมเคยแสดงความคิดเห็นเรื่องเหตุบ้านการเมืองในรายการ ‘ คืนพุธ ’ เป็นรายการเกี่ยวกับผี คนดูก็ไม่ชอบ รู้สึกว่าหลุดธีม ล่าสุดเลยเปิดรายการไลฟ์ทอล์คชื่อ ‘ ไม่ถนัดตัดสาย ’ คล้ายๆ กับรายการของน้าเน็ก อยากคุยอะไรคุยหมด การเมืองก็ได้ แต่อยู่ในดุลยพินิจของผมว่าจะคุยไหม ถ้าไม่ถนัดก็ตัดสาย วางดื้อๆ เลย เป็นอีกช่องทางให้ตัวเองได้พูดเรื่องในปัจจุบัน

การพูดเรื่องการเมืองเยอะๆ ในช่องยูทูปที่ต้องรับงานจากภาคธุรกิจ มันส่งผลกระทบอะไรไหม
คิดว่ามี แต่ตอนนี้พวกผมยังไม่เจอ ( หัวเราะ )

ต้องกังวลล่วงหน้าไหม เรื่องนี้ไม่พูดดีกว่าเพื่อความอยู่รอด
ถ้าเป็นคลิปสปอนเซอร์ เราไม่หยิบเรื่องการเมืองมาเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเขาไม่ชอบ มันกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่เวลาอยู่ใน Twitch ผมด่าประยุทธ์และประวิตตตรยับ พูดชื่อเลย แต่คนดูไม่เยอะหรอก สี่ร้อย ห้าร้อย ถ้าวันหนึ่งเกิดผลกระทบ ผมคงต้องคุยกับจอร์จ ( ปรีดิ์โรจน์ เกษมศานต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งช่อง Rubsarb ) อาจใช้วิธีว่าคลิปนั้นไม่เอาอิสระลงได้ไหม เราวางตัวเองเป็นเอ็นเตอร์เทนต์ ต้องยอมรับว่าทุกเจ้าแหละที่ไม่อยากให้พูด แล้วเป้าหมายของผมคือรวย ( หัวเราะ ) มันขัดกันไปหมด

ผมเห็นคุณที่สกายวอล์ค เมื่อ 24 มิถุนายน 2563 แล้วมาเห็นอีกครั้งที่สวนครูองุ่น ตอนครบหนึ่งเดือนวันเฉลิม คุณยืนใส่แมสก์อยู่วงนอก อยู่สักพักก็กลับ แค่ไปสังเกตการณ์เฉยๆ คุณอยากได้อะไรจากการลงพื้นที่
ผมไปฟัง ไปแสดงออก เรื่องวันเฉลิม ผมอยากรู้ว่ามันอะไรยังไง กระแสในทวิตเตอร์ก็แรง พอมีงานก็อยากไปดู ผมรู้เนื้อหาอยู่แล้ว แต่อยากรู้ว่าคนออนไลน์จะเป็นยังไง ที่ตื่นตัวกันเยอะๆ ในทวิตเตอร์ พอมาในพื้นที่จริงจะเป็นยังไง

เป็นคนชอบไปสังเกตการณ์ในม็อบอยู่แล้ว
ปี 2553 ก็ติดสอยห้อยตามไปกับแม่ เขาตั้งเวทีตรงบ่อนไก่ เสื้อเหลืองก็ไปโฉบๆ แต่ กปปส. ไม่ได้ไปเลย ผมรู้สึกแปลกๆ ดูไม่ค่อยมีอะไร

เรามีเพื่อนสนิทที่เห็นต่างทางการเมืองได้ไหม
ผมมีเพื่อนมัธยมที่คิดไม่เหมือนกัน ก็ไปงานแต่งงานกัน ผมตั้ง mindset ว่า คนอื่นทะเลาะกัน เราไม่ควรมาทะเลาะกันเพราะคนอื่น ค่าความสัมพันธ์เราต้องสูงกว่านั้น บางครั้งคุยๆ แล้วเข้าเรื่องการเมือง ก็พูดว่า “ เฮ้ย จะเข้าการเมืองอีกแล้ว ขี้เกียจเถียงแล้ว ” ก็หยุดคุย

ถ้าไม่ใช่คอการเมือง ขั้นต่ำที่เราควรสนใจคือแค่ไหน
ผมเคยพูดในรายการของพี่จอห์นว่า ตัวเองไม่ใช่คนที่สนใจการเมืองมาก ขั้นต่ำคือเท่าผมนี่แหละ แค่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ประกาศนโยบายมาแบบนี้ ทำได้หรือไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร ที่บอกว่าแย่ มันแย่จริงไหม เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกมาด่าบ่อยๆ บางคนบอกว่า ชาวบ้านเอาเงินไปซื้อมือถือหรือมอเตอร์ไซค์ ถ้ามองในมุมคนจน มันคือการยื่นโอกาสในชีวิต อย่างเรื่องจำนำข้าว ผมก็ไม่ได้รู้รายละเอียดมากนะ

ในปี 2563 ขั้นต่ำคือแค่ไหน
คำพูดว่า “ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล มึงก็ต้องทำงานอยู่ดี ” ผมอยากลบตรงนี้ออก คุณกำลังชินกับสภาวะถูกกด แล้วไม่รู้ว่าชีวิตที่ดีกว่าเป็นยังไง อีกเรื่องคือ การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว เราคุยกันได้ มันฝึกให้ฟังความเห็นต่าง มันไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น

คุณมีความหวังกับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
( เงียบคิดนาน ) บางครั้งก็คิดว่า หมดหวัง แต่บางครั้งก็คิดว่า มีหวัง มันสลับๆ กันไป แต่ผมคิดว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้แน่นอน ผมเชื่อว่ายังไงโลกต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า

Photo by Fasai Sirichanthanun
Cover Illustration by Waragorn Keeranan
Share this article