เติร์กเมนิสถาน เวลาเราได้ยินชื่อประเทศนี้ หลายคนคงแทบจะไม่มีภาพเลยว่าประเทศเป็นอย่างไร บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ แต่ตั้งแต่เริ่มเขียนบล๊อกมารู้สึกเลยว่าประเทศนี้มันแปลกสมชื่อเที่ยวแปลกใหม่ที่สุด

มีบางคนบอกว่าเติร์กเมนิสถานนี่คือประเทศที่ใกล้เคียงเกาหลีเหนือที่สุดที่เราสามารถไปได้กัน มันเหมือนยังไง ? เป็นประเทศที่รัฐบาลคุมทุกอย่าง มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีอำนาจเบ็ดเสร็จ Social Media เกือบทั้งหมดใช้ไม่ได้ที่นี่ ความเร็วก็ช้าสุด ๆ ๆ ราวกับ 56K ยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดอยู่ มีความเข้มงวดเรื่อง ความมั่นคง เสรีภาพ และ อิสรภาพ พอสมควรเลย แค่ตอนมาถึงสนามบินก็โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพาสปอตไปกว่า 5 ครั้ง ถ้าอยู่เกิน 3 วันก็ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ จนทำให้เราคิดไปเลยว่าประเทศนี้เขาไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเหรอ ?

แต่พอสัมผัสกับประเทศนี้และคนจึงรู้สึกว่า มันไม่ได้แย่อย่างที่คิด ประเทศนี้ปลอดภัยมาก ๆ เป็นประเทศที่แปลก และเต็มไปด้วยสถานที่ลึกลับสุดมันส์ที่คุ้มค่าต่อการไปเที่ยวมาก ๆ จะเป็นไงเรามาดูกันเลย

ประสบการณ์ขึ้น Turkmenistan Airlines บอกเลยกลัวมากกก

เติร์กเมนิสถาน เป็นหนึ่งในอดีตประเทศของสหภาพโซเวียต ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางทิศตะวันออกของทะเลแคสเปียน และทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอะมู-ดาร์ยา ( Amu-Darya ) ระหว่างอิหร่านและอุซเบกิสถาน ภาคเหนือติดคาซัคสถาน ภาคใต้ติดอัฟกานิสถาน ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือติดอุซเบกิสถาน ภาคตะวันตกติดอิหร่าน และโคตรรวยจากก๊าซธรรมชาติ ประมาณว่าเจาะตรงไหนก็เจอ

พื้นที่ 488, 100 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงอาชกาบัท ( Ashgabat ) ประชากร 5.4 ล้านคน ภาษา เติร์กเมนเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง ศาสนา อิสลามสุหนี่ 89 % คริสต์ออร์โธด็อกซ์ 9 % อื่นๆ 2 %

กรุงอาชกาบัต (Ashgabat)

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี การประกาศเอกราชของเติร์กเมนิสถาน

กรุงอาชกาบัตเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่สุดของเติร์กเมนิสถาน มีประชากรอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน ชื่อกรุงอาชกาบัตเป็นภาษาเปอร์เซียมีความหมายว่า “ เมืองแห่งความรัก ” ตั้งอยู่กลางทะเลทรายคาราคุม ( Karakum ) ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 70 ของประเทศ

อาคารต่าง ๆ มีรูปทรงแปลกตามากและขาวทั้งหมด

เมื่อ ค.ศ. 1948 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่กรุงอาชกาบัต ทำให้ตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตราว 110,000 คน รัฐบาลจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้มีสถาปัตยกรรแบบสหภาพโซเวียต โดยใช้อิฐสีเทาในการก่อสร้าง และเน้นศิลปะแบบวิจิตรและอลังการ ( Art Deco ) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1991 นายซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ ( Saparmurat Niyazov ) ประธานาธิบดีคนแรกของเติร์กเมนิสถาน ได้บูรณะสถาปัตยกรรมภายในประเทศขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านเมืองมีสภาพเสมือนเพิ่งสร้างแล้วเสร็จ โดยตึกรามที่สร้างใหม่ทุกหลังจะใช้หินอ่อนสีขาวเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ซึ่งตึกและอาคารต่าง ๆ มีหน้าตาแปลกพิเศษไม่เหมือนที่ไหนในโลก เดินบนถนนนี่นึกว่าอยู่ในหนังสือเรื่อง 1984 คือแบบมันหนัง Sci-Fi มาก ๆ

อาคารในกรุง สีขาวหมด เหมือนหนัง Sci-Fi เลย

ในปี ค.ศ. 2013 หนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ( Guinness Book of World Records ) ได้บันทึกไว้ว่า กรุงอาชกาบัตเป็นเมืองที่มีอาคารหินอ่อนสีขาวมากที่สุดในโลก โดยภายในอาณาเขตของกรุงที่มีเพียง 22 ตารางกิโลเมตรแต่มีอาคารถึง 543 แห่ง ที่ผนังด้านนอกถูกประดับด้วยหินอ่อนสีขาวขนาดแผ่นละกว้าง 40 ซม. ยาว 80 ซม. และหนา 3 ซม. รวมปริมาณหินอ่อนมากถึง 4.5 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งหินอ่อนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอิตาลี ทำให้กรุงอาชกาบัตได้สมญานามว่าเป็น “ เมืองสีขาว ” ( The White City )

ศูนย์วัฒนธรรมและบันเทิงอาเล็ม ภายในเป็นชิงช้าสวรรค์ในร่มที่สูงที่สุดในโลก

อาคารสำหรับจัดงานแต่งงาน พวกตึกหน้าตาต่างดาวนี่หละคือเสน่ห์ของที่นี่

กรุงอาชกาบัต ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสถาปัตยกรรมของประเทศ ซึ่งผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองสมัยใหม่กับความงดงามของเมืองโบราณ สถาปัตยกรรมของเมืองได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอิสลาม กรีก และเปอร์เซียสมัยโบราณ รวมทั้งอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่มีต่อแนวคิดการสร้างอนุเสาวรีย์และการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย แต่ผมบอกยังไงมันก็ต่าวดาวมาก ๆ

หน้าอนุสาวรีย์เอกราช

ตลาด Altyn Asyr เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเติร์กเมนิสถาน คงประมาณ JJ ของเรา

หุบเขาแยงกีคาลา (Yangykala Canyon)

หุบเขาแยงกีคาลา ซึ่งมีความหมายในภาษาท้องถิ่นหมายถึง “ ปราการอัคคี ” ( Fire Fortress ) สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับสมญานามว่าเป็น Grand Canyon แห่งเติร์กเมนิสถาน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองบอลคานาบัต ( Balkanabat ) ในจังหวัดบอลข่าน ไปทางทิศเหนือ 195 กิโลเมตร และห่างจากเมืองเติร์กเมนบาชิ ไปทางทิศตะวันออก 160 กิโลเมตร

ขบวนรถ 4×4 ที่จะพาเราไปหุบเขาแยงกีคาลา ซึ่งการเดินทางไปหุบเขานี้ เราจะต้องบินจากกรุงอาชกาบัตไปเมืองเติร์กเมนบาชิ และจ้างรถ 4×4 ลุยผ่าน ( Old Soviet Road ) ถนนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ไปอีก 4 ชม. อยากจะบอกว่าถนนนี้เหมือนไม่เคยซ่อมเลย หลุมเล็กใหญ่ตลอดทาง ไม่มีทางหลับได้เลย นั่งไปก็กลัวตายไป

พื่นที่กว่า 50 % ของประเทศปกคลุมด้วยทะเลทรายดำ แอบให้อารมณ์เหมือนอยู่ตะวันออกกลาง

ครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อ 5.5 ล้านปีที่แล้ว หุบเขาแยงกีคาลาเคยจมอยู่ใต้ “ ทะเลเทธีส ” ( Tethys Sea ) มาก่อน โดยเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนพื้นดินโผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ และผ่านการถูกกัดเซาะโดยลมและฝนตามกาลเวลา บริเวณแถบนี้จึงก่อตัวเป็นรูปร่างของแอ่งหุบเขาและหน้าผาสีสันงดงามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ตัวหุบเขาและหน้าผามีความสูงระหว่าง 60-100 เมตร ปกคลุมด้วยชั้นหินปูนหลากสี ทั้งชมพู ส้ม แดงฝุ่น เหลือง และขาว ทอดยาวกินอาณาบริเวณกว่า 25 กิโลเมตรไปจรดแอ่งคาราโบกาซ ( Kara Bogaz Basin ) ซึ่งติดทะเลสาบแคสเปียน

นั่งชมวิวที่ราบจากยอดเขาบนปากจระเข้ นั่งสั่นมาตั้ง 4 ชม. ขอชิลให้คุ้มเสี่ยงตายหน่อย

ระหว่างทางจะพบเห็นอูฐป่าได้มากมาย

หลุมก๊าซดาร์วาซา (Darwaza Gas Crater)

Read more: Wikipedia

ที่นี่หละคือ highlight ของ Trip นี้ ! ! ! ประตูสู่นรก ! ! หลุมก๊าซดาร์วาซา หรือ Darwaza Gas Crater หรือที่เรียกขานกันในหมู่คนท้องถิ่นว่า “ ประตูสู่นรก ” ( Door to hell ) ตั้งอยู่กลางทะเลทรายคาราคุม ( Karakum Dessert ) บริเวณหมู่บ้านเดรเวเซ ( Derweze ) ในเขตจังหวัดอาฮาล ( Ahal province ) ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ ห่างจากกรุงอาชกาบัต ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 260 กิโลเมตร ( ในภาษาเติร์กเมนคำว่า Derweze มีความหมายว่า ประตู ) เป็นหลุมก๊าซขนาดใหญ่ซึ่งมีเปลวไฟลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มอดดับมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี คิดดูสิว่ารัฐจะเสียรายได้ไปเท่าไร

สภาพถนนพัง ๆ ตลอดทางเหมือนกัน

การเดินทางไปสถานที่นี้ยากและเหนื่อยมาก ๆ เราจะต้องออกจากกรุงอาชกาบัตประมาณ 3 โมงเย็น เพื่อไปให้ทันพอดีพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน เนื่องจากหลุมก๊าซสู่นรกนี้จะสวยที่สุดในช่วงเวลานั้น การเดินทางก็ยังคงแนะนำให้เป็นรถ 4×4 อยู่เพราะสภาพถนนก็เก่า ๆ พัง ๆ ตลอดทาง เราจะต้องนั่งรถไปประมาณ 3 ชม. ก็เหมือนเดิม นั่งไปกลัวตายไป ยิ่งขากลับนะ มืดสนิทไม่มีไฟถนนเลย

แวะถ่ายรูปเล่นกับพระอาทิตย์ระหว่างทางไป ใกล้ตกแล้ว

กล่าวกันว่าหลุมก๊าซดาร์วาซา เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 โดยวิศวกรของสหภาพโซเวียตได้ทำการขุดเจาะหลุมที่บริเวณดังกล่าวเพื่อสำรวจหาน้ำมัน แต่ขณะที่กำลังขุดเจาะอยู่ พื้นดินบริเวณดังกล่าวได้ยุบตัวลงเกิดเป็นหลุมขนาดกว้าง 70 เมตร และลึก 30 เมตร ส่งผลให้แท่นขุดเจาะรวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตกลงไปในหลุม ด้วยความกังวลว่า ก๊าซที่พวยพุ่งออกมาจะเป็นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง วิศวกรโซเวียตจึงตัดสินใจจุดไฟที่หลุมเพื่อทำลายวัสดุขุดเจาะต่าง ๆ ที่อยู่ในหลุม และด้วยหวังว่าจะทำให้ก๊าซถูกเผาไหม้จนหมดได้รวดเร็วขึ้นและมอดดับลงในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม กระทั่งปัจจุบัน เปลวไฟในหลุม ก็ยังไม่ทีท่าว่าจะมอดดับลง

พอมายืนใกล้ ๆ แล้วมันทั้งใหญ่และร้อนมาก ๆ ยืนนานไม่ได้

พอพระอาทิตย์ตกแล้ว แถวนั้นจะมืดสนิท เราก็สามารถถ่ายรูปโพสท่าสนุก ๆ กันได้

มันดูน่ากลัวสมชื่อจริง ๆ ว่านี่คือประตูสู่นรก

นอกจากนี้ ห่างออกไปไม่ไกลนัก ยังเป็นที่ตั้งของหลุมน้ำ ( Darwaza Water Crater ) ซึ่งเป็นหลุมน้ำสีเขียวมรกตที่มีฟองก๊าซใต้ดินพวยพุงขึ้นมาเหนือน้ำตลอดเวลา และหลุมโคลนเดือด ( Darwaza Bubbling Mud Crater ) โดยหลุมน้ำเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1969

หลุมน้ำ ซึ่งเป็นหลุมแรกที่ได้แวะ

ขณะที่หลุมโคลนเดือด เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972

หลุมโคลน มีไฟติดเล็กน้อย

ทั้งหลุมน้ำและหลุมโคลนเดือด มีจุดกำเนิดคล้ายกับหลุมก๊าซดาร์วาซา กล่าวคือเกิดจากความพยายามขุดเจาะหาน้ำมันใต้ดินของวิศวกรโซเวียต แต่เกิดการยุบตัวของดินจนทำให้ต้องละทิ้งการดำเนินการขุดเจาะไปในที่สุด

หลุมก๊าซ ถ่ายจากมุมไกล

มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ (Turkmenbashi Ruhy)

มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ หรือ มัสยิดคิปยัค ( Gypjak Mosque ) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านคิปยัค ซึ่งเป็นบ้านเกิด ของนายซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ ( Saparmurat Niyazov ) ประธานาธิบดีคนแรกของเติร์กเมนิสถาน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอาชกาบัตออกไปทางทิศตะวันตกราว 7 กิโลเมตร

มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ ซึ่งมีความหมายว่า​ “ มัสยิดแห่งจิตวิญญาณ ” ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2545 -2547 ( ค.ศ. 2002 – 2004 ) จากความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีนิยาซอฟ โดยบริษัท Bouygues ของฝรั่งเศสเป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างด้วยงบประมาณราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ เป็นมัสยิดประจำชาติของเติร์กเมนิสถานและเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 36 เฮคตาร์ ( ประมาณ 216 ไร่ ) ตัวมัสยิดถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวทั้งหมด สามารถรองรับศาสนิกชนได้ราว 10,000 คน มีโดมทอง 1 โดม สูง 55 เมตร และ 4 หอคอย สูง 91 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ แห่งปีที่ประกาศเอกราช ( ค.ศ. 1991 )

ผนังมัสยิดตกแต่งด้วยเนื้อหาจากคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรภาษาเติร์กเมน และเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเกี่ยวกับจิตวิญญาณและศีลธรรม ชื่อรุคฮ์นามา ( Rukhnama ) ที่เขียนโดยประธานาธิบดีนิยาซอฟ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มัสยิดแห่งนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมจำนวนมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะบรรจุถ้อยคำในหนังสือให้เทียบเท่ากับคัมภีร์อัลกุรอาน

ปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา (Parthian Fortress of Nisa)

เมืองนิสา ( Nisa ) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรพาร์เทียน ( parthian ) ซึ่งมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียกลาง ระหว่าง 247 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 224 นักโบราณคดีเชื่อว่า เมืองนิสา ได้รับการสถาปนาโดยกษัตริย์ Arsaces ที่ 1 ( ครองราชย์ระหว่าง 250 – 211 ปีก่อนคริสตกาล ) และต่อมา เมืองได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง Mithradatkirt โดยกษัตริย์ Mithridates ที่ 1 ( ครองราชย์ระหว่าง 171-138 ปีก่อนคริสตกาล ) เมืองนิสา ล่มสลายจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนคริสตกาล

ในอดีต เมืองนิสา ถือเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของอาณาจักรพาร์เทียนและภูมิภาคเอเชียกลาง ที่ตั้งของเมืองอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ป้องกันมิให้อาณาจักรโรมันแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชีย เมืองนิสา เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังและอาราม พระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีห้องเก็บไวน์ วัตถุล้ำค่า และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ

จุดเด่นของเมือง Nisa คือ ปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา ซึ่งเป็นกำแพงหนาราว 8-9 เมตร ล้อมรอบหอคอยจำนวน 43 แห่ง เป็นวงล้อมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งยังคงปรากฎร่องรอยอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2550 ( ค.ศ. 2007 ) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก ( The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO ) ได้ขึ้นทะเบียนปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา ให้เป็นมรดกโลก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้การมีอยู่ของเมืองนิสาและอาณาจักรพาร์เทียน คือ แจกันรูปงาช้าง ( rythons ) ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเติร์กเมนิสถาน

เมืองนิสา ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอาชกาบัตไปทางทิศตะวันตกราว 18 กิโลเมตร

??????????????????️???⛵??️ ถ้าชอบช่วย Like, Comment และ Share เพื่อกำลังใจทำต่อด้วยครับบบบ ขอบคุณครับบบ

# เที่ยวแปลกใหม่ # ไปเที่ยวกัน # tiewplakmai # เติร์กเมนิสถาน # turkmenistan # ashgabat # doortohell