เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับหรือตามกฎหมายจะนำตัวผู้ถูกจับไปที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ( สถานีตำรวจหรือโรงพัก ) พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ที่สถานีตำรวจนานที่สุด 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่สถานีตำรวจ [ 1 ] เมื่อครบ 48 ชั่วโมง หากไม่มีการประกันตัว พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ถูกจับไปศาล เพื่อขอให้ศาลพิจารณาว่าจะขังหรือจะปล่อยตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนคดีอาญา
เหตุใดต้องนำตัวผู้ถูกจับและควบคุมตัวไปพบศาล และศาลมีบทบาทอย่างไรในการพบตัวผู้ถูกจับครั้งแรก ทั้งที่คดีอาญาที่ถูกกล่าวหายังอาจเพิ่งเริ่มสอบสวน และเหตุใดจะต้องนำผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมง
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR ) ที่ประเทศไทยกับอีก 172 ประเทศเป็นภาคีให้คำตอบดังกล่าว ในข้อ 9 วรรค 3 [ 2 ] บัญญัติว่า “ บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนพิจารณาและจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น ” [ 3 ]
หลักการดังกล่าวเคยถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 [ 4 ] แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา รวมทั้งฉบับปัจจุบันได้ตัดเรื่องดังกล่าวไป ซึ่งสิทธิที่สำคัญดังกล่าวไม่ควรตัดออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายอื่นที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวบุคคลนอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัวนี้อาจถูกยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ [ 5 ]

1

ทำไมต้องนำตัวผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวไปพบศาล

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Committee ) ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR ) ได้ให้เหตุผลของการที่จะต้องนำตัวผู้ถูกจับไปพบศาลว่า “ การให้นำตัวผู้ถูกจับกุมไปยังศาลโดยไม่ชักช้ามีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่มิชอบกับผู้ถูกจับกุม ” [ 6 ] และ “ การนำผู้ถูกจับไปปรากฏตัวต่อหน้าศาล เพื่อให้ศาลสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างการถูกควบคุมตัวได้ ” [ 7 ]
คำถามต่อไป แล้วทำไมต้องเป็นศาล ศาลหรืออำนาจตุลาการเป็นองค์กรอิสระ ( independent ) และเที่ยงธรรม ( unprejudiced ) จึงเป็นผู้ที่เหมาะสมในการตรวจสอบการจับกุมและควบคุมตัวที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ว่า ‘ อำนาจตุลาการคือผู้พิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน ’ ( L ’ autorité judiciaire, gardienne de la liberté individuelle ) [ 8 ]
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยส่วนหนึ่งได้แสดงบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน เช่น ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2541 วินิจฉัยว่า “ หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวผู้ถูกจับต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังในระหว่างสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ได้ ” และใน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550 [ 9 ] ซึ่งพิพากษาว่า “ หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป ” ซึ่งหมายถึงศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนไม่ได้นั่นเอง
จากหลักการและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยดังกล่าว การอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ฝากขังครั้งแรกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ศาลเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ถูกควบคุมตัว หากเกิดการจับกุมที่มิชอบ การคุมขังที่มิชอบ หรือการปฏิบัติที่มิชอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในระหว่างควบคุมตัว เช่น การทรมานผู้ต้องหา ศาลสามารถคุ้มครองสิทธิประชาชนได้อย่างดีที่สุด ด้วยการไม่ออกหมายขัง ซึ่งมีผลให้ผู้ต้องหาได้รับอิสรภาพ แม้พนักงานสอบสวนก็ยังคงดำเนินการสอบสวนคดีอาญาต่อไปได้ แม้ไม่มีการขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนก็ตาม ตรงกันข้าม หากการขังในระหว่างสอบสวนเกือบจะเป็นไปโดยอัตโนมัติตามคำร้องของเจ้าพนักงาน [ 10 ] ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บทบาทการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้

2

ต้องนำตัวผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวไปพบศาลเมื่อใด

หากอ่านข้อความในข้อ 9.3 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ว่า “ บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัว โดยพลัน ไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ ” ( Anyone arrested or detained on a criminal mission shall be brought promptly before a pronounce or other policeman authorized by police to exercise judicial ability ) ผู้อ่านคงเข้าใจว่า คำว่า ‘ โดยพลัน ’ หรือ ‘ promptly ’ ในกติกาดังกล่าวน่าจะหมายถึง ‘ ในทันที ’ คงนึกภาพว่า เจ้าหน้าที่ที่จับบุคคลใดมาแล้วต้องไปพาตัวผู้ถูกจับไปพบศาลในทันทีเลย ห้ามไปแวะที่ไหน แม้แต่สถานีตำรวจ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Committee ) ดูเหมือนตีความถ้อยคำดังกล่าวอย่างประนีประนอม โดยตีความคำว่า ‘ โดยพลัน ’ หมายถึง เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมง ( 2 วัน ) นับจากเวลาที่ถูกจับกุม [ 11 ] เท่ากับว่า ‘ พบศาลโดยพลัน’ จริงๆ แล้วคือ ‘พบศาลภายในสองวัน’
หากเป็นกรณีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกจับและควบคุมตัว คณะกรรมการสิทธิเด็กได้ให้ความเห็นว่า สิทธิเด็กที่จะพบศาลโดยพลันมีความหมายว่าเจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวเด็กที่ถูกจับไปพบศาลภายใน 24 ชั่วโมง [ 12 ] ซึ่งในเรื่องระยะเวลาก็ตรงกับกฎหมายไทยในเรื่องการจับกุมเด็ก [ 13 ]
คดีสำคัญที่เป็นที่มาของการตีความดังกล่าว คือ Communication No. 1787/2008, Kovsh v. Belarus ที่วินิจฉัยโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน [ 14 ] เรื่องมีอยู่ว่า นาง Kovsh ถูกตำรวจเบลารุสจับกุมตัวไปจากตลาดและถูกควบคุมตัวอยู่ 61 ชั่วโมง และได้รับการปล่อยตัว ต่อมานาง Kovsh ก็ถูกตำรวจเบลารุสจับตัวไปอีกครั้งจากหน้าบ้านของตน และคราวนี้ถูกควบคุมตัวไว้ 72 ชั่วโมง และก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน นาง Kovsh ใช้สิทธิต่อสู้คดีในศาลภายในประเทศแล้วไม่เป็นผล จึงมาฟ้องรัฐบาลเบลารุสที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน [ 15 ]
รัฐบาลเบลารุสต่อสู้ว่า สิทธิของผู้ถูกจับที่จะพบศาลในทันทีไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเจอศาลภายในกี่วัน [ 16 ] อีกทั้งในระหว่างถูกควบคุมตัวนาง Kovsh มีสิทธิตามกฎหมายเบลารุสที่จะยื่นคำร้องขอพบศาลได้ แต่นาง Kovsh ก็ไม่ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอเจอศาลเอง ดังนั้น รัฐบาลเบลารุสจึงขอยืนยันว่าการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวไม่ได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายเบลารุส [ 17 ]
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตัดสินโดยยึดความเห็นของประเทศภาคีสมาชิกหลายประเทศ [ 18 ] ประกอบกับแนวทางคำวินิจฉัยในอดีต แล้ววินิจฉัยว่า “ การที่ตำรวจเบลารุสควบคุมตัวผู้ถูกจับเกิน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาจับกุม และไม่นำตัวนาง Kovsh ไปพบศาล โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 9.3 [ 19 ] ข้ออ้างของรัฐบาลเบลารุสที่บอกว่านาง Kovsh ไม่ยอมร้องขอเจอศาลเองทั้งที่กฎหมายให้สิทธิผู้ถูกควบคุมตัวร้องขอเจอศาลได้ ไม่เป็นเหตุผลที่จะขยายเวลาการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวไปพบศาล ” [ 20 ] ดังนั้น รัฐบาลเบลารุสต้องเยียวยาผู้ถูกจับจากการถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว [ 21 ]
โดยสรุป ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาถูกจับกุม เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม การควบคุมตัว รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสิทธิที่จะพบศาลเป็นสิทธิที่ไม่ต้องร้องขอ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องนำตัวผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวไปพบศาล อย่างไรก็ดี ในเรื่องการนับระยะเวลา คำว่า ‘ โดยพลัน ’ ( promptly ) ถูกตีความว่าหมายถึงภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาถูกจับกุม เพื่อให้ระยะเวลา 48 ชั่วโมงนี้เพียงพอกับเจ้าหน้าที่รัฐในการสอบปากคำ รวบรวมพยานหลักฐานและการเดินทาง แต่ก็ไม่ให้ระยะเวลายาวนานเกินไปจนกระทบสิทธิของผู้ถูกจับและถูกควบคุมตัวเกินสมควร
ในตอนหน้าจะกล่าวถึงประเด็นที่เป็นปัญหาในประเทศไทย 2 เรื่อง คือ
ประเด็นที่ 1 การนับระยะเวลา 48 ชั่วโมงของกฎหมายไทยให้เริ่มนับเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่สถานีตำรวจ โดยไม่ให้นับเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมถึงเวลาที่มาถึงสถานีตำรวจรวมอยู่ใน 48 ชั่วโมงดังกล่าวด้วย ซึ่งภายหลังการจับกุมเจ้าหน้าที่จะพาผู้ถูกจับไปไหนต่อไหนก็ยังไม่เริ่มนับระยะเวลา 48 ชั่วโมง ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Committee ) ชี้ชัดว่าให้เริ่มนับเวลา 48 ชั่วโมงตั้งแต่เมื่อถูกจับกุม
ประเด็นที่ 2 กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด [ 22 ] ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับและควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้ 3 วันก่อนแล้วจึงส่งให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ( 2 วัน ) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้การจับและควบคุมตัวคดียาเสพติดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยสามารถควบคุมตัวได้ยาวนานถึง 5 วัน ( 3วัน + 48 ชั่วโมง ) โดยไม่พบศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาที่จะต้องพบศาลในผู้ถูกจับคดียาเสพติดออกไปถึง 5 วัน

[ 1 ] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87
“ ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การและที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาล ภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้… ”
[ 2 ] ICCPR, Article 9.3 “ Anyone arrested or detained on a criminal charge shall be brought promptly before a judge or other officer authorized by law to exercise judicial power and shall be entitled to trial within a reasonable time or to release. It shall not be the general rule that persons awaiting trial shall be detained in detention, but release may be submit to guarantees to appear for test, at any other stage of the judicial proceedings, and, should occasion get up, for performance of the judgment ”.

[ 3 ] คำแปลจาก เว็บไซต์กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
[ 4 ] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 “ ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า กับจะต้องได้รับโอกาสแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก และ ผู้ถูกจับซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ต้องถูกนำตัวไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ”
[ 5 ] ICCPR, Article 4 .
[ 6 ] ปกป้อง ศรีสนิท, “ สิทธิของผู้ต้องขังในกระบวนการยุติธรรม ”, วารสารกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ปีที่ 2 ฉบับที่ 1, 2564, หน้า 18 ; Communication 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para. 7.3
[ 7 ] See Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment, approved by the General Assembly in its solution 43/173, principle 37, in Human Rights Comittee, General Comment General comment No. 35, Article 9 (Liberty and security of person), CCPR/C/GC/35, 23 Oct 2014
[ 8 ] รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 66 วรรค 2
[ 9 ] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550 “ การควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องขออำนาจศาลฝากขังจำเลยที่ 1 หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หาใช่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ ”
[ 10 ] คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 9, ( กรุงเทพ : วิญญูชน ), 2561, หน้า 419
[ 11 ] Communication No. 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para 7.4 .
[ 12 ] ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิเด็ก, Committee on the Rights of the Child, general comment No. 10, paratrooper. 83. in Human Rights Committee, General Comment General comment No. 35, Article 9 ( Liberty and security of person ), CCPR/C/GC/35, 23 Oct 2014, paratrooper. 33.
[ 13 ] พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 72 “ ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที ทั้งนี้ ภายในเวลา ยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นด้วย
ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดมีบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ พนักงานสอบสวนอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแลและสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับ ในกรณีเช่นว่านี้ หากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามควรแก่กรณีก็ได้
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้นำไปใช้บังคับในคดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีอาจเปรียบเทียบปรับได้ ”
[ 14 ] Communication No. 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008 .
[ 15 ] ประเทศเบลารุสลงนามในพิธีสาร ( optional protocol ) ซึ่งยอมให้ประชาชนของตนที่อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถยื่นฟ้องรัฐบาลตนเองต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Committee ) ได้ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว
[ 16 ] Communication No. 1787/2008, Kovsh v. Belarus, CCPR/C/107/D/1787/2008, para. 4.3 .
[ 17 ] Ibid, belem. 4.4 .
[ 18 ] Ibid, para. 7.4. ; เช่น Concluding Observations on Kuwait, CCPR/CO/69/KWT, para. 12 ; Concluding observations on Zimbabwe, CCPR/C/79/Add.89, paratrooper. 17 ; Concluding observations on El Salvador, CCPR/C/SLV/CO/6, para. 14 ; Concluding observations on Gabon ( 2001 ), para. 13 .
[ 19 ] Ibid, belem. 7.5 .
[ 20 ] Ibid, para. 7.5.

Read more: Wikipedia

[ 21 ] Ibid, paratrooper. 9 .
[ 22 ] พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ( แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 ) มาตรา 11/6 วรรค 1 บัญญัติว่า “ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา 11/1 ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา 11/1 ( 4 ) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และ ให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา 11 / 1 ( 4 ) ซึ่งกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าว เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อำนาจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นอำนาจเดิมที่เคยมีอยู่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนำใส่ไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดแทน โดยในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา 14 ให้ถือว่ากรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา 14 ( 3 ) มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และ ให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา 14(3) ไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะ เห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา