จากชื่อฮอลลีวูดที่รู้จักในฐานะฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในหุบเขา สู่การเข้าฮุบกิจการและก่อตั้งเป็นสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ในชื่อว่าฮอลลีวูดอีกครั้งหนึ่ง…
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการเติบโตที่แสนจะดูธุรกิจมากๆ อย่างเมืองฮอลลีวูด ที่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์น้อยใหญ่รังสรรค์ความพิเศษบางอย่างที่ทำเหมือนเมืองนี้นั้น ‘ ต้องมนตร์เสน่ห์ ’ บางอย่างที่ทำให้ทั้งบ้านเมือง ผู้คน และกิจวัตรอันมากมายในฮอลลีวูด ช่างดูน่าหลงใหลและยั่วยวนใจให้ใครต่อหลายคนก้าวเข้ามายิ่งนัก เหมือนกับ เควนติน แทแรนติโน ที่นอกจากจะเป็นผู้กำกับชื่อก้องโลกแล้ว เขายังเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ตกอยู่ในหลุมพรางของโลกมายานามว่าฮอลลีวูดเช่นกัน
ย้อนกลับไปในยุค 60s เขาคือเด็กน้อยผู้หลงใหลแสงสีในฮอลลีวูดทุกครั้งยามนั่งรถเล่น “ ผมได้รู้จักมักจี่กับฮอลลีวูดจริงๆ ก็ตอนผมอายุ 6-7 ขวบ ผมอยู่บนรถแบบเดียวกับคลิฟฟ์ในเรื่องกับแม่และพ่อเลี้ยงผม พวกเขาขับรถไปรอบๆ เมือง เปิดวิทยุในรถเสียงดังซ่า… นั่นแหละครับ การตกหลุมรักฮอลลีวูดครั้งแรกของผม ” และประสบการณ์อันแสนล้ำค่าเหล่านั้นเองที่เป็นเชื้อเพลิงช่วยผลักดันเขามาเป็นผู้กำกับแถวหน้าในเวลาต่อมา
และในวันนี้ มันก็ถึงเวลาแล้วที่เควนตินมอบจดหมายรักแห่งนครดาราแห่งนี้ด้วย Once Upon a Time in Hollywood ภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ซึ่งตัวเขาเองสร้างเรื่องราวอันสุดโต่งของ ริก ดัลตัน ( ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ) และ คลิฟฟ์ บูธ ( แบรด พิตต์ ) โดยสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือการได้เห็นความรักในรูปแบบของ เควนติน แทแรนติโน ที่บรรจงใส่ ‘ ความจริงของฮอลลีวูด ’ ในช่วง 6-7 ขวบของเขาผ่าน Easter Egg ไว้ในหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ Once Upon a Time in Hollywood (2019)
ริก ดัลตัน และ คลิฟฟ์ บูธ ตัวจริงคือใคร?
ริก ดัลตัน คือตัวละครสมมติที่ดังเปรี้ยงปร้างมาจากทีวีซีรีส์ยุค 50s Bounty Law ในบทนักล่าค่าหัวที่พอจะสร้างชื่อเสียงอยู่บ้าง ก่อนที่ต่อมาความนิยมจะลดลงอย่างน่าใจหาย จึงเป็นเหตุให้ตัวละครริกไม่ได้ละม้ายคล้ายกับดาราคนไหนในยุค 60s เสียทีเดียว เพราะเขากลับคล้ายนักแสดงในยุคนั้นแทบทุกคนเลยทีเดียว !
“ ริก ดัลตัน คือตัวแทนของดาราชายที่อยู่ในช่วงปลายยุค 50s จนถึงต้น 60s ที่เคยดังจากซีรีส์คาวบอยมาสักเรื่องหนึ่งก่อน แล้วเขาก็จะค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป ” จากคำบอกเล่าของเควนติน ทำให้เรารับรู้ถึงตัวตนของริกที่ถูกก่อร่างขึ้นมาจากนักแสดงในยุคนั้นหลายคนตามที่เควนตินยกตัวอย่างไว้ เช่น จอร์จ มาฮาริส ที่ได้รับความนิยมจาก Route 66 ( 1960-1964 ), เอ็ดด์ บายร์เนส ที่โด่งดังจากบทนักสืบมาดเท่ใน 77 Sunset Strip ( 1958-1964 ) รวมไปถึง ไท ฮาร์ดิน จาก Bronco ( 1958-1962 ) ที่นอกจากเส้นทางชีวิตแล้ว บุคลิกผมเรียบแปล้ก็ยังถอดแบบมาจากชายคนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าต่อมาพวกเขาเหล่านี้ก็หายไปจากโลกมายาอย่างน่าใจหาย
แต่เมื่อมาวิเคราะห์ต่อ ในช่วงที่ Bounty Law เข้าฉายในปี 1969 นั้น มันดันไปตรงกับทีวีซีรีส์ ( จริงๆ ) เรื่องหนึ่งจากช่อง NBC อย่าง Wanted : dead or alert ( 1958-1961 ) ที่นำแสดงโดย สตีฟ แม็กควีน นักแสดงหน้าหล่อในยุคนั้น ที่ต่อมาเขาได้มีโอกาสเล่นหนังใหญ่อย่าง The Great Escape ( 1963 ) ซึ่งเป็นหนังที่ตัวริกเองใฝ่ฝันที่จะได้รับบทนำในเรื่องอย่างมาก ทำให้ สตีฟ แม็กควีน ( ในเรื่อง ) กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของริกอีกทอดหนึ่ง แม้มันจะต่างกันตรงที่ตัวริกกลับคว้าโอกาสในการเล่นหนังแบบที่แม็กควีนทำไม่ได้ ยิ่งช่วยตอกย้ำถึง ‘ ชีวิตขาลง ’ ของเขามากขึ้นไปอีก
ทางออกเดียวที่เหลืออยู่ คือถ้าไม่รับบทตัวประกอบในเรื่อง ก็ต้องหนีออกไปรับงานนอกประเทศเลย และจะให้ดีก็ต้องเป็นหนังคาวบอย-อิตาลี ที่เคยปลุกปั้นดาราทีวีจากอเมริกาอย่าง คลินต์ อีสต์วูด ให้เฉิดฉายมาแล้วในหนังตระกูล Dollars Trilogy ริกจึงตัดสินใจเล่นหนังคาวบอยอิตาลีอย่าง Nebraska Jim ที่สร้างชื่อเสียงฝั่งยุโรปให้เขาได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้คลินต์เป็นอีกหนึ่งตัวนักแสดงในร่างของริกด้วยเช่นกัน
ส่วนสตันต์แมนคู่หูอย่าง คลิฟฟ์ บูธ เควนตินเคยออกมาพูดเอาไว้แล้วว่า คนที่เป็นต้นแบบของตัวละครคลิฟฟ์เขามีอยู่จริงนะ เป็นสตันต์แมนจริงๆ ด้วย แต่เพื่อความเป็นส่วนตัวของสตันต์แมนคนนั้น เขาจึงขอไม่เอ่ยนามชายผู้เป็นแรงบันดาลใจคนนั้นออกมา นั่นจึงเป็นเหตุให้เหล่ากีค ( Geek ) ทั้งหลายต้องนำ คลิฟฟ์ บูธ ไปเทียบกับใครต่อใครอีกหลายคน จนสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาใกล้เคียงกับสตันต์แมนมาดเท่คนนี้ที่สุดคือ ฮัล นีดาม สตันต์แมนและเพื่อนคู่ใจตลอดกาลของ เบิร์ต เรย์โนลด์ส
ฮัล นีดาม เดิมทีเขาคือพลทหารสหรัฐฯ จากสงครามเกาหลี ที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นสตันต์แมนให้กับ ริชาร์ด บูน ในซีรีส์คาวบอย Have Gun – Will Travel ( 1957–1963 ) ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะสตันต์แมนน่าจับตามอง และช่วยผลักดันให้เขาได้มาร่วมงานกับ เบิร์ต เรย์โนลด์ส นักแสดงชื่อก้องในยุคนั้นจากซีรีส์ของช่อง NBC เรื่อง Riverboat ( 1959–1961 ) ด้วยนิสัยใจคอที่เข้าอกเข้าใจกัน ช่วยสร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อนตายให้พวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้น ความสนิทนี้เลยเถิดถึงขนาดที่ฮัลเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของเรย์โนลด์สนานถึง 12 ปี ซึ่งความสนิทสนมของทั้งคู่นี้เองที่ทำให้เหล่าแฟนคลับต่างลงมติแทบจะเป็นเอกฉันท์ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาแทบไม่ต่างอะไรกับริกและคลิฟฟ์ ที่สนิทสนมจนเหมือนเป็น ‘ ตัวตายตัวแทน ’ อยู่เคียงข้างกันมานานนับทศวรรษเลยทีเดียว
ฮอลลีวูดในฮอลลีวูด
ถ้าเรากำลังคุยกันถึงเรื่องฮอลลีวูดเราจะไม่พูดถึง ‘ ภาพยนตร์ ’ ได้อย่างไรกัน ซึ่งในส่วนนี้เควนตินก็ไม่นิ่งนอนใจ จับภาพยนตร์จริงๆ ยัดเข้ามาชนิดที่ว่ากะเอาให้เห็นกันโต้งๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ดังต่อไปนี้
The Wrecking Crew (1968)
ภาพยนตร์สายลับ-คอเมดี้ กำกับโดย ฟิล คาร์ลสัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ในเรื่องนี้มี ชารอน เทต ตัวจริงแสดงอยู่ในเรื่องด้วยนี่แหละ ใช่ครับ The Wrecking Crew คือหนังที่ฉายในฉากที่ ชารอน เทต ( มาร์โก ร็อบบี ) เข้าไปดูการแสดงของตัวเองในโรงหนังพร้อมกับสอดส่องดูฟีดแบ็กของคนดูไปพร้อมกัน นี่จึงเหมือนเราเห็นภาพมายาซ้อนภาพมายาอีกทีหนึ่ง ( พวกเราที่กำลังดูมาร์โกในร่าง ชารอน เทต ที่กำลังดู ชารอน เทต อีกทีหนึ่ง… งง ! )
The Great Escape (1963)
ในฉากที่ ริก ดัลตัน กำลังเพ้อฝันว่าถ้าหากตัวเองไม่ใช่ตัวเลือกสำรอง แล้วได้เล่นหนังแทนที่ สตีฟ แม็กควีน จะเป็นอย่างไร และจากนั้นภาพก็ตัดมาเป็นฉากหนึ่งของ The Great Escape กำกับโดย จอห์น สเตอร์เจส และแสดงนำโดย สตีฟ แม็กควีน จริงๆ แต่ในเวอร์ชันที่เราเห็นนี้ จะเป็นหน้า ริก ดัลตัน ถูกสวมเข้าไปแทนที่อย่างหน้าตาเฉย
Lancer (1968–70)
“ นี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดที่หนูเคยเห็นเลยล่ะ ” จากคำพูดของนักแสดงเด็กในกองถ่าย ทำให้นี่เป็นฉากที่งดงามที่สุดสำหรับตัว ริก ดัลตัน ที่กำลังท้อแท้ได้ดีที่สุดสำหรับเขาจริง แต่ที่น่าสนใจกว่าคือซีรีส์ที่เขามารับบทแขกรับเชิญนั้นไม่ใช่เรื่องราวที่แต่งเติมขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะ Lancer คือซีรีส์คาวบอยเนื้อเรื่องข้นคลั่กจากช่อง CBS ในช่วง 70s โดยฉากนี้จะมีการดวลสิงห์ปืนไว ที่ได้นักแสดงฝีมือดีอย่าง ลูค เพอร์รี จากซีรีส์ Beverly Hills, 90210 ( 1990–2000 ) และ ทิโมธี โอลิแฟนต์ จาก Santa Clarita Diet ( 2017–2019 ) มารับบท
The F.B.I. (1965–74)
หลังจากพวกใช้เวลาในกองถ่าย Lancer ทั้งวัน ทั้งริกและคลิฟฟ์ ( ที่มัวแต่เปลี่ยนเสาไฟอยู่บ้าน ) ก็มานั่งดู F.B.I. ซีรีส์สายลับที่กำลังเป็นกระแส หลังจากผู้คนเริ่มเบื่อกับซีรีส์คาวบอยกันแล้ว โดยตอนที่ F.B.I. ฉายในเรื่องคือตอน All the Streets Are mum ที่ตัวร้ายในตอนนั้นแสดงโดย เบิร์ต เรย์โนลด์ส แต่เควนตินก็จัดการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ให้ ริก ดัลตัน เข้ามาแทนที่พร้อมทั้งเติมแต่งความทะเล้นเข้าไปอีกหน่อยผ่านบทพูดของคลิฟฟ์ที่ว่า “ All the streets are mum …not when Rick Dalton has a sleep together shotgun ”
Hullabaloo (1965–66)
และสุดท้ายในฉาก End Credit สุดท้าย เราจะเห็นริกออกมาร้องเพลง Green Door และเต้นไปพร้อมกับเหล่าแดนเซอร์ที่ดูเหมือนจะถูกอ้างอิงมาจากรายการทีวีช่องหนึ่ง… ซึ่งก็ถูกครับ เพราะฉากนี้ถูกถอดแบบมาจาก Hullabaloo รายการดนตรี-วาไรตี้ ช่วงหนึ่งในยุค 60s นั่นเอง
ชาร์ล แมนสัน กับเรื่องราวที่ถูกบิดเบี้ยวไป
อีกหนึ่งเส้นเรื่องสำคัญที่ช่วยเติมแต่งเรื่องราวของเควนตินให้ดูวูบวาบมากยิ่งขึ้นคือคดีฆาตกรรมดาราสาว ชารอน เทต ซึ่งหากอ้างอิงตามคดีที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เหยื่อของกลุ่มสาวกแมนสันที่ถูกต้องคือ ชารอน เทต และผองเพื่อน
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากตัว ชาร์ลส์ แมนสัน เจ้าลัทธินั้น ได้รู้จักมักจี่กับ เทอรี เมลเชอร์ ( โปรดิวเซอร์ที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันก่อน โรมัน โปลันสกี จะเข้ามา ) โดยหลังจากที่เขาได้มีเหตุอันต้องบาดหมางกับ ชาร์ลส์ แมนสัน ( จะเห็นได้จากฉากเดียวในเรื่องที่ ชาร์ลส์ แมนสัน ปรากฏตัว เขาถามถึง เทอรี แมลเชอร์ ในบ้านของ ชารอน เทต ) ด้วยความหวาดกลัวในลัทธิคลั่งของแมนสัน เขาจึงปล่อยเช่าบ้านหลังดังกล่าวให้แก่ โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนุ่มจาก Baby Rosemary ( 1976 ) และ ชารอน เทต นักแสดงและแฟนสาว แต่ด้วยความคับแค้นใจที่เทอรีตราหน้าชาร์ลส์ว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง เขาจึงสั่งให้เหล่าสาวกฆ่าทุกคนที่อยู่ในบ้านของเทอรีให้สิ้นซาก เคราะห์กรรมจึงตกแก ชารอน เทต และเพื่อนของเธอในคืนนั้น ซึ่งนำมาสู่เหตุฆาตกรรมเขย่าขวัญในฮอลลีวูด
แต่ในเรื่องนี้ เควนตินได้หยิบจับคดีดังกล่าวพลิกแพลงและเล่าใหม่ ที่ในทีแรกเหมือนจะเดินตามรอยคดีฆาตกรรม แต่ในเวลาต่อมาแรงจูงใจของเหล่าสาวกกลับถูกชักจูงใหม่ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับ ‘ ความรุนแรงในทีวี ’ น่าสนใจดีว่าแท้จริงแล้วเควนตินต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ในประเด็นนี้ ?
สุดท้าย นี่เป็นฮอลลีวูดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นที่เควนตินหยิบจับเข้าไปในเรื่อง เพราะยังมีอีกหลายตัวละคร อีกหลายสถานที่ และอีกหลายเรื่องราว ถูกหยิบยกมาอ้างไว้ในเรื่องมากมายเต็มไปหมด ซึ่งเราจะขอทิ้งร่องรอยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านทุกท่านได้ตามติดและค้นหาความพิศวงที่ ‘ ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในฮอลลีวูด ’ กันต่อไป