สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
บทที่ 3 : สงครามป้องกันประเทศกับพม่า (ราชอาณาจักรอังวะ)

First revision: Jan.17, 2015
Last change: Nov.22, 2016

ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทำสงครามกับพม่ารวมเก้าครั้ง ซึ่งทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง.
นับเป็นกฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ทำให้ไทยเป็นชาติอยู่ได้จวบจนปัจจุบัน สงครามกับพม่าทั้งเก้าครั้งมีดังนี้.

 

สงครามครั้งที่

ยุทธการ

ช่วงเวลา อื่น ๆ

1

รบพม่าที่บางกุ้ง

พ.ศ.2310

2

พม่าตีเมืองสวรรคโลก

พ.ศ.2313

3

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งแรก

พ.ศ.2313 – 2314

4

พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1

พ.ศ.2315

5

พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2

พ.ศ.2316

6

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2

พ.ศ.2317

7

รบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี

พ.ศ.2317

8

อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ

พ.ศ.2318

9

พม่าตีเมืองเชียงใหม่

พ.ศ.2318

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 1

: บางกุ้ง พ.ศ.2310

        ครั้น

พระเจ้ามังระ

1 แห่งราชอาณาจักรอังวะ ทราบข่าวมีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง (โดยเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ที่มีใจฝักใฝ่พม่า) จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ “แมงกี้มารหญ้า” เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาปราบปรามผู้ที่กำเริบตั้งตนเป็นใหญ่ให้ราบคาบ. 

        แมงกี้มารหญ้า ยกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค เป็นจำนวนไพร่พล 20,000 นาย ในฤดูแล้งปลายปี พ.ศ.2310 เมื่อทัพมาถึงบางกุ้ง ซึ่งมีค่ายทหารของ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ตั้งอยู่ ก็สั่งให้ทหารเข้าล้อมค่ายนั้นไว้ ฝ่าย

พระเจ้าตาก

จึงให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า มี

พระเจ้าตาก

เป็นทัพหลวง ซึ่งมีเจ้าหมื่น (หรือจมื่น)ไวยวรนาถ (พระยาพิชัยดาบหัก) เป็นนายทหารองครักษ์คู่พระทัยตามเสด็จไปรบด้วย โดยยกทัพทางชลมารคไปทางสมุทรสงคราม เข้าโจมตีข้าศึก แมงกี้มารหญ้าเห็นสู้ไม่ได้ก็ยกทัพถอยไปทางเมืองทวายทางด้านเจ้าขว้าว (บ้างก็เรียกด่านเจ้าเขว้า) ทำให้กองทัพไทยสามารถยึดเรือรบ เครื่องศัตราวุธ และเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก.

 

ภาพจิตรกรรมการรบที่บางแก้ว

         นอกจากนี้ เมืองราชบุรียังตกอยู่ใต้การปกครองของ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

อีกทั้งยึดได้กองทัพเรือพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่นั่นด้วย.2

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 2

: เมืองสวรรคโลก พ.ศ.2313

       

ในขณะนั้นเชียงใหม่ยังขึ้นอยู่กับพม่า

พระเจ้าอังวะ

ตั้งอภัยคามณี เลื่อนยศเป็นโปมะยุง่วน เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในพม่าเดือนยี่ (บ้างก็ว่าเดือนสาม) ปีขาล พ.ศ.2313

“โปมะยุง่วน”

ก็ได้ยกทัพมาตีไทยที่เมืองสวรรคโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาเจ้าเมืองสวรรคโลก (ซึ่งรั้งเมืองได้เพียงสามเดือน) จึงรีบแจ้งให้พระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อทรงทราบ ในขณะเดียวกันนั้นกองทัพไทยที่ตั้งทัพยันพม่าไว้ที่เมืองพิชัย พิษณุโลก และสุโขทัย ก็ได้รีบรุดยกทัพไปช่วยเมืองสวรรคโลก.

       

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ทรงทราบ จึงรีบเสด็จจัดออกทัพหลวงมุ่งมายังเมืองสวรรคโลก เพราะทรงเป็นห่วงหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งกำลังจะตั้งตัวได้ใหม่ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเมืองนครสวรรค์ก็ทราบว่า กองทัพไทยนำโดย

พระยาพิชัย (พระยาพิชัยดาบหัก – จ้อย หรือ ทองดีฟันขาว)

ได้ช่วยป้องกันเมืองสวรรคโลกไว้จนสุดความสามารถ กอปรกับเมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการที่สร้างไว้แต่โบราณ ยังมั่นคงแข็งแรงดีอยู่ ทำให้เจ้าพระยาพิชัยรักษาเมืองมั่นไว้ และทำการขับไล่พม่าแตกพ่ายไป.

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 3

: ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ.2313-2314

       

ครั้งเมื่อตะเลงยกทัพมาตีเมืองสวรรคโลกนั้น

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ก็เพิ่งเสด็จยกทัพกลับจากเมืองเหนือไม่นาน ครั้นได้ทราบตามความใบบอกว่า

โปมะยุง่วน

เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพลงมาทางใต้ ก็ทรงกังวลด้วยเมืองเหนือไม่เป็นปึกแผ่น

เจ้าตาก

จึงรวบรวมผู้คนเข้าเป็นกองทัพหลวง เสด็จยกกองทัพกลับขึ้นไปเมืองเหนืออีก ในเดือนสี่ปีขาล เมื่อเสด็จถึงนครสวรรค์ จึงทราบว่าพวกเจ้าเมืองเหนือ ได้ยกกำลังมาช่วยเมืองสวรรคโลก ตีกองทัพข้าศึกแตกกลับไปแล้ว

        

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เห็นเป็นโอกาสอันสมควร ที่จะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ได้ทรงยกทัพหลวงไปตั้งที่เมืองพิชัย แล้วเรียกกองทัพหัวเมืองเข้ามาสมทบ จากนั้นจึงยกกำลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ.2314 ด้วยกำลังพล 15,000 คน ให้

เจ้าพระยาสุรสีห์

เป็นนายทัพหน้า คุมพลพวกหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เป็นจอมทัพยกทัพหลวงตามไป เดินทัพไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน เมืองลี้

        ครั้งนั้นนั้น เจ้าเมืองรายทาง มีพระยาแพร่มังชัย เป็นต้น เข้ามาสวามิภักดิ์ ส่วนที่มิได้สวามิภักดิ์ก็ไม่ได้ต่อสู้ กองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนโดยสะดวก

โปมะยุง่วน

ไม่ได้จัดกำลังมาต่อสู้ระหว่างทาง เป็นแต่แต่งกองทัพออกมาตั้งค่ายอยู่นอกเมือง พอกองทัพหน้าของ

เจ้าพระยาสุรสีห์

ไปถึง ก็เข้าโจมตีค่ายข้าศึก แตกหนีกลับเข้าไปในเมือง

โปมะยุง่วน

ก็ให้ตั้งรักษาเมืองไว้อย่างมั่นคง

        กองทัพกรุงธนบุรีไปถึง ก็เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าตีเมืองครั้งหนึ่ง รบกันอยู่เกือบครึ่งคืน ตั้งแต่เวลาสามนาฬิกาจนรุ่งสว่าง ก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้ ต้องถอนกำลังกลับออกมา

พระเจ้ากรุงธนบุรี

ทรงดำรัสว่า เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคงนัก กษัตริย์พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่สองจึงจะได้ ดังนั้น เมื่อพระองค์ประทับล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เก้าวัน จึงดำรัสสั่งให้ถอยทัพกลับลงมา

        ฝ่าย

โปมะยุง่วน

เห็นไทยถอย จึงให้กองทัพออกติดตามตี จนทัพหลังกรุงธนบุรีระส่ำระส่าย มาจนถึงทัพหลวง 

เจ้าตาก

เห็นดังนั้น ได้รีบรุดเสด็จคุมทัพหลัง ทรงพระแสงดาบนำทหารเข้าต่อสู้ข้าศึกด้วยพระองค์เอง ทำให้ทหารพากันฮึกเหิม กลับเข้าต่อสู้ข้าศึกถึงขั้นตะลุมบอน ตะเลงเห็นว่าท่าจะทานไม่ไหว ก็ถอยหนีไป เมื่อทัพของ

เจ้าตาก

กลับมาถึงพิชัยได้เพลาหนึ่งแล้ว ก็เดินทางกลับกรุงธนบุรี.

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 4

: เมืองพิชัยครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2315

        

โปสุพลา แม่ทัพพม่ายกทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์รบกับหลวงพระบาง ขากลับแวะตีเมืองพิชัย แต่ไม่สำเร็จ ไทยชนะ.
         โดยเมื่อปีเถาะ พ.ศ.2314 ในแว่นเคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงพระบางเกิดวิวาทกับเจ้าบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ยกกำลังไปตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าบุญสารเกรงว่าจะสู้ไม่ได้ จึงขอให้

พระเจ้าอังวะ

ส่งกำลังมาช่วย ขณะนั้นทางอังวะเสร็จศึกจีนแล้ว

พระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะ

จึงส่งกำลัง 5,000 นาย โดยมีโปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกมาช่วยเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ทราบเรื่อง จึงต้องถอยกำลังมารักษาเมืองหลวงพระบาง เพราะอยู่บนเส้นทางที่กองทัพพม่าจะยกไปเวียงจันทน์ โปสุพลาเข้าตีเมืองหลวงพระบางได้แล้ว ก็ไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อคอยป้องกันไทยยกกำลังขึ้นไป เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่าน จึงแบ่งกำลังให้ชิกชิงโบ นายทัพหน้ายกเข้ามายึดได้เมืองลับแล แล้วเลยไปตีเมืองพิชัยเมื่อฤดูแล้ง ปลายปีมะโรง พ.ศ.2315

พระยาพิชัย

รักษาเมืองไว้มั่น และขอกำลังจากเมืองพิษณุโลกไปช่วย กองทัพเมืองพิษณุโลกไปถึงก็เข้าตีค่ายพม่า

พระยาพิชัย

ก็ยกกำลังออกตีกระหนาบ ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไป.

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 5

: เมืองพิชัยครั้งที่สอง พ.ศ.2316

        

พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัยครั้งที่สอง แต่พม่าตีไม่สำเร็จ พระยาพิชัยได้วีรกรรม “

พระยาพิชัยดาบหัก

“.
         เมื่อต้นปีมะเส็ง พ.ศ.2316 พวกเมืองเวียงจันทน์ เกิดวิวาทกันเอง พวกหนึ่งจึงไปขอกำลังจากโปสุพลาที่เชียงใหม่ไปช่วย โปสุพลายกกำลังไประงับเหตุเสร็จสิ้นแล้ว ได้ค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วบังคับให้เจ้าบุญสารส่งบุตรธิดา กับเสนาบดีผู้ใหญ่ไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อสิ้นฤดูฝน โปสุพลา ก็ยกกองทัพจากเมืองเวียงจันทน์ เลยถือโอกาสมาตีเมืองพิชัย เพื่อทดสอบกำลังของฝ่ายไทย หรือมิฉะนั้นก็เป็นการแก้มือที่แพ้ไทยไปครั้งก่อน.

 

         ครั้งนี้

เจ้าพระยาสุรสีห์

และ

พระยาพิชัย

คอยระมัดระวังติดตามการเคลื่อนไหวของข้าศึกอยู่ก่อนแล้ว จึงได้วางแผนการรบ โดยยกกำลังไปตั้งซุ่มสกัดข้าศึก ณ ชัยภูมิบนเส้นทางเดินทัพของข้าศึก ฝ่ายไทยก็ตีทัพโปสุพลาแตกกลับไป เมื่อวันแรมเจ็ดค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พ.ศ.2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2316) การรบครั้งนี้ เมื่อเข้ารบประชิด

พระยาพิชัย

ถือดาบสองมือ นำกำลังเข้าประจัญบานกับข้าศึกอย่างองอาจกล้าหาญ จนดาบหัก กิตติศัพท์ครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือ จึงได้ชื่อว่า

พระยาพิชัยดาบหัก

ตั้งแต่นั้นมา.  “ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณวัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน”06

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 6

:

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สอง พ.ศ.2317

        

กองทัพไทยชนะ ยึดนครเชียงใหม่กลับจากพม่าได้ เพราะชาวล้านนาออกมาสวามิภักดิ์กับไทย

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ทรงแต่งตั้งให้ พระยาจ่าบ้าน เป็น พระยาวิเชียรปราการ ปกครองนครเชียงใหม่ พระยากาวิละ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กาวิละ ปกครองนครลำปาง และพระยาลำพูน เป็น พระยาวัยวงศา ปกครองเมืองลำพูน การศึกครั้งนี้จึงได้ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ น่าน กลับมาเป็นของไทย.
        

พระเจ้ามังระ

เสร็จศึกกับจีนเมื่อปีเถาะ พ.ศ.2314 และทราบว่า

พระเจ้ากรุงธนบุรี

ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เกรงว่าไทยจะแข็งแกร่งขึ้น จึงคิดมาตีเมืองไทยให้ราบคาบอีกครั้งหนึ่ง ยุทธวิธีที่ใช้ได้ผลมาแล้ว คือ ยกกำลังลงมาจากเชียงใหม่ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กำลังทั้งสองส่วนนี้จะยกมาบรรจบกันที่กรุงธนบุรี ดังนั้น

พระเจ้ามังระ

จึงส่งกำลังเพิ่มเติมเข้าเสริมโปสุพลา แล้วให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกลงมาจากทางเชียงใหม่ ส่วนกำลังที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์นั้น

พระเจ้าอังวะ

ให้ปะกันหวุ่น ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญเป็นแม่ทัพ.

 

ด่านเจดีย์สามองค์ในปัจจุบัน (ก่อนถึงตัว อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ราว 4 กิโลเมตร)

          ปะกันหวุ่นได้เตรียมการตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ.2316 โดยให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองที่ต่อแดนไทย 3,000 คน มอบภารกิจให้แพกิจาคุมกำลัง 500 คนมาทำทางที่จะยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ วางแผนตั้งยุ้งฉางไว้ตามเส้นทาง ตั้งแต่เชิงเขาบรรทัดด้านแดนพม่า มาจนถึงตำบลสามสบ ท่านดินแดงในแดนไทย.

          ครั้งนั้นมีพระยามอญเป็นหัวหน้าสี่คน คือพระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน เป็นหัวหน้ามาทำทางอยู่ในป่าเมืองเมาะตะมะ พม่าได้ทำทารุณกรรมพวกมอญด้วยประการต่าง ๆ พวกมอญโกรธแค้นจึงคบคิดกัน จับแพกิจากับทหารพม่าฆ่าเสีย แล้วรวมกำลังยกกลับไป มีพวกมอญมาเข้าด้วยเป็นอันมาก เมื่อเห็นเป็นโอกาส จึงยกไปตีเมืองเมาะตะมะได้ แล้วขยายผลยกขึ้นไปตีเมืองสะโตง และเมืองหงสาวดี ได้ทั้งสองเมือง ขยายผลต่อไปเข้าตีเมืองย่างกุ้ง รบพุ่งติดพันกับพม่าอยู่.

             เจ้าตากทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทรงเห็นว่าพม่าจะต้องปราบปรามมอญอยู่นาน เป็นโอกาสที่ไทยจะชิงตีเมืองเชียงใหม่ ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งมีจำนวน 20,000 นาย ไปรวมพลอยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก แล้วเกณฑ์คนในกรุงธนบุรี และหัวเมืองชั้นในเป็นกองทัพหลวงจำนวน 15,000 นาย เจ้าตากเสด็จโดยกระบวนเรือ ออกจากพระนคร เมื่อวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปี มะเมีย พ.ศ.2317 ขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพชร แล้วให้ประชุมทัพที่บ้านระแหง ตรงที่ตั้งเมืองตากปัจจุบัน.

ภาพแผนที่พม่า (ที่มา: www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711120, วันที่สืบค้น 11 ตุลาคม 2559)

 

            ในขณะที่ฝ่ายไทยประชุมทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น ก็ได้ข่าวมาว่า พระเจ้าอังวะให้

อะแซหวุ่นกี้

ยกกำลังไปปราบพวกมอญที่ขึ้นไปตีเมืองย่างกุ้งเป็นผลสำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า โอกาสที่จะตีเมืองเชียงใหม่เหลือน้อยแล้ว พม่าคงติดตามมอญมาเมืองเมาะตะมะ และเมื่อพวกมอญหนีเข้ามาอาศัยในเมืองไทย เช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พม่าก็จะยกกำลังติดตามมา ถ้าตีเชียงใหม่ได้ช้าหรือไม่สำเร็จ ก็อาจถูกพม่ายกเข้ามาตีตัดด้านหลัง ทั้งทางด้านเมืองกาญจนบุรี และด้านเมืองตาก เมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับแม่ทัพนายกองแล้วเห็นว่า มีเวลาพอจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ นับว่าเป็นการเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เจ้าตากทรงพิจารณาใคร่ครวญโดยถ้วนถี่แล้ว เจ้าตากจึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กับพระยายมราช (ทองด้วง) ซึ่งเป็นพี่ชาย  ส่วนกองทัพหลวงตั้งรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตะมะอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยแก้สถานการณ์ กองทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์และพระยายมราช ยกขึ้นไปทางนครลำปาง. 

          ฝ่ายโปสุพลาจึงให้โปมะยุง่วนอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังชาวเมือง 1,000 คน เป็นกองหน้า โปสุพลายกกำลัง 9,000 คน ยกตามมาหมายจะไปตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นไทยวน (ไท-ยวน) หรือไทยล้านนา รู้ว่าไทยข้างเมืองใต้พอเป็นที่พึ่งได้ จึงได้พาพวกกองหน้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาสุรสีห์และพระยายมราช เจ้าพระยาและพระยาทั้งสองจึงให้พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วจึงให้นำทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อโปสุพลาทราบเรื่อง จึงรีบถอยกำลังไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้วางกำลังตั้งค่ายสกัดทาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงเก่าข้างเหนือเมืองลำพูนกองหนึ่ง ส่วนโปสุพลากับโปมะยุหงุ่นไปเตรียมต่อสู้ที่เมืองเชียงใหม่.

        

แจ่ง (มุม) ศรีภูมิ (กำแพงเมืองเชียงใหม่) และแผนที่เมืองเชียงใหม่
(ที่มา: commons.wikimedia.org และ www.reviewchiangmai.com, วันที่สืบค้น 12 ตุลาคม 2559)

        ขณะเมื่อ

เจ้าพระยาสุรสีห์และพระยายมราช ได้เมืองลำปางนั้น

เจ้าตาก

ทรงทราบว่ามอญเสียที แตกหนีพม่าลงมาเมืองร่างกุ้ง

อะแซหวุ่นกี้

ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญได้อพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ในขอบขัณฑสีมาเมืองไทยเป็นอันมาก พระองค์จึงดำรัสสั่งลงมาทางกรุงธนบุรี ให้พระยายมราชแขก09 คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้พระยากำแหงวิชิต คุมกำลัง 2,000 นาย ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเมืองตาก แล้วพระองค์เสด็จยกทัพหลวง ออกจากบ้านระแหง เมื่อวันศุกร์แรมห้าค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ.2317 ตามกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์และพระยายมราช ขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่.

        กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์และพระยายมราช ยกขึ้นไปจากเมืองนครลำปางถึงเมืองลำพูน พบกองทัพพม่าตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ริมน้ำพิงเก่า ก็ให้เข้าโจมตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน กองทัพหลวง

เจ้าตาก

ยกไปถึงเมืองลำพูน เมื่อวันอังคารขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ พ.ศ.2317 แล้วตั้งทัพอยู่ที่เมืองลำพูน เจ้าพระยาสุรสีห์ พระยายมราช และ เจ้าพระยาสวรรคโลก ระดมตีค่ายพม่าแตกกลับไปเมืองเชียงใหม่ แล้วก็ไล่ติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ โดยให้ตั้งค่ายล้อมเชียงใหม่จำนวน 34 ค่าย ชักปีกกาตลอดถึงกันสามด้าน คือด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตก คงเหลือแต่ด้านเหนือ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเจ้าพระยาสวรรคโลก ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เจ้าตากทรงมีรับสั่งให้ขุดคุ วางขวากและวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย แล้วให้ขุดคูทางเดินเข้าไปประชิดตัวเมือง สำหรับให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตี ก็ให้คลุกคลีติดพันตามเข้าเมืองไป.

        โปสุพลา โปมะยุง่วน เห็นฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมเมืองดังกล่าว จึงคุมกำลังออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วยกกำลังเข้าปล้นค่ายไทยหลายครั้ง แต่ถูกฝ่ายไทยตีโต้ถอยกลับเข้าเมืองไปทุกครั้ง สุดท้ายจึงได้แต่รักษาเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ ที่หลบหนีพม่าไปซุ่มอยู่ในป่าเขา เห็นฝ่ายไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก พวกที่อยู่ในเมือง ก็พากันหลบหนีเล็ดลอดออกมาเข้ากับฝ่ายไทยอยู่ไม่ขาดสาย จนได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่ ที่มาเข้ากับกองทัพไทยจำนวนกว่า 5,000 คน.

        ขณะนั้น เหตุการณ์ข้างเหนือกับข้างใต้ ได้เกิดกระชั้นกันเข้าทุกขณะ กล่าวคือมีข่าวว่า พม่ายกกำลังตามครัวมอญ เข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอนเหล็ก แขวงเมืองตากมีกำลังประมาณ 2,000 นาย

เจ้าตาก

จึงดำรัสสั่งเจ้ารามลักษณ์หลานเธอ07 แบ่งพลจากกองทัพหลวง 1,800 นาย ยกลงมาทางบ้านจอมทอง เพื่อรับมือกับข้าศึกที่ยกเข้ามาทางด้านนี้ แต่ต่อมาเมื่อทรงทราบว่ากำลังพม่ามีปฏิบัติการไม่เข้มแข็ง จึงทรงให้ยกเลิกภารกิจนี้ แล้วดำรัสให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิต12 ให้แบ่งกำลังที่เมืองตากออกไปตั้งรักษาด่านบ้านนาเกาะเหล็ก คอยรับครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป.

        

เจ้าตาก

ได้เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ขึ้นสามค่ำ เดือนยี่ ตั้งค่ายหลวงประทับที่ริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ ในวันนั้น พระยายมราช (ทองด้วง) ยกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตกได้หมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ก็ยกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ที่ออกมาตั้งรับตรงปากประตูท่าแพด้านตะวันออกได้ทั้งสามค่าย และในค่ำวันนั้นเอง โปสุพลากับโปมะยุง่วน ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่ อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ ฝ่ายไทยยกกำลังออกไล่ติดตาม และชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นจำนวนมาก

เจ้าตาก

ได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเป็นพระยานครลำปาง เจ้าเมืองลำปาง ให้พระยาลำพูนเป็นพระยาวัยวงศา ครองเมืองลำพูนตามเดิม.

        การตีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ฝ่ายไทยยึดได้พาหนะและเครื่องศัตราวุธของข้าศึกเป็นอันมาก มีปืนใหญ่น้อยรวม 2,110 กระบอก กับม้า 200 ตัว เป็นต้น ต่อมาอีกสองวันได้มีใบบอกเมืองตากว่า มีกองทัพพม่ายกตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามา

เจ้าตาก

จึงมีรับสั่งให้พระยายมราช (ทองด้วง) คุมกองทัพอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย ส่วนพระองค์ได้เสด็จยกกองทัพหลวงลงมายังเมืองตาก เมื่อวันศุกร์ แรมสี่ค่ำ เดือนยี่ ฝ่ายพระยายมราช (ทองด้วง) ก็ให้พวกข้าราชการออกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองที่หนีภัยไปหลบซ่อนตามป่าเขา ให้กลับคืนถิ่นที่อยู่ตามเดิม ครั้งนั้นเจ้าฟ้าเมืองน่านได้เข้ามาสวามิภักดิ์ เป็นขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่ กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทย นับตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ.2317 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน.  

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 7

: บางแก้ว เมืองราชบุรี พ.ศ.2317

        

เมื่อ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ทรงทราบข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง ทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตีตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความกลัวเกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้.

        

เจ้าตาก

เสด็จยกทัพหลวงกลับลงมาจากเชียงใหม่ถึงเมืองตาก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนสาม ประจวบเหมาะกับกองทัพพม่าที่ยกตามครัวมอญมาทางด่านแม่ละเมา ใกล้จะยกมาถึงเมืองตาก จึงมีรับสั่งให้หลวงมหาเทพ10 กับจมื่นไวยวรนาถ11 คุมกำลัง 2,000 นาย ยกไปตีพม่า และได้ปะทะกันในวันนั้น พอตกค่ำฝ่ายพม่าก็ถอยหนีไป จึงมีรับสั่งให้ยกกำลังสวนทางที่พม่าถอยหนีไปนั้น ให้พระยากำแหงวิชิต รีบยกกำลังออกไปก้าวสกัดตัดหลังกองทัพพม่า เพื่อตัดรอนกำลังส่วนนี้ให้หมดสภาพไป.

 

ภาพแสดงการเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนอง คราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาการเดินทัพของพม่าในหนนี้
( ที่มา : www.photoontour.com/gallery3/wat_Chetawan/wat_chetawan.htm, วันที่สืบค้น 16 ต.ค.2559 )

        เมื่อทรงทราบว่ากองทัพพระยากำแหงวิชิต ตีทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ให้ถอยหนีกลับไปโดยสิ้นเชิงแล้ว พอกรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่า มีครัวมอญเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เป็นอันมาก

เจ้าตาก

ก็ทรงประเมินสถานการณ์ได้ว่า คงมีกองทัพพม่าติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอีก ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยชลมารค ลงมาจากบ้านระแหง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นเก้าค่ำ เดือนสาม รีบมาทั้งกลางวันกลางคืน ใช้เวลารวมห้าวันก็ถึงกรุงธนบุรี เมื่อ

เจ้าตาก

เสด็จมาถึง พวกครัวมอญได้อพยพมาถึงกรุงธนบุรีก่อนหน้านั้นแล้ว พระยามอญที่เป็นหัวหน้ามีสี่คน คือ พระยาเจ่ง พระยากลางเมือง ตละเซี่ยง และตละเกล็บ

เจ้าตาก

มีรับสั่งให้ครัวมอญ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี และสำรวจได้ชายฉกรรจ์ที่เข้ามาครั้งนั้น จำนวน 3,000 คนเศษ แล้วทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่า มีเชื้อสายมอญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยามอญและพวกหัวหน้า ก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เป็นข้าราชการทุกคน.

        ทางด้านพม่า

อะแซหวุ่นกี้

ยกกองทัพตามพวกมอญมาถึงเมืองเมาะตะมะ เมื่อเดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ.2317 แล้วให้งุยอคงหวุ่น คุมกำลังพล 5,000 คน ยกกำลังตามครัวมอญมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด้วยเห็นว่า ด้วยเมื่อครั้งฉับกุงโบ เคยรบชนะไทยครั้งที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งยกมาถึงท่าดินแดงเห็นไทยตั้งค่ายอยู่ ก็เข้าตีค่ายไทย กองทัพของพระยายมราชแขก09 มีกำลังน้อยกว่า ก็แตกถอยหนีมาอยู่ที่ปากแพรก

เจ้าตาก

จึงมีรับสั่งให้รีบเกณฑ์กองทัพในกรุงธนบุรี ให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ08 กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก นำกำลังพล 3,000 นาย ออกไปรักษาเมืองราชบุรี แล้วให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ นำกำลังพล 1,000 นายยกขึ้นไปหนุน และให้มีตราขึ้นไปยังกองทัพหัวเมืองเหนือ ให้ยกลงมาด้วย แล้วมีรับสั่งให้เรือเร็ว ขึ้นไปเร่งกองทัพกรุงธนบุรีที่กำลังเดินทางกลับจากเมืองเหนือ ให้รีบเดินทางกลับมาโดยเร็ว เนื่องจากยังไม่รู้ว่า กองทัพพม่าจะยกกำลังเข้ามามากน้อยเพียงใด.

       ครั้นถึงวันจันทร์ แรมสี่ค่ำ เดือนสาม 

เจ้าตาก

ทรงทราบว่า กองทัพกรุงธนบุรี จะลงมาถึงในวันนี้ จึงเสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักแพ แล้วให้ตำรวจลงเรือเร็วขึ้นไปคอยสั่งกองทัพ ให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้ใดแวะบ้านเป็นอันขาด เรือในกองทัพเมื่อมาถึง ได้ทราบกระแสรับสั่ง ก็เลยมาหน้าตำหนักแพ ถวายบังคมลา แล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปทุกลำ มีพระเทพโยธาคนเดียวที่แวะเข้าที่บ้าน เมื่อ

เจ้าตาก

ทรงทราบก็ทรงพิโรธ และได้ทรงประหารชีวิตพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์13 พวกกองทัพทั้งปวงก็เกรงพระราชอาญา พากันรีบยกกำลังออกไปเมืองราชบุรีตามรับสั่ง. 

 

 
ที่มา : ภาพแรกจาก pakprak.blogspot.com/2013/03/blog-post.html, วันที่สืบค้น 17 ต.ค.2559
ภาพที่สองจาก www.iseehistory.com/index.php ? lay=show & ac=article & Id=538711120, วันที่สืบค้น 17 ต.ค.2559
แม้ว่าเป็นการเดินทัพที่ต่างยุทธการกัน แต่ก็เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษายุทธวิธีการศึกครั้งนี้

        การที่พม่ายกกำลังเข้ามาครั้งนี้

อะแซหวุ่นกี้

ประสงค์จะให้ตามมานำครัวมอญกลับไป แต่งุยอคงหวุ่นถือตัวว่าเคยชนะไทยมาก่อน ดังนั้น เมื่อตีกองทัพพระยายมราชแขก แตก ถอยลงมาทางท่าดินแดงแล้ว ก็ยกกำลังเข้ามาถึงปากแพรก พระยายมราชแขก ก็ถอยร่นมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว งุยอคงหวุ่นได้แบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน ให้มองจายิด คุมกำลัง 2,000 นาย ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก เที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี สำหรับงูยอคงหวุ่นเองนั้น มีกำลัง 3,000 นาย ยกทัพลงมาทางฝั่งตะวันตก เพื่อปฏิบัติการในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี ครั้นยกกำลังมาถึงบางแก้ว ก็ทราบว่ามีกำลังของฝ่ายไทย จึงยกทัพออกไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ให้ทหารตั้งค่ายมั่นลงที่บางแก้วสามค่าย ชัยภูมิที่ตั้งค่ายนี้เป็นที่ดอน อยู่ชายป่าด้านตะวันตก ไม่ได้ลงมาตั้งทางริมแม่น้ำ เช่นที่บ้านลุกแก หรือตอกละออม เช่นที่พม่าเคยมาตั้งครั้งตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ และยังป้องกันตัวจากฝ่ายไทยได้ดีกว่า นอกจากนั้น ก็ยังสามารถตั้งอยู่ได้จนถึงฤดูฝน.

 

        ฝ่ายไทย พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี เมื่อทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้ว ด้วยกำลังพล 3,000 คน จึงยกกำลังไปตั้งที่ตำบลโคกกระต่าย ในทุ่งธรรมเสน ห่างจากค่ายพม่าประมาณ 80 เส้น แล้วให้หลวงมหาเทพ คุมกองหน้า ไปตั้งค่ายโอบพม่าทางด้านตะวันตก และให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ (บุญมี) นำกำลังยกไปตั้งค่าย โอบทางด้านตะวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี.

        ครั้นถึงวันอังคาร แรมหกค่ำ เดือนสาม เมืองนครชัยศรีบอกมาว่า มีพวกพม่ามาปฏิบัติการถึงแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี

เจ้าตาก

จึงมีรับสั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ ผู้ว่าที่โกษาธิบดียกกำลัง 1,000 นาย ไปรักษาเมืองนครชัยศรี จากนั้นให้เตรียมทัพหลวงมีกำลังพล 9,000 นาย เมื่อ

เจ้าตาก

ทรงทราบว่า พม่ายกกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่แขวงเมืองราชบุรี จึงเสด็จยกกำลังออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือนสาม ปีมะเมีย พ.ศ.2317 เมื่อเสด็จถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่า พม่ากระทำการดูหมิ่นไทย ก็ทรงขัดเคือง เมื่อได้ข่าวว่ามีกำลังพม่าเพิ่มเติมที่ปากแพรกอีก 1,000 นาย จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชชัย กับ พระยาวิเศษชัยชาญ ยกกำลัง 2,000 นาย ขึ้นไปช่วยพระยายมราชแขกที่หนองขาว จากนั้น

เจ้าตาก

จึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองราชบุรี ไปตามทางฟากตะวันตก ไปตั้งค่ายหลวงที่ตำบลเขาพระ เหนือค่ายโคกกระต่ายขึ้นไปประมาณ 40 เส้น ครั้นทราบว่ามีกำลังพม่ายกเข้ามาทางด่านประตูสามบาน ด่านประตูเจ้าขว้างอีกทางหนึ่ง จึงเกรงว่าข้าศึกจะตีตัดทางลำเลียงด้านหลัง จึงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ กับพระยาราชาเศรษฐี ยกกำลังลงมารักษาเมืองราชบุรี

 

        ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสี่ 

เจ้าตาก

เสด็จไปทอดพระเนตรค่ายทหารไทย ที่ตั้งโอบทหารพม่าที่บางแก้ว เมื่อทรงพิจารณาภูมิประเทศแล้ว จึงมีรับสั่งให้ไปตั้งค่ายล้อมพม่าเพิ่มเติมอีกจนรอบ แล้วให้เจ้าพระยาอินทรอภัย14 ไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาช่องพราน อันเป็นที่ข้าศึกอาศัยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ และเป็นเส้นทางเดินลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึกแห่งหนึ่ง ให้พระยารามัญวงศ์ คุมกองมอญที่เข้ามาใหม่ ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้ม ซึ่งอยู่ในเส้นทางลำเลียงของข้าศึก ด้านเหนือขึ้นไป ระยะทางประมาณ 100 เส้น.

        ฝ่ายงุยอคงหวุ่น เห็นการปฏิบัติการของฝ่ายไทยเข้มแข็งรัดกุม จะนิ่งเฉยอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงยกกำลังมาปล้นค่าย เจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาช่องพรานถึงสามครั้ง แต่ก็แตกกลับไปทุกครั้งในคืนเดียวกัน เห็นจะเป็นอันตราย จึงให้คน(พล)เร็วเล็ดลอดไปบอกกองทัพที่ปากแพรก ให้ยกมาช่วย

เจ้าตาก

ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าล้อมค่ายบางแก้วไว้ ให้พม่าสิ้นเสบียงอาหาร ก็จะยอมแพ้ออกมาให้จับเป็นเชลยทั้งหมด จึงมีรับสั่งมิให้เข้าตีค่ายพม่า แต่ให้ล้อมไว้ให้มั่น แล้วให้พระยาเทพอรชุน กับ พระดำเกิงรณภพ คุมกองอาจารย์ และทนายเลือก รวม 745 นาย เป็นกองโจร ไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย ตีตัดกำลังข้าศึกที่เขาช่องพรานอีกกองหนึ่ง.

        ส่วนด้านพม่านั้น

อะแซหวุ่นกี้

คอยอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ เห็นกองทัพงุยอคงหวุ่นหายไปนาน จึงให้ตะแคงมรหน่อง ยกกำลัง 3,000 คน ตามเข้ามา เมื่อมาถึงปากแพรก ได้ทราบว่างุยอคงหวุ่นถูกฝ่ายไทยล้อมไว้ที่บางแก้ว จึงมอบให้มองจายิดยกกำลัง 2,000 นาย ลงมาช่วยงุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว ส่วนตนเองยกกำลังลงมาตีค่าย พระยายมราชแขกที่หนองขาว ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายไทยได้ จึงถอยกำลังไปตั้งอยู่ที่ปากแพรก.

        ฝ่ายมองจายิดเมื่อมาถึงเขาชะงุ้ม เห็นกองมอญมีกำลังน้อยกว่า ก็เข้าล้อมไว้ พอตกค่ำงุยอคงหวุ่นทราบว่า มีกำลังฝ่ายตนยกมาช่วย ก็ยกกำลังออกปล้นค่ายหลวงมหาเทพ หมายจะตีหักออกไป แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องถอยกลับเข้าค่าย พระยาธิเบศร์บดี15 ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ ก็ยกไปช่วยแก้กองมอญ ออกมาจากที่ล้อมได้ แต่กำลังไม่พอจะต่อสู้พม่าได้ ก็พากันล่าถอยลงมา มองจายิดจึงเข้าไปรวมกำลังกับฝ่ายตน ที่ค่ายเขาชะงุ้มได้ ในวันนั้น พระยานครสวรรค์16ยกกำลังไปถึงเมืองราชบุรี จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในค่ำวันนั้น แล้วให้กำลังทั้งสามกอง ไปตั้งค่ายล้อมพม่าทางด้านเหนือ ป้องกันพม่าทั้งสองพวกมิให้เข้าถึงกันได้.

        ในเดือนสี่ พระยายมราช (ทองด้วง) ยกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ และได้ตามออกไป พร้อมทั้งพาทูตเมืองน่านมาถวายต้นไม้ทองต้นไม้เงิน เครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งมาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาออกไปเฝ้าด้วย

เจ้าตาก

สรรเสริญความชอบพระยายมราช (ทองด้วง) พระราชทานบำเหน็จ แล้วมีรับสั่งให้พระยายมราช (ทองด้วง) ถืออาญาสิทธิ์ไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว พระยายมราช (ทองด้วง) จึงยกกำลังไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่เหนือพระมหาธาตุเขาพระ อยู่เหนือค่ายหลวงขึ้นไป ส่วน

เจ้าตาก

เสด็จถอยมาประทับอยู่ที่ค่ายโคกกระต่าย ด้วยเหมาะที่จะให้การสนับสนุนได้ทุกด้าน แล้วมีรับสั่งให้หลวงบำเรอภักดิ์17คุมกองกำลังทหารกองนอก 400 นาย เป็นกองโจรไปคอยตีสะกัด ไม่ให้พม่าที่เขาชะงุ้ม ออกลาดตระเวณหาอาหารและน้ำใช้ได้สะดวก.

        ในคืนวันข้างขึ้น เดือนสี่ พม่าในค่ายบางกุ้ง ยกกำลังออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา18 แล้วปล้นค่ายหลวงราชนิกุล19 อีก แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นเคย พม่าขัดสนเสบียงอาหาร ต้องกินเนื้อสัตว์พาหนะ แต่น้ำในบ่อยังมีอยู่ พม่าต้องอาวุธปืนใหญ่น้อยของไทย เจ็บป่วยล้มตาย จนต้องขุดหลุมลงอาศัยกันโดยมาก ครั้นถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 ค่ำ เดือนสี่ เวลาบ่าย

เจ้าตาก

เสด็จทรงมาไปที่ค่ายหลวงมหาเทพ ซึ่งตั้งล้อมพม่าอยู่ทางด้านตะวันตก มีรับสั่งให้จักกายเทวะมอญเข้าไปร้องบอกแก่พม่าในค่าย ให้ออกมายอมอ่อนน้อมแต่โดยดี งุยอคงหวุ่นจึงขอเจรจากับตละเกล็บหัวหน้ามอญที่มาอยู่กับฝ่ายไทย และได้เป็น(ว่า)ที่พระยาราม แต่ยังไม่เป็นผล.

        เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) กับพวกผู้ว่าราชการหัวเมืองเหนือ คุมกองทัพหัวเมืองลงไปถึง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวง ไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มกันไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้วได้ ทั้งนี้เพื่อคิดจะจับพวกพม่าที่ค่ายบางแก้ว ให้ได้เสียก่อนภารกิจอื่น แม้จะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของข้าศึก ณ ที่แห่งอื่น ๆ เช่น เมืองคลองวาฬ หรือเมืองกุย (อำเภอกุยบุรี) บอกเข้ามาว่า พวกพม่าที่ยกเข้ามาจากเมืองมะริด ตีบ้านทับสะแกได้แล้ว ลงไปตีเมืองกำเนิดนพคุณ ผู้รั้งกรมการเมืองนำกำลังราษฎรเข้าต่อสู้ ข้าศึกได้เผาเมืองกำเนิดนพคุณ แล้วยกเลยไปทางเมืองปะทิว ซึ่งขึ้นแก่เมืองชุมพร ในการนี้

เจ้าตาก

ได้มีรับสั่งให้มีตราตอบไปว่า ให้ทำลายหนองน้ำและบ่อน้ำ ตามเส้นทางที่จะขึ้นมาเมืองเพชรบุรีให้หมด แห่งใดทำลายไม่ได้ ก็ให้เอาของโสโครกและของที่มีพิษ ใส่ในแหล่งน้ำดังกล่าว อย่าให้ข้าศึกอาศัยใช้ได้.

        ต่อมา เมื่อทราบเรื่องจากเชลยที่จับมาได้ว่า พม่าที่เขาชะงุ้มพยายามเล็ดลอด ขนเสบียงมาให้พม่าในค่ายบางแก้ว และได้บอกไปยังตะแคงมรหน่อง ขอกำลังมาเพิ่มเติมให้ทางค่ายเขาชะงุ้ม เพื่อจะได้ตีหักมาช่วยที่ค่ายบางแก้ว จึงมีรับสั่งให้เพิ่มเติมกองโจรให้มากขึ้น แล้วให้หลวงภักดีสงคราม นายกองนอกซึ่งอยู่ในกองเจ้าพระยาอินทรอภัย คุมกำลังกองนอก ลอบขึ้นไปทำลายหนองและบ่อน้ำ ในเส้นทางที่จะมาจากปากแพรกเสีย อย่าให้ข้าศึกเพิ่มกำลังเข้ามาได้.

       ต่อมาพม่าในค่ายเขาชะงุ่ม ก็ทำค่ายวิหลั่น บังตัวออกมาปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา) ในเวลาเที่ยงคืน แต่ถูกฝ่ายไทยตีแตกกลับไป จากนั้นก็ไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์ แต่ไม่เป็นผล ต้องถอยกลับเข้าค่ายไป ต่อมาในวันอังคาร แรมห้าค่ำ เดือนสี่ ก็ยกกำลังออกมาปล้นค่ายพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ ตั้งแต่เวลาสามนาฬิกาจนรุ่งสว่าง

เจ้าตาก

รีบเสด็จขึ้นไป มีรับสั่งให้กองอาจารย์และทนายเลือก เข้าช่วยรบ จนถึงเวลาแปดนาฬิกา พม่าจึงถอยหนีกลับเข้าค่ายไป

       งุยอคงหวุ่น เห็นสภาพการณ์เช่นนี้ จึงขอเจรจากับฝ่ายไทยอีก โดยให้นายทัพคนหนึ่งออกมาหาพระยาราม พระยารามจึงนำไปที่เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ และพระยายมราช (ทองด้วง) วิงวอนขอให้ปล่อยทัพพม่ากลับไป แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ฝ่ายพม่าจึงขอกลับไปปรึกษากันก่อน ต่อมาในวันศุกร์แรมแปดค่ำ เดือนสี่ งุยอคงหวุ่นให้พม่าที่เป็นนายทหารเจ็ดคน ออกมาเจรจาอีกว่า พวกพม่าจะยอมอ่อนน้อม ถวายช้างม้าพาหนะ และเครื่องศัตราวุธทั้งหมด ขอเพียงให้ปล่อยตัวกลับไป ทางฝ่ายไทยตอบว่า ถ้าออกมาอ่อนน้อมจะยอมไว้ชีวิต แต่จะปล่อยกลับไม่ได้.

       ในวันเดียวกันนั้นอุตมสิงหจอจัว ปลัดทัพของยุงอคงหวุ่น ได้พานายหมวดนายกองพม่ารวมสิบสี่คน นำเครื่องศัตราวุธของตนออกมาส่งให้ไทย จึงได้นำไปเฝ้า

เจ้าตาก

 อุตมสิงหจอจัวกราบทูลว่า จะขอถือน้ำ (พิพัฒน์สัตยา) ทำราชการกับไทยต่อไปจนชีวิตจะหาไม่ จึงมีรับสั่งให้อุตมสิงหจอจัว ออกไปพูดเกลี้ยกล่อมให้พวกพม่าออกมาอ่อนน้อม พวกพม่าในค่ายก็ขอปรึกษากันก่อน.

       ครั้นถึงวันเสาร์แรมเก้าค่ำ เดือนสี่

เจ้าตาก

มีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา20 ซึ่งยกกำลังเดินทางมาถึง ให้ไปตั้งค่ายประชิดพม่าที่เขาชะงุ้ม และมีการเจรจาอีกครั้งระหว่างยุงอคงหวุ่น กับอุตมสิงหจอจัว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จากการประมาณสถานการณ์ก็แลเห็นว่า พม่าจะยังไม่ยกเข้ามาในปีนี้ ด้วยจวนจะเข้าฤดูฝน ยังไม่จำเป็นต้องเกณฑ์กองทัพหัวเมือง จึงเป็นแต่ให้มีตราเกณฑ์ข้าวสาร เมืองนครศรีธรรมราช 600 เกวียน เมืองไชยา เมืองพัทลุง และเมืองจันทบุรี เป็นข้าวสารเมืองละ 400 เกวียน ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม ถ้าหาข้าวได้ไม่ครบตามจำนวนเกณฑ์ ก็ให้ส่งเป็นเงินแทน โดยคิดราคาข้าวสารเกวียนละ 40 บาท ข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท.

       ท้ายที่สุดเมื่อวันแรม 15 ค่ำ เดือนสี่ งุยอคงหวุ่น และพวกนายทัพนายกองพม่าในค่ายบางแก้ว ก็ออกมายอมอ่อนน้อมทั้งหมด หลังจากที่ฝ่ายไทยล้อมค่ายพม่าได้ 47 วัน ไทยก็ได้ค่ายพม่าทั้งสามค่าย ได้เชลยรวม 1,328 นาย ที่ตายไปเสียเมื่อถูกล้อมอีกกว่า 1,600 นาย. เมื่อได้ค่ายพม่าที่บางแก้วแล้ว รุ่งขึ้นเมื่อวันเสาร์ ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ปีมะแม พ.ศ.2318

เจ้าตาก

ก็มีรับสั่งให้ พระยาอนุชิตราชา21 ยกกำลังพล 1,000 คนขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันตก ให้หลวง ให้หลวงมหาเทพ ยกกำลังพล 1,000 นาย ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันออก เพื่อไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรก พร้อมกับกองทัพของพระยายมราชแขก แล้วมีรับสั่งให้ พระยายมราช (ทองด้วง) ขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ่ม ในค่ำวันนั้นเวลาเที่ยงคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้ม ยกค่ายวิหลั่นออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม22 หมายจะเข้ามาช่วยพวกของตนที่ค่ายบางแก้ว พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงคราม พระยายมราช (ทองด้วง) ไปช่วยทัน ชิงเอาค่ายกลับคืนมาได้ พม่ายายไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์ แต่ถูกฝ่ายไทยต่อสู้ จนต้องล่าถอยกลับเข้าค่าย.

 

       ต่อมาเมื่อวันอังคารขึ้นสี่ค่ำ เดือนห้า เวลากลางคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้มก็ทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายและจับเป็นเชลยได้เป็นอันมาก เมื่อหนีไปถึงปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีแก่กองทัพไทยหมดแล้ว ก็รีบยกกำลังหนีกลับไปเมืองเมาะตะมะ

เจ้าตาก

ก็มีรับสั่งให้กองทัพไทยยกติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต แล้วก็ให้กองทัพกลับคืนพระนคร พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อย ตามสมควรแก่ความชอบ ที่มีชัยชนะพม่าครั้งนี้โดยทั่วกัน.

      การรับครั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า

เจ้าตาก

ตั้งพระทัยที่จะจับพม่าให้ได้ทั้งกองทัพที่มาตั้งที่บางแก้ว ด้วยเหตุที่พม่าประกาศหมิ่นไทยประการหนึ่ง และทรงประสงค์จะปลุกใจคนไทย ให้กลับกล้าหาญดังแต่ก่อน หายครั้นคร้ามพม่า จึงทรงทนลำบาก ใช้เวลาล้อมพม่าอยู่นาน โดยไม่รบแตกหัก ซึ่งถ้าจะทำก็ทำได้โดยใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่ผลที่ได้จะต่างกัน การจับพม่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ให้ผลทางด้านจิตวิทยามากกว่า.

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 8

: อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.2318

        

เป็นสงครามที่ใหญ่มาก

อะแซหวุ่นกี้

เป็นแม่ทัพเฒ่าของพม่าที่เชี่ยวชาญศึก มีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางฝ่ายไทยนั้นมี เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (บุญมา) และ พระยาจักรี (ทองด้วง) ในการศึกครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 นาย เข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อีก 5,000 นาย ล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 นายเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ทรงยกทัพไปช่วย และในที่สุด

อะแซหวุ่นกี้

ต้องรีบรุดยกทัพกลับ3 เนื่องจาก

อะแซหวุ่นกี้

ทราบข่าวว่า

พระเจ้ามังระ (พระเจ้าเซงพะยูเชง)

เสด็จสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกกองทัพทหารจับ และริบยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก.

        ในปีมะเมีย พ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระเสด็จมายกฉัตรยอดพระเกศธาตุ ที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อกลางเดือนสี่ ขณะนั้น

อะแซหวุ่นกี้

ปราบปรามพวกมอญเสร็จสิ้น เป็นแต่ยังรอกองทัพพม่าที่เข้ามาตามครัวมอญอยู่เมืองเมาะตะมะ จึงได้ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระที่เมืองร่างกุ้ง พระเจ้ามังระเห็นว่ามีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะแล้ว จึงมอบการที่จะตีเมืองไทย ให้อะแซหวุ่นกี้คิดอ่านดำเนินการต่อไป.

       พอกองทัพตะแคงมรหน่องหนีไทยกลับไปถึงพม่า

อะแซหวุ่นกี้

เห็นว่าไทยทำศึกเข้มแข็งกว่าเก่า เห็นว่าแนวทางที่ใช้ครั้งก่อนไม่ได้ผล จึงคิดจะใช้แบบอย่างครั้ง

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

คือยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือ ตัดกำลังไทยเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วเอาเมืองเหนือเป็นที่มั่น ยกกำลังทั้งทางบก และทางเรือ ลงมาตีกรุงธนบุรีทางลำแม่น้ำเจ้าพระยา จึงพักบำรุงรี้พลอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ แล้วมีคำสั่งไปยังโปสุพลา โปมะยุง่วน ซึ่งถอยหนีไทยไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกกลับมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ ตั้งแต่ในฤดูฝน แล้วให้เตรียมเรือรบ เรือลำเลียง และรวบรวมเสบียงอาหาร ลงมาส่ง

กองทัพอะแซหวุ่นกี้

ซึ่งจะยกเข้ามาในต้นฤดูแล้ง

โปสุพลา

โปมะยุง่วน จึงรวบรวมกำลัง ยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือน 10 ปีมะแม พ.ศ.2318.

      

เจ้าตาก

จึงดำรัสให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) หรือ เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช ให้ยกกองทัพเมืองเหนือ ขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ ให้พระยาจักรี (ทองด้วง) คุมกองทัพกรุงธนบุรีหนุนขึ้นไป มอบภารกิจให้ตีพม่าถอยจากเชียงใหม่แล้ว ให้เลยตามขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน ไม่ให้พม่ามาอาศัยอีกต่อไป.

       โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึง ครั้นพม่าได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป ก็ถอยหนีกลับไปตั้งอยู่ที่เชียงแสน แต่พงศาวดารพม่ากล่าวว่าโปสุพลา ถอยกลับไปเมืองพม่าทางเมืองนาย หวังจะเข้ามาสมทบกับ

อะแซหวุ่นกี้

แต่มาไม่ทัน

ทัพอะแซหวุ่นกี้

ครั้นถึงเดือน 11 ปีมะแม

อะแซหวุ่นกี้

ก็ให้กะละโบ่ กับ มังแยยางู ผู้เป็นน้องชาย คุมกำลัง 20,000 นาย เป็นทัพหน้า ยกออกจากเมืองเมาะตะมะ

อะแซหวุ่นกี้

คุมกำลัง 15,000 นาย เป็นกองทัพหลวง ตามมากับตะแคงมรหน่อง และเจ้าเมืองตองอู เข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้ามาเมืองตาก มาถึงบ้านด่านลานหอย ตรงมาเมืองสุโขทัย ให้กองทัพหน้าตั้งอยู่ที่บ้านกงธานี ริมน้ำยมใหม่ ส่วน

อะแซหวุ่นกี้

ตั้งพักอยู่ที่เมืองสุโขทัย

       ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์และพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่ละเมา ก็รีบยกทัพกลับมาทางเมืองสวรรคโลก เมืองพิชัย ครั้นมาถึงเมืองพิษณุโลก จึงปรึกษากันถึงการสู้ศึก พระยาจักรีเห็นว่าพม่ายกมาเป็นกองทัพใหญ่ กำลังฝ่ายไทยทางเมืองเหนือ มีน้อยกว่าทางพม่าอยู่มาก จึงควรตั้งรับศึกในเมืองพิษณุโลก คอยกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปช่วย ด้วยเมืองพิษณุโลกอยู่ทางลำแม่น้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) ใช้เรือขึ้นล่องกับหัวเมืองข้างใต้ได้สะดวก แต่เจ้าพระยาสุรสีห์อยากจะยกไปตีพม่าก่อน จึงรวบรวมกองทัพหัวเมืองให้พระยาสุโขทัย พระยาอักขรวงศ์เมืองสวรรคโลก และพระยาพิชัยเป็นกองหน้า ยกไปรบพม่าที่บ้านกงธานี เจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามไปตั้งอยู่ที่บ้านไกรป่าแฝก พม่ายกมาตีกองทัพพระยาสุโขทัยแตกถอยมา แล้วยกติดตามมาถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ สู้รบอยู่สามวัน เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่ามากนัก เกรงว่าจะโอบล้อมกองทัพไว้ จึงถอยกลับมาเมืองพิษณุโลก 

สงครามกับราชอาณาจักรอังวะ ครั้งที่ 9

: พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2319

        

พระเจ้าจิงกูจา

4

แห่งราชวงศ์อลองพญา โปรดให้เกณฑ์ทัพพม่ารามัญรวม 6,000 คน ยกมาตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่า นครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนยกครัวอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่.

ที่มาและคำอธิบาย:

01.

พระเจ้ามังระ

หรือ

พระเจ้าเซงพะยูเชง

หรือ สินพยุฉิ่น – Hsinbyashin, แห่งราชวงศ์อลองพญา หรือ ราชวงศ์คองบอง – Alaungpaya Dynasty or Konbaung Dynasty – ซึ่ง “อลองพญา” หรือ “คองบอง” แปลว่า “โพธิสัตว์” ครองราชย์ช่วง พ.ศ.2306-2319.
02. จาก. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล,
03.

อะแซหวุ่นกี้

ต้องยกทัพกลับกรุงอังวะ (Ava) กระทันหัน ทั้งนี้เชื่อว่าในระหว่างนั้นกรุงอังวะเกิดความวุ่นวาย เพราะอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน หลังการสวรรคตของ

พระเจ้ามังระ

มีบรรดาขุนนางและเสนาอำมาตย์แตกออกเป็นพวก ๆ สนับสนุนเชื้อพระวงศ์ที่ฝ่ายตนสนับสนุน และ

อะแซหวุ่นกี้

ก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้สนับสนุน

มังหม่อง

(บ้างก็เรียก หม่องหม่อง-พระเจ้าพองกาซาหม่องหม่อง – ครองราชย์ได้ 7 วัน) ให้รัฐประหารอำนาจของ

พระเจ้าจิงกูจา

ที่ได้ครองราชสมบัติต่อจาก

พระเจ้ามังระ

พระราชบิดา และเมื่อ

พระเจ้าปดุง

หรือเป็นพระนามที่พม่าเรียกขานภายหลังว่า “

โบดอพญา

” (เสด็จปู่) ปราบดาภิเษกพระเจ้าจิงกูจาและปราบผู้สนับสนุนมังหม่องสำเร็จ

พระเจ้าปดุง

จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมา

อะแซหวุ่นกี้

ก็ถูกลดตำแหน่งลง.
04.

พระเจ้าจิงกูจา

หรือ พระเจ้าเซงกู (Singu Min – เซงกูเมง) เป็นพระราชโอรส

พระเจ้ามังระ

ครองราชย์ช่วง พ.ศ.2319-2324.
05. จาก. www.welovethailand.com/Phrachaotaksin.php, วันที่สืบค้น 16 กันยายน 2559.
06. จาก. www.oknation.net/mblog/entry.php?id=985321, วันที่สืบค้น 07 ตุลาคม 2559.
07. เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ (บุญมี) ต่อมาได้รับความดีความชอบในการสงครามจึงได้ทรงกรม เป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม 
08. พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ หมายถึง กรมพระราชวังหน้า สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (จุ้ย) (HRH Front Palace Krom Khun Intarapitak) พระราชโอรสที่ 1 ในสมเด็จพระราชินี (หอกลาง) หรือเดิมคือ กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ดำรงตำแหน่งรัชทายาท.
09. พระยายมราชแขก หรือ พระยายมราช (หมัด) บุตรของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) แม่ทัพในสมัยกรุงธนบุรี ในครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้ร่วมไปกับทัพเรือของบิดาที่เข้าตีเมือง

พุทไธมาศ

เมื่อ พ.ศ.2314 และราชการสงครามอื่น ๆ อีกมาก., ที่มา th.wikipeida.org/wiki/พระยายมราช_(หมัด), วันที่สืบค้น 16 ต.ค.2559.
10. หลวงมหาเทพ (มีข้อมูลไม่มากนัก จะสืบค้นต่อไปในเบื้องหน้า)
11. จมื่นไวยวรนาถ (เป็นใครนั้น ยังสืบค้นไม่พบ และจะค้นคว้าเพิ่มเติมในเบื้องหน้า) เป็นตำแหน่ง หัวหมื่นมหาดเล็ก มี 4 บรรดาศักดิ์ จมื่นสรรเพชญภักดี จมื่นเสมอใจราช และจมื่นไวยวรนารถ
12. พระยากำแหงวิชิต (เป็นใครนั้น ยังสืบค้นไม่พบ และจะค้นคว้าเพิ่มเติมในเบื้องหน้า)
13. จาก. 3.king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/chapter11/page11.html, วันที่สืบค้น 18 ต.ค.2559. “พระองค์จึงทรงพิโรธตรัสให้เอาตัวมาในทันใดนั้น แล้วเอาพระเทพโยธามัดไว้กับเสาพระตำหนักแพ ถอดพระแสงดาบออกฟันศีรษะพระเทพโยธาขาดตกลง ให้นำไปเสียบประจานไว้ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ และศพนั้นให้ทิ้งน้ำเสีย อย่าให้ใครดูเยี่ยงสืบไป”
14. เจ้าพระยาอินทรอภัย 
15. 

พระยาธิเบศร์บดี
16. พระยานครสวรรค์

17.

หลวงบำเรอภักดิ์

 
18. 

Read more: David Prowse

พระยาพิพัฒน์โกษา
19. หลวงราชนิกุล 
20. พระยานครราชสีมา 
21. พระยาอนุชิตราชา 
22. พระมหาสงคราม